10 สุดยอดนักฟิสิกส์โลก ตลอดกาล

 

 

 

 

 

 

 

ไอน์สไตน์

สุดยอดนักฟิสิกส์โลก อันดับ 1 : อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)

ในแทบทุกผลการสำรวจหาบุคคลสำคัญของยุคสมัยต่าง ๆ และวงการต่าง ๆ ของสำนักต่าง ๆ ชื่อของ ไอน์สไตน์ จะโดดเด่นติดอันดับสุดยอดเสมอ และสำหรับผลการสำรวจของ Physics World ก็เช่นเดียวกัน ไอน์สไตน์ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นสุดยอดนักฟิสิกส์โลกอันดับสูงสุด

ผลงานอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ทั้งภาคพิเศษและภาคทั่วไป (ที่ยังชวนพิศวง จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป)  รางวัลโนเบล คือทฤษฎีปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กตริก (ที่นำเอาความคิดเรื่องแสงเป็นอนุภาคมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม) เรื่องของการเคลื่อนที่แบบบราวเนียน (ที่ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ มีวิธีที่จะวัดขนาดโมเลกุลของน้ำอย่างเป็นรูปธรรม เป็นครั้งแรก) ความเป็นวิทยาศาสตร์ที่แสดงออกมา ด้วยการกล้าเสนอความคิดนอกกรอบอย่างท้าทาย ดังเช่น การเสนอเป็นหลักการพื้นฐานของทฤษฎีสัมพัทธภาพว่า แสงมีความเร็วคงที่เสมอ ในสุญญากาศ (คือ 186,000 ไมล์ ต่อวินาที หรือ 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที) โดยไม่ขึ้นอยู่กับสภาพการเคลื่อนที่ของต้นกำเนิดแสง และผู้สังเกต

และการยอมรับความคิดเห็นหรือหลักการของคนอื่น ถ้ามีเหตุอันสมควร ทั้งๆ ที่ขัดกับความรู้สึกส่วนตัว ดังเช่นเรื่องของ ทฤษฎีควอนตัม ซึ่งโดยความรู้สึกส่วนตัวแล้ว ไอน์สไตน์ไม่ชอบ จนกระทั่งกล่าวบ่อย ๆ ว่า “พระเจ้า ไม่เล่นเกมกับจักรวาลหรอก” แต่เมื่อข้อมูลหลักฐานและแนวคิดของนักฟิสิกส์ส่วนใหญ่ สนับสนุนทฤษฎีควอนตัม ไอน์สไตน์ก็ต้องยอมรับ และยังได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญ สร้างพัฒนาการสำคัญใหม่ ๆ ให้กับทฤษฎีควอนตัมด้วย

ไอแซก นิวตัน

สุดยอดนักฟิสิกส์โลก อันดับ 2 : ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton)

ไม่มีกฎ หรือ สมการใด ที่นักฟิสิกส์และนักเรียน – นักศึกษาวิทยาศาสตร์ต้องใช้มากเท่า F = ma ซึ่งเป็น กฎว่าด้วยการเคลื่อนที่ข้อที่สองของนิวตัน และเป็นกฎที่ให้ความหมายอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดของ “แรง” แม้แต่เมื่อไอน์สไตน์ให้กำเนิดทฤษฎีสัมพัทธภาพ และสมการเกี่ยวกับแรงและผลจากการกระทำของแรง จะมิใช่แบบง่าย ๆ

คือ F = ma หากมีส่วนที่เป็นเรื่องของมวล ( m ) ที่มีค่าไม่คงที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่นักฟิสิกส์รุ่นเยาว์และแม้แต่นักฟิสิกส์รุ่นใหญ่ในปัจจุบัน ก็ยังสามารถใช้สมการ F = ma สำหรับการเคลื่อนที่ของวัตถุโดยทั่วไปได้อยู่ดี ทั้งนี้เพราะ สมการของนิวตัน (F = ma) ถึงแม้จะไม่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์ในทุกกรณีของการเคลื่อนที่ของวัตถุ แต่ก็ยังใช้ได้ สำหรับการเคลื่อนที่ของวัตถุส่วนใหญ่ ที่มนุษย์ทั่วไปเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับกรณีของแรงดึงดูดโน้มถ่วง นิวตันให้กำเนิดทฤษฎีและสมการที่ใช้คำนวณหาแรงดึงดูดโน้มถ่วง ระหว่างวัตถุ 2 ชนิด ทั้งใหญ่และเล็ก

