ราชพัสตราภรณ์...งานศิลป์อันงดงามล้ำค่า

 

 

 

ราชพัสตราภรณ์...งานศิลป์อันงดงามล้ำค่า

 

พระสาทิสลักษณ์ฝีมือ ครูจักรพันธุ์ โปษยกฤต
จากกระทู้ "พระราชินีที่สวยที่สุดในโลก"

อัพบล็อกเสพงานศิลป์อันล่าสุด มีข่าวฉลองครบรอบปีของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ว่าจะอัพบล็อกชวนเพื่อน ๆ ไปร่วมกิจกรรมที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดขึ้น แต่อ่านข้อมูลไม่ถึ่ถ้วน กิจกรรมหมดเขตไปตั้งแต่สองวันก่อน (๒๖ พ.ค.) แต่ไม่เป็นไร ชวนเพื่อน ๆ ไปชมฉลองพระองค์งาม ๆ ของสมเด็จฯ แทน พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เปิดมาครบ ๑ ปีในเดือนนี้ จัดกิจกรรม “แต่งไทยพระราชนิยม เดินชมไม่เสียอัฐ” ถ้าใครแต่งชุดไทยไปจะได้เข้าชมฟรี ก่อนไปชมเคยอัพบล็อกพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ไปทีนึงแล้ว หนนี้ไปชมแล้วชอบมากกกกกก 


พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เปิดให้ประชาชนผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวัน ระหว่างเวลา o๙.oo - ๑๖.๓o น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา ๑๕.๓o น. อัตราค่าเข้าชมผู้ใหญ่ ๑๕o บาท ผู้สูงอายุ (อายุ ๖๕ ปีขึ้นไป) ๘o บาท นักเรียน นักศึกษา ๕o บาท เด็กอายุ ๑๒ - ๑๘ ปี ๕o บาท เด็กอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี เข้าชมฟรี และสำหรับผู้ซื้อบัตรเข้าชมพระบรมมหาราชวัง สามารถใช้บัตรดังกล่าวเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย กรุณาแต่งกายสุภาพ (ห้ามสวมกางเกงขาสั้น) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. o๒-๒๒๕-๙๔๒o, o-๒๒๒๕-๙๔๓o, หรือที่เวบไซต์ queensirikitmuseumoftextiles.org





หลายคนคงไม่ทราบว่า "ชุดไทย" ที่สวมใส่กันในวันนี้ หรือ ที่เรียกขานกันว่าชุดไทยพระราชนิยมนี้มีที่มาจากฉลองพระองค์ หลังจากที่ได้เข้าชมนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ผ้าใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเปิดหนังสือ ราชศิลป์พัสตราภรณ์ พิพิธภัณฑ์ผ้าใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หนังสือเล่มหนาที่รวบรวมภาพถ่ายฉลองพระองค์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมประวัติที่มาของชุดประจำชาติสตรีไทย 

เกิดความรู้สึกท่วมท้นจนอยากบอกทุกคนว่า "ชุดไทยเราสวยที่สุดในโลก" หลายคนคงไม่ทราบ หรือเคยทราบแต่ลืมเลือนไปแล้วว่า "ชุดไทย" ที่สวมใส่กันในวันนี้ หรือ ที่เรียกขานกันว่าชุดไทยพระราชนิยมนี้มีที่มาจากฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ






ปิยนันท์ เพชระบูรณิน เจ้าหน้าที่บรรณาธิการ หนังสือ ราชศิลป์พัสตราภรณ์ พิพิธภัณฑ์ผ้าใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่ามีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับนิทรรศการที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ผ้าใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเน้นที่ภาพถ่ายฉลองพระองค์  


" เนื้อหามีด้วยกัน ๓ บท ว่าด้วยเรื่องที่มาของชุดประจำชาติสตรีไทยที่เราเห็นทุกวันนี้ หลายคนอาจลืมไปหรือไม่เคยรู้เลยว่ามาจากไหน ความจริงแล้วมีที่มาจากฉลองพระองค์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในชั้นต้นที่ทรงดำริในการทรงชุดไทยเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่เสด็จพระพาสเยือนสหรัฐอเมริกา ยุโรป (พ.ศ. ๒๕o๓ - ๒๕o๔) ในฐานะพระราชินีของประเทศไทย 








