ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลอดเลือดในสมองตีบ เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยไม่น้อย และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังเช่นกรณีของนักแสดงรุ่นใหญ่ จุ๋ม-อัญชลี ไชยศิริ ที่เพิ่งเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มใหญ่ที่เรียกว่า โรคหลอดเลือดสมอง
ความน่้ากลัวของโรคนี้ นายแพทย์ชนรัฐ เสถียร อายุรแพทย์ระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี ให้ความรู้ในเบื้องต้นว่า เกิดจากการที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบอุดตันจากสาเหตุหลัก ๆ 5 ประการคือ
1. หลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) เกิดจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือด ทำให้มีไขมัน และหินปูนมาจับ พบได้ทั้งในหลอดเลือดสมองเอง และหลอดเลือดใหญ่ที่คอ มักพบในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง หรือสูบบุหรี่
2. โรคหัวใจ มักเกิดกับผู้ป่วยที่มี โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ, โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด :ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจ อันเป็นเหตุให้ลิ่มเลือดหลุดจากห้องหัวใจไปอุดตันหลอดเลือดสมองตามมาได้
3. หลอดเลือดสมองอักเสบ
4. โรคเลือดบางชนิด เช่น ภาวะที่มีเม็ดเลือดแดง หรือเกร็ดเลือดมากเกินไป
5. การบาดเจ็บของหลอดเลือด อาจมีผลให้มีการฉีกของผนังหลอดเลือดด้านในทำให้เส้นเลือดอุดตันตามมา
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ และ ป้องกันไม่ได้ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือด การสูบบุหรี่ การขาดการออกกำลังกาย ยาคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนขนาดสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูง โรคซิฟิลิส เป็นสาเหตุของหลอดเลือดอักเสบและหลอดเลือดแข็ง โรคอ้วน การนอนกรน(sleep apnea)
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ คือ อายุ เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดจะมีภาวะเสื่อมเกิดขึ้น ทำให้ผนังชั้นในของหลอดเลือดจะมีไขมันและหินปูนมาเกาะ ส่งผลให้รูที่เลือดไหลผ่านจะแคบลงเรื่อยๆ เพศ (เพศชายมีความเสี่ยงสูงกว่าเพศหญิง) และภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงสูง
- ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง คือมีความดันโลหิตสูงกว่า 160/90 mmHg เป็นระยะเวลานาน จะทำให้หลอดเลือดแข็งตัวเร็วกว่าปกติ ส่งผลทำให้สมองทำงานผิดปกติ เกิดหลอดเลือดตีบตันหรือแตก
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน มีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงสมองมีการอุดตันและเกิดอาการต่างๆ ที่กล่าวมาได้
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทำให้มีลิ่มเลือดหลุดไปอุดเส้นเลือดสมองได้
การสูบบุหรี่ มีความเสี่ยงก่อให้เกิดหลอดเลือดตีบหรืออุดตันที่สมองและหัวใจ
- ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเร็วกว่าปกติ
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มาก ขาดการออกกำลังกาย
- ฮอร์โมนบางอย่าง โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้หลอดเลือดดำในสมองอักเสบ
- โรคอ้วน หรือโรคอ้วนลงพุง
ทั้งนี้อาการของโรคที่พบบ่อยคือ ร่างกายออ่อนแรง หน้าเบี้ยว ตาพร่ามัว พูดลำบาก ฟังไม่เข้าใจ เวียนหัว เดินเซ ลิ้นแข็งกลืนอาหารลำบาก และซึมโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันเป็นมากขึ้นไมเกิน 1-7 วัน ก็จะแสดงออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งหนึ่งหรือพร้อมกันทีเดียว ถ้าผู้ป่วยเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง
ด้านการตรวจสมองและหลอดเลือดจะใช้วิธีเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)Computed Tomography Angiography, คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) Magnetic Resonance Imaging และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRA)Magnetic Resonance Angiography เป็นวิธีการตรวจเนื้อสมองที่ให้รายละเอียดแม่นยำกว่า CT Scan
ต่อมาคือการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อประเมินหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดคอ (Carotid duplex, Transcranial doppler)เป็นการตรวจโดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือด และท้ายสุดการตรวจด้วยการฉีดสีเข้าหลอดเลือด(Angiogram) เป็นวิธีการที่ต้องใช้สายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบเพื่อฉีดสารทึบแสงเพื่อดูหลอดเลือดสมอง ผู้รักษาจะพิจารณาส่งตรวจโดยวิธีนี้เฉพาะกรณีที่จำเป็น
เมื่อตรวจวินิจฉัยโรคได้แน่ชัดแล้ว นายแพทย์ชนรัฐ อธิบายถึงวิธีการรักษาไว้อยู่ 3 วิธีที่จะต้องทำควบคู่กันคือ การให้ยาละลายลิ่มเลือด และยา Aspirin โดยผู้ป่วยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทยอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ
ทั้งนี้ เพื่อห่างไกลโรคดังกล่าว เมื่ออายุเริ่มมากขึ้น ต้องหมั่นไปเช็คสุขภาพ โดยเฉพาะการตรวจวัดความดัน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพบว่ามีความดันโลหิตที่มากกว่า 140/90 mmHg ควรพบแพทย์ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยการลดอาหารเค็ม และรับประทานยาลดความดันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดรับประทานยาลดความดันเอง โดยแพทย์ไม่ได้สั่งงด เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่เป็นแล้วมักจะเป็นตลอดชีวิต และไม่ค่อยแสดงอาการ
นอกจากนั้นควรมีการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะหัวใจว่ามีความผิดปกติของการเต้นของหัวใจหรือไม่ และที่สำคัญ ควรหยุดสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมง ตรวจสุขภาพทุกปีเพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด และหากมีปัญหานอนกรน มีภาวะหยุดหายใจชั่วคราวระหว่างนอนหลับก็ควรรีบปรึกาแพทย์ ก็เป็นจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live