ดังเช่น แรงดึงดูดระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ออกมาเป็นสมการง่าย ๆ คือ F = G m 1 m 2 / r 2 โดยที่ G เป็นค่าคงที่ของความโน้มถ่วง (Gravitational Constant ) m 1 และ m 2 เป็นมวลของวัตถุ ที่ดึงดูดซึ่งกันและกัน และ r เป็นระยะห่างระหว่างวัตถุทั้งสอง

ถึงแม้ต่อมา ไอน์สไตน์ ได้ให้กำเนิด ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป ซึ่งจริง ๆ แล้ว ก็คือ ทฤษฎีแรงดึงดูดโน้มถ่วง ที่มีความถูกต้องกว่าทฤษฎีของนิวตัน แต่โดยทั่ว ๆ ไป นักฟิสิกส์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ก็ยังสามารถใช้ประโยชน์จากสมการของนิวตันได้อย่างถูกต้อง ในระดับที่เป็นประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องใช้สมการ ที่เป็นกฎความโน้มถ่วงของไอน์สไตน์ ซึ่งใช้ยาก

เมื่อเปรียบเทียบนิวตันกับไอน์สไตน์ ยอดนักฟิสิกส์ทั้งสอง มีทั้งความแตกต่างและความคล้ายคลึงกัน ส่วนที่แตกต่างกัน คือ ไอน์สไตน์ จะไม่มีความไวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ จากคนอื่น ๆ ต่อทุก ๆ เรื่อง ที่เกี่ยวกับตนเองเท่านิวตัน กล่าวง่าย ๆ คือ ไอน์สไตน์ไม่ใจน้อยเท่านิวตังน๊ ส่วนที่เหมือนกัน คือ ทั้งสองต่างก็เป็นยักษ์ใหญ่นักวิทยาศาสตร์ที่อ่อนน้อมถ่อมตน

สำหรับส่วนของนิวตัน เขาได้กล่าวในจดหมายที่เขาเขียนถึง โรเบิร์ต ฮุค ว่า “ถ้าข้าพเจ้าได้เห็นไกลกว่าคนอื่นๆ แล้ว ก็เป็นเพราะว่า ข้าพเจ้าได้อาศัยยืนอยู่บนไหล่ของยักษ์ใหญ่หลายตน”

เจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์

สุดยอดนักฟิสิกส์โลก อันดับ 3 : เจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์ (James Clerk Maxwell)

ฟิสิกส์ยุคใหม่แห่งศตวรรษที่ยี่สิบ ซึ่งประกอบด้วย ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ และ ทฤษฎีควอนตัมเป็นหลัก ทำให้ฟิสิกส์ยุคเก่าแทบทั้งหมด ต้องกลายเป็นของเก่า ที่มีขีดจำกัดในการใช้งาน ดังเช่นสมการสำหรับการเคลื่อนของนิวตัน และความคิดในเรื่องของผลการวัดที่เกี่ยวเนื่องกับตำแหน่งและเวลา ซึ่งตามทฤษฎีสัมพัทธภาพ ถือว่าเกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกพิจารณาไม่ได้ แต่ก็มีฟิสิกส์ยุคเก่าจากศตวรรษที่สิบเก้าทฤษฎีหนึ่ง ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากพัฒนาการของฟิสิกส์ยุคใหม่ คือ ทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้าของเจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์

เจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์ ชาวสก็อตนักฟิสิกส์คนแรก ที่เชื่อมโยงปรากฏการณ์ทางด้านไฟฟ้ากับทางด้านแม่เหล็กเข้าด้วยกัน เกิดเป็น สมการ (อมตะ) ของ แมกซ์เวลล์ 4 ข้อ ที่นักฟิสิกส์ในอดีตแห่งศตวรรษที่สิบเก้าศึกษากัน และนักฟิสิกส์แห่งศตวรรษที่ยี่สิบ จนกระทั่งถึง (หรือจะเข้าถึง) ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดก็กำลังใช้งานกัน

จากทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้าของแมกซ์เวลล์ ทำให้มนุษย์ได้รู้จักธรรมชาติของแสงอย่างที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ทำให้นักวิทยาศาสตร์บอกได้ว่า เมื่อประจุไฟฟ้าเคลื่อนที่จะมีทั้งสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กเกิดขึ้นรอบประจุไฟฟ้า ซึ่งรวมกันเข้า จะเกิดเป็นรังสีหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 186,000 ไมล์ต่อวินาที เท่ากับความเร็วแสง และจริงๆ แล้ว แสงก็เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง

จากทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้าของแมกซ์เวลล์ ทำให้ เฮนริช รูดอล์ฟ เฮิรตซ์ (Heinrich Rudolf Hertz) สามารถสร้างคลื่นและส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่รับได้โดยเครื่องรับห่างจากวงจรไฟฟ้าสร้างคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกไป เป็นการเริ่มต้นของยุคการสื่อสารด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

นีลส์ บอร์

สุดยอดนักฟิสิกส์โลก อันดับ 4 : นีลส์ บอร์ (Niels Bohr)

นีลส์ บอร์ เป็นชาวเดนมาร์ก เป็น เจ้าของทฤษฎีแบบจำลอง หรือ โครงการของอะตอมที่รู้จักเรียกกันว่า แบบจำลองอะตอมของบอร์ ซึ่งเชื่อมโยงความคิดเชิงควอนตัม ในเรื่องของการรับและปล่อยพลังงานโดยอะตอม และตำแหน่งของอิเล็กตรอนที่โคจรรอบนิวเคลียส

ก่อนหน้า นีลส์ บอร์ แบบจำลองอะตอมที่มีการเสนอกันมาก่อน คือ ของ โจเซฟ จอห์น ทอมสัน (Joseph John Thomson) และของ เออร์เนสต์ รัทเทอร์พอร์ด ( Ernest Rutherford) แต่แบบจำลองอะตอมของบอร์ เป็นแบบที่กำหนดตำแหน่งของอิเล็กตรอนที่โคจรรอบนิวเคลียส ว่า

“อิเล็กตรอนจะโคจรอยู่รอบนิวเคลียสได้อย่างมีเสถียรภาพเฉพาะบางตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับโมเมนตัมเชิงมุมของอิเล็กตรอน แล้วอิเล็กตรอนก็จะสามารถโคจรรอบนิวเคลียสได้อย่างไม่ต้องเสียพลังงาน (ตามธรรมชาติของอิเล็กตรอน ซึ่งถ้าเคลื่อนที่อย่างมีความเร่ง และการที่อิเล็กตรอนโคจรรอบนิวเคลียส ก็แสดงว่า อิเล็กตรอนเคลื่อนที่อย่างมีความเร่ง เนื่องจากทิศทางเปลี่ยนตลอดเวลา) และแบบจำลองอะตอมของบอร์ยังอธิบายว่า อิเล็กตรอนจะเปลี่ยนตำแหน่งหรือวิถีโคจรได้แบบ การกระโดดอย่างควอนตัม” (Quantum Jump) ระหว่างวิถีโคจรของอิเล็กตรอนเท่านั้น

นีลส์ บอร์ มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการความรู้เกี่ยวกับอะตอม และการปลดปล่อยพลังงานของอะตอม หรือ พลังงานนิวเคลียร์ เขามีส่วนร่วมอย่างสำคัญในโครงการ แมนฮัตตัน” (Manhattan Project) เพื่อสร้างระเบิดนิวเคลียร์ขึ้นมาจากทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ จนกระทั่งโครงการประสบความสำเร็จ …

แต่เมื่อได้เห็นฤทธิ์เดชอันน่าสะพรึงกลัวของระเบิดนิวเคลียร์ ที่ถูกนำไปใช้กับมนุษย์ที่ฮิโรชิมา และเห็นการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ หลังสงครามโลกครั้งที่สองอย่างบ้าคลั่ง เขาก็มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ เพื่อการใช้ประโยชน์ของพลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ อย่างให้พลังงานนิวเคลียร์รับใช้มนุษยชาติ เขาเป็นคนจัดการสัมมนาอะตอมเพื่อสันติ (Atom For Peace Conference) เป็นครั้งแรกที่กรุงเจนีวา ในปี ค.ศ.1955 และได้รับรางวัลอะตอมเพื่อสันติ (Atom For Peace Award ) เป็นคนแรกในปี ค.ศ.1957

เวิร์นเนอร์ ไฮเซนเบิร์ก

สุดยอดนักฟิสิกส์โลก อันดับ 5 : เวิร์นเนอร์ ไฮเซนเบิร์ก (Werner Heisenberg)

