ความรู้เกี่ยวกับ " ฟอร์มาลิน " .. ที่ไว้ใช้ดองศพ

ฟอร์มาลิน (formalin) เป็นชื่อของสารฟอร์มาลดีไฮด์ ในรูปแบบของเหลวหรือน้ำ เป็นสารละลายอิ่มตัวยิ่งยวดเพื่อการค้า ใช้ฆ่าเชื้อโรค มีฤทธิ์กันเสีย ใช้สำหรับเก็บรักษาชิ้นส่วนทางชีววิทยา

 

ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) คือ แก๊สชนิดหนึ่ง อยู่ในกลุ่มวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่ผลิตนำเข้า ส่งออกหรือการมีไว้ในครอบครอง ต้องได้รับอนุญาต

เงื่อนไขการใช้สารเคมีดังกล่าว หากเป็นกลุ่มเครื่องสำอาง จะอนุญาตให้ใช้ได้ในปริมาณควบคุม 0.2% แต่หากเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพในช่องปากจะใช้ได้ 0.1% เท่านั้น และห้ามใช้ในรูปแบบฉีด พ่น

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสารกันเสียดังกล่าวเป็นส่วนผสม เช่น เครื่องสำอาง แชมพู น้ำยาเคลือบเล็บ น้ำยาบ้วนปาก ยาระงับกลิ่นผ้า 

นอกจากนั้น สารฟอร์มาลดีไฮด์พบมากในที่อยู่อาศัย เนื่องจากเป็นสารที่อยู่ในกาวและสารเคลือบเฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม้อัด และไม้แปรรูปอื่นๆ ซึ่งใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง รวมไปถึงสีทาบ้านบางชนิด

ทางการแพทย์จะใช้ฟอร์มาลินเก็บรักษาเนื้อเยื่อ ดอง ที่พบบ่อยคือ การดองศพไว้ใช้เพื่อการศึกษาทางการแพทย์ และฉีดเข้าเส้นเลือดใหญ่ของศพเพื่อรักษาสภาพไม่ให้เน่าเปื่อยเร็ว 

สารเคมีดังกล่าว ทำให้เกิดความระคายเคืองและเป็นอันตรายได้ หากบริโภคสารนี้โดยตรงจะเกิดอาการเป็นพิษเฉียบพลัน ปวดท้อง อาเจียน อุจจาระร่วง หมดสติ และอาจถึงแก่ชีวิตในที่สุด แต่ในระยะยาวจะทำให้เกิดผลเสียกับระบบร่างกายต่างๆ หรือ ก่อให้เกิดมะเร็งได้

หากสัมผัส อาจเกิดอาการระคายเคืองได้ เช่น แสบตาหรือแสบจมูก แต่หากได้รับจำนวนมากในส่วนที่เป็นเยื่ออ่อนของร่างกายก็สามารถเกิดอันตรายได้มากขึ้น

ส่วนกรณีนำฟอร์มาลินมาใส่ในอาหารนั้น ปัจจุบันกฎหมายตาม พ.ร.บ.อาหาร 2522 มีประกาศห้ามใส่สารต่างๆ ในอาหาร ซึ่งฟอร์มาลิน ถูกกำหนดว่าห้ามใช้เด็ดขาด 

สารฟอร์มาลินมักถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดกับอาหารทะเล เพราะต้องการรักษาความสด ซึ่งมีการตรวจและจับอยู่เสมอ ทำให้ปัจจุบันการใช้ในกลุ่มอาหารทะเลลดลงมาก แต่อาจพบการปนเปื้อนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติได้ เพราะเป็นสารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มักพบในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย 

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) ระบุว่า หากนำฟอร์มาลินมาใช้กับอาหาร ความอันตรายจะขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ และเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัวได้ 

สารฟอร์มาลินไม่สามารถทำลายได้ด้วยการผ่านความร้อน ส่วนการล้างน้ำ ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าจะล้างสารเคมีได้หมด 

วิธีป้องกันที่หมอชาวบ้านแนะนำ ก็คือ เวลาเลือกซื้อเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว ตลอดจนปลา สังเกตดูว่าสดผิดปกติหรือไม่ เพราะถ้าเป็นเนื้อที่ไม่แช่ฟอร์มาลินวางขายในตลาดสด ถ้าถูกแดดถูกลมนานๆ เนื้อแดงๆ นั้นจะเหี่ยว หรือถ้ามีกลิ่นฉุนๆ แปลกๆ แสบจมูก ก็ไม่ควรจะซื้อมาบริโภค เพราะคงต้องแช่ฟอร์มาลินอย่างแน่นอน

ส่วนผัก หากใบงามเกินความเป็นจริง ไม่มีรูพรุนจากการกัดของแมลงเลย ตั้งขายไว้เป็นวันๆ ยังไม่เหี่ยว ก็ไม่ควรเลือกซื้อเพราะอาจมีฟอร์มาลินและสารพิษฆ่าแมลงซึ่งยังไม่หมดฤทธิ์สะสมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาคือ ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ต้องมีจิตสำนึกต่อสังคม ไม่นำสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมาใส่ในอาหาร เพราะอาจทำให้เกิดผลเสียถึงขั้นเสียชีวิต หรือได้รับอันตรายสะสมในระยะยาวได้

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com

 

ที่มา: http://webboard.yenta4.com/topic/545036
Credit: http://board.postjung.com/681674.html
1 มิ.ย. 56 เวลา 22:08 2,882 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...