หลักฐานล่าสุดยืนยันว่า ชาวอียิปต์เมื่อ 5,000 ปีก่อน นำสะเก็ดดาวตกมาทำเครื่องประดับ เผยแดนไอยคุปต์ถือว่าวัตถุจากฟากฟ้ามีความหมายในทางศาสนา เพราะพบถูกฝังพร้อมผู้วายชนม์
ลูกปัดเหล็กรูปทรงยาวรีที่ว่านี้ ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2454 ที่สุสานเมืองกีร์ซะห์ ห่างจากกรุงไคโรไปทางใต้ราว 70 ก.ม. ทำขึ้นเมื่อประมาณปี 3350-3600 ก่อนคริสต์ศักราช
นับเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่บ่งบอกถึงการนำเหล็กมาใช้ในอียิปต์ยุคโบราณ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้ายุคเหล็กของอียิปต์หลายพันปี
@ นักวิทยาศาสตร์ของอังกฤษ ยืนยันว่า ลูกปัดเมืองกีร์ซะห์ ทำจากอุกกาบาต
หลังถูกพบไม่นาน นักวิจัยพบว่า เครื่องประดับโลหะชิ้นนี้อุดมด้วยนิกเกิล ซึ่งบ่งชี้ว่ามันทำด้วยเหล็กที่ได้จากอุกกาบาต
แต่ในช่วงคริสต์ศตวรรษ 1980 นักวิชาการโต้แย้งว่า ลูกปัดชิ้นนี้คงไม่ได้มาจากท้องฟ้า เหตุที่มีนิกเกิลเจือปนอยู่มากนั้น เกิดจากการหลอมแร่
ทว่าล่าสุดนักวิจัยของมหาวิทยาลัยโอเพน กับมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ได้นำลูกปัดดังกล่าวไปสแกนด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน และเครื่องเอ็กซ์เรย์ ซีที แล้วยืนยันว่า นิกเกิลที่เป็นองค์ประกอบของลูกปัด มีต้นกำเนิดจากอุกกาบาตจริงๆ
ทีมวิจัยพบว่า ลูกปัดมีโครงสร้างผลึกแบบเดียวกับที่พบได้ในอุกกาบาตเท่านั้น โครงสร้างผลึกที่ว่านี้ได้เย็นตัวลงอย่างช้าๆในดาวเคราะห์น้อยในช่วงที่ระบบ สุริยะกำลังก่อตัว
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า ลูกปัดไม่ได้ถูกหล่อด้วยความร้อน แต่ถูกประดิษฐ์ด้วยการตีขึ้นรูปด้วยค้อน
หลักฐานชิ้นแรกที่ส่อถึงการถลุงแร่เหล็กในดินแดนไอยคุปต์ เกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช แทบไม่พบศิลปวัตถุที่ทำด้วยเหล็กจากช่วงเวลาก่อนหน้านั้นเลย
จอยซ์ ทิลเดสลีย์ นักไอยคุปต์วิทยา มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ บอกว่า สำหรับชาวอียิปต์โบราณแล้ว โลหะที่ตกลงมาจากฟากฟ้าเป็นของสวยงามและหายาก คนยุคนั้นเชื่อว่าของแบบนี้มีความหมายในทางศาสนาหรือไสยศาสตร์
เขาบอกว่า การฝังลูกปัดเหล็กลงในหลุมศพเช่นนี้ สะท้อนว่า วัสดุแบบนี้มีคุณค่าสูงในสายตาคนโบราณ
รายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Meteoritics and Planetary Science.