ในระหว่างการขึ้นสู่อำนาจของ ฮิต-เลอร์ และระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง นักฟิสิกส์ชั้นยอดของประเทศเยอรมนีส่วนใหญ่ ทั้งที่มีเชื้อสายยิว และที่ไม่มีเชื้อสายยิว อพยพออกไปจากประเทศเยอรมนี ไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาหรือในยุโรป แต่ เวิร์นเนอร์ ไฮเซนเบิร์ก เป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์ชั้นยอดของเยอรมนีและของโลก ที่ไม่ยอมหนีไปจากเยอรมนี เพราะ หนึ่ง คือ ความรักชาติ และสอง คือเขาไม่ต้องการที่จะเห็นฟิสิกส์ในเยอรมนีต้องตายไป

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า เยอรมนีเป็นประเทศที่มีนักฟิสิกส์ชั้นยอดระดับโลกมากที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็น

อัลเบิร์ต ไอน์-สไตน์ , เอนริโด เฟอร์มี ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างปฏิกิริยานิวเคลียสแบบฟิชชัน, ปีเตอร์ ดีบาย ( Peter Debye ) นักฟิสิกส์ชาวเนเธอร์แลนด์ แต่ดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นผู้อำนวยการสถาบันไกเซอร์วิลเฮล์ม ในกรุงเบอร์ลิน

ทว่า เมื่อนาซีเรืองอำนาจ จนกระทั่งการระเบิดของสงครามโลกครั้งที่สอง นักฟิสิกส์สำคัญเหล่านี้ก็พากันหนีหรืออพยพออกไปจากประเทศเยอรมนี

เวิร์นเนอร์ ไฮเซนเบิร์ก เป็น นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของวงการฟิสิกส์โลก เขาได้รับรางวัลโนเบล สายฟิสิกส์ ประจำปี ค.ศ.1932 ขณะมีอายุเพียง 31 ปี เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทฤษฎีควอนตัม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “The Uncertainty Principle” หรือ หลักความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นหลักการสำคัญหลักการหนึ่งของทฤษฎีควอนตัม และเป็นส่วนที่ทำให้ไอน์สไตน์ ไม่สู้จะสบายใจ เพราะไอน์สไตน์ไม่ชอบความไม่แน่นอน และเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการรวมแรงพื้นฐาน 4 ชนิด เข้าด้วยกัน

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เวิร์นเนอร์ ไฮเซนเบิร์ก เป็นหัวหน้าโครงการสร้างระเบิดอะตอมของเยอรมนีและการดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าโครงการสร้างระเบิดอะตอมของไฮเซนเบิร์กนี้เอง ที่ไปกระตุ้นให้เกิดโครงการสร้างระเบิดอะตอม (คือ โครงการ แมนฮัตตัน) ของประเทศฝ่ายสัมพันธ มิตร จนกระทั่งระเบิดอะตอมถูกสร้างขึ้นมาได้สำเร็จ ถึงแม้จะปรากฏเป็นความจริงภายหลังสงครามว่า ไฮเซนเบิร์ก มิได้มีความมุ่งมั่นอย่างจริงจัง ที่จะเร่งสร้างระเบิดอะตอม ของฝ่ายนาซีเยอรมันให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว

กาลิเลโอ กาลิเลอี

สุดยอดนักฟิสิกส์โลก อันดับ 6 : กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei)

กาลิเลโอ นักวิทยาศาสตร์คนเดียวในโลก ที่ชื่อเป็นที่รู้จักกันดี สำหรับวงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลก จนกระทั่งเมื่อจะเอ่ยถึงชื่อของเขาแล้ว ก็เอ่ยเพียงชื่อแรกเท่านั้น โดยมิต้องเอ่ยนามสกุลหรือเป็นที่รู้จักเรียกกันด้วยนามสกุล ดังเช่น ไอน์-สไตน์ หรือนิวตัน กล่าวคือ ถ้าเอ่ยชื่อ กาลิเลโอ คนทั้งโลกก็จะนึกถึงเขาทันที ทั้ง ๆ ที่ชื่อและนามสกุลเต็มของเขา คือ กาลิเลโอ กาลิเลอี

