นักวิทยาศาสตร์รัสเซียพบซากแมมมอธในสภาพยังมีเลือดถูกแช่แข็ง จุดประกายความหวังที่จะสร้างตัวเป็นๆขึ้นใหม่ ด้วยเทคนิคถอดแบบพันธุกรรม
เซมยอน กรีกอร์เยฟ หัวหน้าทีมสำรวจชาวรัสเซีย เปิดเผยว่า ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ได้ค้นพบซากของแมมมอธขนยาวตัวเมียตัวหนึ่งบนเกาะอันห่างไกลในมหาสมุทร อาร์กติก เจ้าตัวนี้ได้ล้มขณะมีอายุประมาณ 60 ปีเมื่อราว 10,000-15,000 ปีก่อน
@ แมมมอธขนยาวได้สูญพันธุ์ไปจากโลกเมื่อราว 4,500 ปีก่อน
ซากมีสภาพดีมาก ยังมีเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อและยังมีเลือดติดอยู่ "พอเราเจาะน้ำแข็งที่ช่องท้องของมัน มีเลือดไหลออกมา มีสีเข้มมาก" นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์นเฟดเดอรัล ในเมืองยาคุตสค์ ห่างจากแนวเส้นอาร์กติกเซอร์เคิลลงไปทางใต้ 450 ก.ม. บอก "เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อยังเป็นสีแดงแบบเนื้อสด"
@ ซากที่พบในแถบอาร์กติกของรัสเซีย ถูกเก็บรักษาอย่างดีในน้ำแข็ง
กรีกอร์เยฟ บอกอีกว่า ซากในส่วนครึ่งล่างถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี เพราะมันได้จมลงในแอ่งน้ำที่ได้แข็งตัวในเวลาต่อมา ลำตัวท่อนบน รวมทั้งส่วนหลังและส่วนหัว ได้ถูกสัตว์อื่นแทะกิน "ขาหน้ากับท้องยังมีสภาพดี ท่อนหลังกลายเป็นโครงกระดูก"
@ นักวิจัยเก็บตัวอย่างเลือดใส่หลอดทดลอง
การค้นพบนี้จุดประกายความหวังที่จะฟื้นชีพแมมมอธขนยาวขึ้นมาใหม่ ด้วยการนำเซลล์ที่ยังมีชีวิตไปทำโคลนนิง
เมื่อปีที่แล้ว กรีกอร์เยฟได้ลงนามทำสัญญากับผู้เชี่ยวชาญด้านการถอดแบบพันธุกรรม ฮวางวูซุก แห่งมูลนิธิซูอัม ไบโอเทค ในเกาหลีใต้ ผู้สร้างสุนัขโคลนตัวแรกของโลกเมื่อปี 2548
@ เซลล์ที่ยังมีชีวิต ซึ่งได้จากเนื้อเยื่อและเลือดในซาก เปิดโอกาสให้ฟื้นชีพแมมมอธ
ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแมมมอธจากเกาหลีใต้, รัสเซีย และสหรัฐ จะไปร่วมกันศึกษาซากที่เพิ่งค้นพบนี้ ซึ่งเก็บรักษาไว้ในสถานที่ไม่เปิดเผยทางตอนเหนือของรัสเซีย.