ครั้นมีพระราชดำริจะทรงฉลองพระองค์ชุดไทย ทรงค้นคว้าการแต่งกายของสตรีไทยพบว่ายังไม่มีสิ่งใดที่เป็นเอกลักษณ์ ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น อินเดีย มีชุดแต่งกายประจำชาติที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ของเราเมื่อย้อนกลับไปดูสมัยต้นรัตนโกสินทร์พบว่ามีการแต่งกายหลายรูปแบบมาก ดูเหมือนว่าการแต่งกายที่หลากหลายพบในราชสำนักเท่านั้น ท่านจึงให้คณะทำงานไปสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ พระองค์เองทรงเทียบเคียงพระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์ของพระมเหสี ภาพถ่ายของเจ้านาย ว่ามีการแต่งกายอย่างไรบ้าง 











ตรงนี้เป็นที่มาของการเริ่มต้นให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายลงมือสเก็ตช์รูปแบบขึ้นมาแล้วทรงมีพระวินิจฉัยเลือกรูปขึ้นมาเพื่อนำไปตัดเป็นฉลองพระองค์ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศครั้งนั้น เบื้องต้นมีด้วยกัน ๕ แบบ และค่อยๆ คลี่คลายมาต้นแบบของชุดประจำชาติ ๘ แบบ ที่เราเห็นในทุกวันนี้" บรรณาธิการกล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สนพระทัยในการฉลองพระองค์แบบไทยตั้งแต่ครั้งเป็นพระคู่หมั้น  


สำหรับชุดไทยพระราชนิยม ๘ แบบ ประกอบด้วย ชุดไทยเรือนต้น  ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรี  ชุดไทยศิวาลัย และ ชุดไทยจักรพรรดิ








นอกจากภาพถ่ายฉลองพระองค์ ผลงานของ ณัฐ ประกอบสันติสุข ช่างภาพที่มีชื่อเสียงแล้ว ในหนังสือเล่มนี้ยังมีผลงานภาพวาดสีน้ำชุดไทย ๘ แบบ วาดโดย  อลิสา ใสเศวตวารี เจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์ พิพิธพิพิธภัณฑ์ผ้าใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งสะท้อนให้เห็นความงดงามของชุดไทยได้อย่างน่าจับตา










" ทำไมต้องเป็นสีน้ำ ? " อลิสา ทวนคำถามแล้วตอบว่า "ผ้าไทย โดยเฉพาะผ้าที่นำมาตัดเป็นชุดไทยทั้ง ๘ แบบนี้ ด้วยความที่ผ้าเป็นไหมเงิน ไหมทอง ผ้ายก ทำให้มีความมันวาว ถ้าใช้สีน้ำน่าจะสะท้อนประกายของความเงาวาวออกมาได้ดีกว่า ด้วยความใสของแสง อยากใช้สีน้ำเพราะว่ามันดูเบา ดูสบายกว่า "


คนดูรู้สึกภาพสวยสบายตา แต่คนวาดบอกว่าใช้เวลานานไม่น้อยในการทำงาน โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายที่มีลายและแสงเงามาก ๆ








ไม่เพียงแต่อวดฝีไม้ลายมือในภาพวาดสีน้ำ อลิสา ยังมีโอกาสได้แสดงฝีมือในการออกแบบ 'ปั้นเหน่ง' หรือ หัวเข็มขัด อาภรณ์ประดับเอวที่จัดทำขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในการจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อีกด้วย 


" การออกแบบ ต้องค้นคว้าหาข้อมูลประกอบ เมื่อก่อนพระองค์ท่านทรงแบบไหน ขนาด ลาย รูปแบบไหน รวมไปถึงรูปแบบโบราณ เรื่องการใช้ลวดลาย การวางจังหวะลายต่างๆ  แล้วนำมาออกแบบเพื่อสร้างขึ้นมาใหม่ วัสดุเป็นเงินชุบทอง " 








ราชศิลป์พัสตราภรณ์ พิพิธภัณฑ์ผ้าใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นหนังสือที่มีความงดงามทั้งศาสตร์และศิลป์  ทั้งยังเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของชุดไทยที่ควรค่าแห่งความภูมิใจ

"ชุดไทยสวยที่สุดในโลก" เชื่อว่าคงมีคนไทยหลายคนคิดเช่นเดียวกัน












พระบรมฉายาลักษณ์ ภาพและข้อมูลจาก
หนังสือราชศิลป์พัสตราภรณ์ 
เฟซบุคพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ
bangkokbiznews.com


BonusLife TapE 31/4 Trip พิพิธภัณฑ์ผ้าพระราชินี

ที่มา:http://haiku.bloggang.com

Credit: http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=haiku&month=28-05-2013&group=22&gblog=36
2 มิ.ย. 56 เวลา 13:32 12,821 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...