กาลิเลโอ เป็นชาวอิตาลี มีชีวิตอยู่ระหว่าง ปี ค.ศ.1564 กับปี ค.ศ. 1642 ได้รับการยกย่องเป็นผู้นำโคมไฟแห่งวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ นำโลกให้สว่างไสวจากความมืดของยุคกลาง หรือยุคมืดอันยาวนานถึงประมาณหนึ่งพันปี โดยที่ กาลิเลโอเอง เกือบจะต้องสังเวยชีวิตให้กับการต่อสู้เพื่อนำโลกเข้าสู่ยุคใหม่ของวิทยาศาสตร์  กาลิเลโอ เริ่มต้นชีวิตการเป็นนักศึกษาตามเส้นทางสู่สายวิชาชีพการเป็นแพทย์ แต่เมื่อเขาได้สัมผัสวิทยาศาสตร์พื้นฐานอย่างเจาะลึก ที่จำเป็นสำหรับวิชาชีพการแพทย์ เขาก็ตกหลุมเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์อย่างถอนตัวไม่ขึ้น หันหลังให้กับวิชาชีพแพทยศาสตร์ หันมาศึกษาวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง โลกการแพทย์จึงสูญเสียแพทย์ที่ชื่อกาลิเลโอ กาลิเลอี ในขณะที่โลกวิทยาศาสตร์ก็ได้นักวิทยาศาสตร์ ชื่อ กาลิเลโอ เข้ามาสู่วงการ

นาฬิกาที่มนุษย์ทั้งโลกใช้กันในปัจจุบัน เป็น นาฬิกาควอร์ตซ์ เป็นนาฬิการะบบดิจิทัล แม้แต่นาฬิกาเรือนใหญ่ในอาคารบ้านเรือน และในสำนักงานปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็เป็นนาฬิกาแบบดิจิทัล แต่ในอดีตก่อน ยุคนาฬิกาควอร์ตซ์ นาฬิกาแขวน นาฬิกาตั้งทั่วโลก ล้วนเป็นแบบนาฬิกาลูกตุ้ม ซึ่งมีกำเนิดที่มาจาก ผลงานฟิสิกส์ผลงานแรกของกาลิเลโอ ขณะที่เขามีอายุเพียง 18 ปี นั่นคือ จากการสังเกตดูการแกว่งของโคม หรือตะเกียงสายยาว แขวนจากเพดานสูงในโบสถ์ แล้วพบว่า คาบการแกว่งของสิ่งที่เป็นลูกตุ้มสายยาว ขึ้นอยู่กับความยาวของสายลูกตุ้มเท่านั้นเอง

กาลิเลโอ มีผลงานสำคัญมากมายทางด้านฟิสิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของวัตถุอย่างอิสระ เช่น วัตถุตกจากที่สูงอย่างอิสระ หรือ การเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ ผลงานเหล่านี้ ทำให้กาลิเลโอมีชื่อเสียง แต่ก็ทำให้กาลิเลโอมีปัญหากับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ เพราะการค้นพบ หรือทฤษฎีเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของวัตถุของเขา ขัดแย้งกับของอริสโตเติล ซึ่งเป็นที่ยึดถือกันมาอย่างยาวนานกว่าหนึ่งพันปี

ผลงานของกาลิเลโอที่สำคัญที่สุด เด่นที่สุด แต่ก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อทั้งวงการวิทยาศาสตร์ วงการศาสนา และตัวกาลิเลโอเอง คือ การค้นพบและคำสอนของกาลิเลโอทางด้านดาราศาสตร์

กาลิเลโอ มิใช่คนแรกที่ประดิษฐ์กล้องโทรทัศน์ขึ้นมา แต่เขาเป็นคนแรกที่สร้างกล้องโทรทัศน์ของเขาขึ้นมาเอง และใช้กล้องโทรทัศน์ของเขาส่องศึกษาท้องฟ้าและอวกาศ แล้วก็ได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ เกี่ยวกับอากาศและจักรวาล ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงชนิดที่ตัวกาลิเลโอเองก็คาดไม่ถึง

ในยุคสมัยของกาลิเลโอ และก่อนหน้านั้น อันยาวนานนับเป็นพันปี วงการศาสนาที่มีบทบาทมากที่สุดในโลกยุโรป คือ ศาสนาคริสต์ ยึดถือคำสอนของอริสโตเติล เป็นเหมือนกับคัมภีร์ไบเบิล ใครก็ตามที่เชื่อและเผยแพร่ความคิดทฤษฎีที่ขัดแย้งกับอริสโตเติล ก็เสมือนหนึ่งเผยแพร่สิ่งที่ขัดแย้งกับคำสอนของพระเจ้า มีความผิดต้องถูกจับขึ้นศาลพระ และมีโทษถึงตายทีเดียว

