บึงบอระเพ็ด เป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีเนื้อที่กว้างขวางประมาณ 133,000 ไร่ อยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอท่าตะโก อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เดิมบึงแห่งนี้เป็นที่ราบลุ่มได้รับน้ำฝนและน้ำป่า จากที่ราบสูงทางทิศตะวันออกไหลเข้าสู่ตามลองต่าง ๆ แล้วไหลออกสู่แม่น้ำน่านทางคลองบึงบอระเพ็ด เมื่อถึงฤดูน้ำหลากพื้นที่แห่งนี้จะท่วมท้นกลายเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดของภาคกลางตอนบน
บึงบอระเพ็ดมีความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วย ทรัพยากรธรรมชาติ อันได้แก่ พืชพรรณไม้น้ำ สัตว์น้ำและนกน้ำ
ด้วยภูมิประเทศพื้นที่ที่แตกต่างกันจึงทำให้พบนกชนิดที่แตกต่างกันมากที่สุดในทวีปเอเชีย พบว่า มีนกต่าง ๆ อาศัยมากกว่า 44 วงศ์ 100 สกุล 156 ชนิด เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2511 นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทยได้พบนกชนิดใหม่ล่าสุดและพบที่เดียวในโลกที่บึงบอระเพ็ดเท่านั้น จึงได้ขอพระราชทานนามตั้งชื่อนกนี้ว่า “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินทร” ต่อมา กรมป่าไม้ได้ประกาศพื้นที่บึงบอระเพ็ดให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เมื่อ พ.ศ. 2518 เพื่อปกป้องคุ้มครองและอนุรักษ์นกเจ้าฟ้าและนกน้ำทั้งหลายให้อยู่อย่างสงบสุขตลอดไป
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ที่น้ำท่วมขังตลอดปี เป็นบริเวณกว้างอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 23 เมตร สภาพพื้นที่เป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยพื้นที่ที่เป็นทุ่งนาบริเวณพื้นน้ำจะมีพืชพันธุ์ไม้น้ำชนิดต่าง ๆ ได้แก่ พืชใต้น้ำ พืชลอยน้ำ พืชพ้นน้ำ พืชชายเลน ป่าพรุ และเกาะต่าง ๆกระจายอยู่ทั่วไป
ตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
บึงบอระเพ็ดตั้งอยู่ ณ. ตำแหน่งภูมิศาสตร์ที่ละติจูด 15 องศา 40 ลิปดา ถึง 15 องศา 45 ลิปดาเหนือ และ ลองจิจูด 100 องศา 10 ลิปดา ถึง 100 องศา 23 ลิปดาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 132, 737 ไร่ หรือ 212.3792 ตารางกิโลเมตร อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดนครสวรรค์ รวม 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอชุมแสง และอำเภอท่าตะโก ซึ่งทั้ง 3 อำเภอได้แบ่งเขตที่กลางบึงบอระเพ็ด โดยมีอาณาเขต ดังนี้ ทิศเหนือ ขนานไปกับคลองปลากดในเขต อำเภอชุมแสง ท้องที่ตำบล ทับกฤช มีถนนสายทับกฤช – ท่าตะโก โดยได้แบ่งพื้นที่บึงบอระเพ็ดไปส่วนหนึ่งซึ่งพื้นที่ในด้านนี้จะมีความตื้นเขินมาก และมีราษฎร บุกรุกจับจองมากที่สุด ทิศตะวันออก จากปากคลองปลากดใน ถึงบ้านแหลมจันทร์ ในเขตอำเภอชุมแสงผ่านบ้านคลองบอน บ้านกระทุ่มเจ้า บ้านปากง่ามเหนือ ในเขตอำเภอท่าตะโก รวมถึงพื้นที่เขาพนมเศษ ทิศใต้ อยู่ในเขตอำเภอท่าตะโก และอำเภอเมือง ซึ่งจะขนานไปกับถนนสายนครสวรรค์ – ท่าตะโก ทิศตะวันตก อยู่ในเขตตำบลแควใหญ่ ตำบลเกรียงไกร อำเภอเมือง และ ตำบล ทับกฤช ในเขตอำเภอชุมแสงใช้ทางรถไฟเป็นขอบเขตจากสถานีรถไฟนครสวรรค์(สถานีหนองปลิงเดิม)ถึงสถานีคลองปลากด