ตัวอย่างของ “คนกล้า” ที่กล้าเผยแพร่ทฤษฎีความคิดที่ขัดแย้งกับอริสโตเติล คือ

จิออร์ดาโน บรูโน (Giordano Bruno) นักดาราศาสตร์และนักบวชชาวอิตาลี ผู้ถูกเผาทั้งเป็น เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1600 (ขณะที่กาลิเลโอมีอายุ 36 ปี) เพราะเผยแพร่ความคิดทฤษฎีของ โคเปอร์นิคัส อย่างเปิดเผยว่า ดวงอาทิตย์ มิใช่โลก ที่เป็นศูนย์กลางจักรวาล (จักรวาลในความเข้าใจของยุคสมัยนั้น ก็เป็นเสมือนกับระบบสุริยะในปัจจุบัน ซึ่งเข้าใจกันว่า เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของจักรวาลแล้ว) ขัดแย้งกับทฤษฎีคำสอนของอริสโตเติล ว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

กาลิเลโอ อาศัยกล้องโทรทัศน์ของเขา ส่องดูดวงจันทร์ ค้นพบดวงจันทร์สี่ดวงของดาวพฤหัสบดี ค้นพบวงแหวนอันงดงามของดาวเสาร์ และค้นพบว่า ทางช้างเผือกที่ปรากฏเป็นทางขาวพาดในท้องฟ้านั้น ประกอบด้วยดวงดาวจำนวนมากมาย

กาลิเลโอเผยแพร่ทฤษฎีของโคเบอร์นิคัส ว่า ดวงอาทิตย์ มิใช่โลก เป็นศูนย์กลางของจักรวาล การค้นพบดวงจันทร์สี่ดวงของดาวพฤหัสบดี เป็นหลักฐานสำคัญว่า มิใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลหรอก ที่โคจรรอบโลก เพราะดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี มิได้โคจรรอบโลก แต่ก็เป็นหลักฐานที่ทำให้กาลิเลโอ เกือบต้องประสบกับชะตากรรม คือ ถูกจับเผาทั้งเป็น ดังเช่น จิออร์ดาโน บรูโน

ในช่วงชีวิตบั้นปลายของกาลิเลโอ เขาถูกศาลพระศาสนาคริสต์ ตัดสินว่า เขามีความผิด ความคิด คำสอน ของเขานั้นผิด หนังสือของเขาเป็นหนังสือต้องห้าม เขาถูกลงโทษด้วยการถูกจำขังอยู่ในบ้านของเขา แบบ “House Arrest”ตลอดชั่วชีวิตของเขา ทว่า ต่อๆมา ทางฝ่ายศาสนาก็ยอมรับว่า กาลิเลโอเป็นฝ่ายถูก กาลิเลโอ เป็นหนึ่งในบรรดายักษ์ใหญ่ที่นิวตันได้อาศัยยืนบนไหล่ ทำให้มองเห็นได้ไกลกว่าคนอื่นๆ

กาลิเลโอ กาลิเลอี

สุดยอดนักฟิสิกส์โลก อันดับ 7. ริชาร์ด ไฟน์แมน (Richard Feynman)

ริชาร์ด ไฟน์แมน ได้ชื่อเป็นนักฟิสิกส์อารมณ์ดี ชอบตีกลองบองโก เป็นครูฟิสิกส์ในฝันของนักศึกษา เพราะสอนวิชาฟิสิกส์ได้สนุก โดยที่เจาะลึกเข้าถึงแก่นและความคิดใหม่ๆ ของฟิสิกส์ด้วย

ในวงการฟิสิกส์ปัจจุบัน ชื่อของ ริชาร์ด ไฟน์แมน จะคงอยู่อย่างยืนยาวนาน เพราะ เขาเป็นผู้ให้กำเนิดเทคนิคและวิธีการศึกษาฟิสิกส์เกี่ยวกับอนุภาคมูลฐานและกลศาสตร์ควอนตัม ซึ่งรู้จักกันในชื่อของ ไฟน์แมนไดอะแกรม (Feynman Diagram) และ ไฟน์แมนพาทอินทิกรัลส์ (Feynman Path Integrals)

ถึงแม้ ไฟน์แมนไดอะแกรม และ ไฟน์แมนพาทอินทิกรัลส์ จะไม่เป็นที่รู้จักกันในวงการวิทยาศาสตร์ทั่วไปอย่างแพร่หลาย เพราะว่า ไฟน์แมนไดอะแกรม และ ไฟน์แมนพาทอินทิกรัลส์ ไม่ใช่สมการหรือเทคนิคที่มีรูปฟอร์มจำได้ง่ายๆ แต่รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี ค.ศ.1965 ที่เขาได้รับ (ร่วมกับ Sin-Itero Tomanaga และ Julian Schwinger) สำหรับผลงานเกี่ยวกับ Quantum Electrodynamics ก็เป็นหลักประกันอย่างดี สำหรับชื่อของ ริชาร์ด ไฟน์แมน ในวงการฟิสิกส์และวงการวิทยา ศาสตร์ระดับโลก

ริชาร์ด ไฟน์แมน เป็นชาวอเมริกัน เกิดปี ค.ศ.1916 มีชีวิตอยู่ถึงปี ค.ศ.1986 สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ฟิสิกส์จากเอ็มไอที (MIT) ในปี ค.ศ.1939 เป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้น ริชาร์ด ไฟน์แมน ไปศึกษาต่อปริญญาเอกฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน หลังสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาเอก เขาเดินทางไปร่วมงานในโครงการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลก คือ โครงการแมนฮัตตัน ในปี ค.ศ.1942 ที่ลอส อลาโมส ริชาร์ด ไฟน์แมน เป็นคนที่มีทั้งความรู้และจินตนาการทางฟิสิกส์ที่ก้าวหน้า ในระหว่างทำงานอยู่กับทีมสร้างระเบิดนิว เคลียร์ ที่ลอส อลาโมส เขาได้ขอจดทะเบียนสิทธิบัตรสำหรับแบบของเรือดำน้ำนิวเคลียร์ และเครื่องบินนิวเคลียร์ หลังสงครามโลกครั้งที่สองริชาร์ด ไฟน์แมน เข้ารับตำแหน่งประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัย คอร์เนลล์ ต่อมาย้ายไปอยู่ที่ California Institute of Technology หรือคาลเทค (Caltech) จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของการทำงาน

ระหว่างปี ค.ศ.1961-1963 ริชาร์ด ไฟน์แมน รับเป็นอาจารย์สอนฟิสิกส์ แก่นักศึกษาใหม่ เป็นเวลาสองปี โดยตามสอนแก่นักศึกษารุ่นเดียวกันจากปีหนึ่งถึงปีสอง ด้วยสไตล์การสอนที่มีชีวิตชีวา สนุกสนาน ทำให้นักศึกษาสนุกกับฟิสิกส์อย่างมาก

จากทุกสิ่งทุกอย่างที่ริชาร์ด ไฟน์แมน สอนในห้อง ทั้งข้อความที่เขาเขียนบนกระดานดำ และบันทึกการสอนต่างๆ กลายมาเป็น ชุดตำราฟิสิกส์ ชื่อ Feynman Lectures on Physics ที่รู้จักกันดีทั่ววงการฟิสิกส์โลก จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

สำหรับผลงานที่รู้จักเรียกกันว่า ไฟน์แมนไดอะแกรม เป็นเทคนิคเริ่มต้นจากการนำเสนอเพื่ออธิบายกลไกหรือกระบวนการที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาระหว่างอนุภาคอิเล็กตรอนกับโฟตอน ซึ่งในปัจจุบัน พบว่าสามารถใช้กับปฏิกิริยาหรือปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างอนุภาคมูลฐานทุกชนิดได้ในไฟน์แมนไดอะแกรม ริชาร์ด ไฟน์ แมน ได้เสนอภาพของปฏิอนุภาค ดังเช่นโปสิตรอน ว่าเป็นอนุภาคอิเล็กตรอนที่เดินทางย้อนเวลา

สำหรับไฟน์แมนพาทอินทิกรัลส์

ถึงแม้ความคิดเรื่อง Path Integrals จะมิใช่เรื่องใหม่หรือเกิดจากริชาร์ด ไฟน์แมน แต่เขาเป็นคนนำความคิดเรื่องพาทอินทิกรัลส์ มาใช้อย่างได้ผลจริงๆ ในทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม จนกระทั่งกลายเป็นอีกภาษาหรือเทคนิคหนึ่งของกลศาสตร์ควอนตัม นอกเหนือไปจากภาษาหรือเทคนิคที่รู้จักใช้กันทั่วไปของไฮเซนเบิร์ก หรือของชโรดิงเจอร์