ลักษณะทางกายภาพ
ลักษณะทางกายภาพ
บึงบอระเพ็ดตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศร้อนชื้นแบบสะวันนา มีช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งชัดเจน ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงมีฝนตกชุกในฤดูฝนและได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงหนาวเย็นและแห้งแล้งในฤดูหนาว ชึ่งฤดูร้อนมีอากาศร้อนจัด อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 28.4 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 69.6 % ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,081.9 มม./ปี บึงบอระเพ็ดมีพื้นที่รับน้ำประมาณ 2.75 ล้านไร่ หรือ 4,400 ตร.กม. ระดับความลึกเฉลี่ยของน้ำในบึงประมาณ 1.6 เมตร บริเวณที่ลึกที่สุดประมาณ 5 เมตร ระดับน้ำต่ำสุดในเดือนสิงหาคม และสูงสุดในเดือนตุลาคม มีเนื้อที่ผิวน้ำประมาณ 62,500 ไร่ (100 ตร.กม.) ในบึงมีเกาะเล็กๆ อยู่ราว 10 เกาะ เนื้อที่ประมาณ 900 ไร่ (1.44 ตร.กม.) เกิดจากการทับถมรวมตัวของพันธุ์ไม้น้ำ
ลักษณะทางนิเวศวิทยา บึงบอระเพ็ดเป็นระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ประกอบด้วยพื้นที่น้ำขังซึ่งในฤดูน้ำหลากเป็นบึงน้ำใหญ่ผิวน้ำเปิดโล่ง บริเวณที่มีระดับความลึกของน้ำไม่มากนักมีพืชลอยน้ำเกาะกลุ่มอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือ พืชลอยน้ำเกาะกลุ่มใหญ่จนมองดูคล้ายเกาะลอย มีทุ่งบัว มีบริเวณที่เป็นเกาะซึ่งเดิมเป็นเนินดิน เมื่อสร้างประตูน้ำแล้วน้ำท่วมไม่มิด บริเวณที่ลุ่มชื้นแฉะ ป่าพรุและป่าละเมาะริมบึง ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างระบบนิเวศน้ำและบก น้ำท่วมเฉพาะในช่วงน้ำมาก มีพืชยืนน้ำขึ้นอยู่หนาแน่น และโดยรอบบึงเป็นทุ่งนาและทุ่งหญ้า เนื่องจากมีลำน้ำลำห้วยไหลลงสู่บึง พัดพาตะกอนและธาตุอาหารสะสมอยู่ จึงอุดมด้วยพืชและสัตว์นานาชนิด ที่สำคัญคือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนให้กับแม่น้ำเจ้าพระยา และ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยหากินสร้างรังวางไข่ของนกนานาชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพย้ายถิ่น
การปรับปรุงบึงบอระเพ็ด
การปรับปรุงบึงบอระเพ็ด
ปี พ.ศ. 2502 มีการปรับปรุงบึงครั้งแรกโดยลดระดับน้ำ ผลผลิตสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมแล้วลดลง
ปี พ.ศ. 2515 มีการปรับปรุงบึงบอระเพ็ดครั้งที่ 2 โดยการลดระดับน้ำเช่นเดียวกับครั้งแรก ผลผลิตเพิ่มขึ้นแล้วลดลง
ปี พ.ศ. 2534-2536 ได้ปรับปรุงบึงครั้งใหญ่โดยการขุดลอกตะกอน บูรณะปรับปรุงฝายกั้นน้ำใหม่เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้มากขึ้นโดยสามารถกักเก็บน้ำได้ในระดับความสูง 24 เมตร
Credit:
Dominic