ในปี ค.ศ.1986 ที่เกิดโศกนาฏกรรมยานขนส่งอวกาศแชลเลนเจอร์ ระเบิดกลางอากาศ ริชาร์ด ไฟน์แมน เป็นคนหนึ่งที่ได้รับเชิญจากองค์การนาซาให้ร่วมทีมศึกษาหาสาเหตุการระเบิด และเขาก็ได้ประกาศผลการศึกษาของเขาในระหว่างการถ่ายทอดสดโทรทัศน์ทั่วประเทศสหรัฐ ว่าสาเหตุเกิดจากประเด็นของยานอวกาศ ซึ่งสูญเสียความยืดหยุ่นตามคุณสมบัติพื้นฐาน จากการสัมผัสกับความเย็นจัด ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันและการค้นพบของเขาก็ถูกนำมาใช้ปรับปรุงยานขนส่งอวกาศในการเดินทางขึ้นสู่อวกาศต่อๆ มา ถึงปัจจุบัน

พอล ดิแรก

สุดยอดนักฟิสิกส์โลก อันดับ 8 : พอล ดิแรก

ในวงการวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ความจริงในธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือ อนุภาคทุกชนิด ล้วนมีปฏิอนุภาค หรือ Antiparticle เป็นสิ่งคู่กัน อิเล็กตรอนมีแอนติอิเล็กตรอน หรือโปสิตรอน โปรตอน มีแอนติโปรตอน นิวตรอน มีแอนตินิวตรอน ควาร์ก มีแอนติควาร์ก ผู้ให้กำเนิดความคิดเรื่องปฏิอนุภาค คือ พอล ดิแรก

ปัญหาใหญ่ที่สุด ท้าทายนักฟิสิกส์ในปัจจุบัน คือ การรวมแรงพื้นฐาน 4 แรงเข้าด้วยกัน ซึ่งก็คือการรวมทฤษฎีสัมพัทธภาพ เข้ากับทฤษฎีควอนตัมนั่นเอง แต่เรื่องนี้จริงๆ แล้ว ต้องแยกพิจารณาเป็น 2 ส่วน คือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ในส่วนเป็นภาคพิเศษกับภาคทั่วไป เพราะมิใช่ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั้งสองภาค ซึ่งยังรวมเข้ากับทฤษฎีควอนตัมไม่ได้ หากเป็นเพียงทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป เพราะทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษ ถูกรวมเข้ากับทฤษฎีควอนตัมได้แล้ว ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1928 โดยพอล ดิแรก และสมการซึ่งรวมทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษ เข้ากับสมการกลศาสตร์ควอนตัมได้สำเร็จนี้ ก็รู้จักเรียกกันเป็น สมการดิแรก หรือ Dirac Equation จนกระทั่งทุกวันนี้

พอล ดิแรก เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่บริสตอล ,กลอสเตอร์ไชร์ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ .1902 ถึงแก่กรรม วันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1984 ที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ในปี ค.ศ. 1921 แต่เบนเข็มไปศึกษาต่อทางด้านคณิต- ศาสตร์และฟิสิกส์ทฤษฎี ได้รับปริญญาตรีคณิตศาสตร์เกียรตินิยมอันดับหนึ่งใน ปี ค.ศ.1923 และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกฟิสิกส์ทฤษฎี จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในปี ค.ศ. 1926

ในช่วงระยะที่ พอล ดิแรก กำลังเป็นนักศึกษาอยู่ ความเคลื่อนไหวที่สำคัญของวงการฟิสิกส์ คือพัฒนาการของทฤษฎีควอนตัม และทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ทั้งภาคพิเศษและภาคทั่วไป

พอล ดิแรก สนใจทฤษฎีควอนตัม สนใจคุณสมบัติความเป็นคลื่นและอนุภาคของอนุภาคดังเช่นอิเล็กตรอน และก็สนใจทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ทั้งสองภาค อย่างแน่นอน เขายังไม่สามารถรวมทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไปเข้ากับสมการกลศาสตร์ควอนต

30 พ.ค. 56 เวลา 10:29 1,494 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...