เพื่อนๆคงจะเคยได้ยินข่าวมาบ้างเกี่ยวกับ ปลาประหลาดที่มีฟันเหมือนมนุษย์! ซึ่งความจริงแล้วเพียงเพราะ ปลาเปคู (Pacu) มันกินพืชเป็นอาหาร ทำให้มีรูปร่างฟันกับมนุษย์นั่นเอง เริ่มสนใจปลาตัวนี้แล้วสิ ตาม teen.mthai ไปศึกษา ปลาเปคู (Pacu) ปลาฟันคน ตัวนี้กันคะ
ปลาเปคู (Pacu) ปลาฟันคน
รู้รึไม่? ปลาเปคู (Pacu) ปลาฟันคน เป็นญาติกับ ปลาปิรันยา !!!
ปลาเปคู หรือ ปลาคู้ หรือที่นิยมเรียกกันในเชิงการเกษตรว่า ปลาจะละเม็ดน้ำจืด (อังกฤษ: Pacu) เป็นชื่อสามัญที่เรียกปลาน้ำจืดจำพวกหนึ่งในวงศ์ปลาคาราซิน (Characidae) ในวงศ์ย่อย Serrasalminae หรือวงศ์ย่อยของปลาปิรันยา ปลาเปคูมีรูปร่างโดยรวมคล้ายกับปลาปิรันยา ซึ่งอยู่ในวงศ์ย่อยเดียวกัน หากแต่อยู่ต่างสกุลกันโดยปลาเปคูนั้นจะมีรูปร่างที่ใหญ่โตกว่าปลาปิรันยามาก โดยอาจยาวได้ถึง 80-110 เซนติเมตร และอาจหนักได้เกือบ 40 กิโลกรัม และมีพฤติกรรมที่ต่างกัน คือ ปลาเปคูจะกินได้ทั้งพืชและสัตว์ โดยบางครั้งอาจจะขึ้นไปบนผิวน้ำเพื่อรอกินผลไม้หรือลูกไม้ที่ร่วงหล่นจากต้นได้เลย ขณะที่ปลาปิรันยาจะกินแต่เนื้อเพียงอย่างเดียว อีกประการหนึ่งที่แตกต่างกัน คือ ฟันและกรามของปลาเปคูแม้จะแข็งแรงและแหลมคม แต่ก็ไม่เป็นซี่แหลมเหมือนปลาปิรันยา และกรามล่างจะไม่ยื่นยาวออกมาจนเห็นได้ชัด ปลาเปคูมักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง กระจายพันธุ์ในลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้เช่น อเมซอน, โอรีโนโก เป็นต้นปลาเปคู (Pacu) ปลาฟันคน เป็นปลาเศรษฐกิจ ปลาเปคู (Pacu) ปลาฟันคน เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงกันเป็นปลาเศรษฐกิจในหลายส่วนของโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย เนื่องจากเป็นปลาที่โตได้เร็วมาก กินเก่ง กินอาหารได้ไม่เลือก อีกทั้งยังพบว่า ปลาเปคู ช่วยในการกำจัดหอยเชอรี่ อันเป็นศัตรูข้าวที่สำคัญได้อีกด้วย ประกอบกับเนื้อมีรสชาติอร่อยสามารถปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย อีกทั้งนิยมตกกันเป็นเกมกีฬาด้วย แต่ด้วยความแพร่หลายนี้ ทำให้กลายเป็นปัญหาของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในบางพื้นที่ สำหรับในประเทศไทย ชนิดของ ปลาเปคูที่นำเข้ามาและนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย คือ ปลาคู้แดง (Piaractus brachypomus) และปลาคู้ดำ (Colossoma macropomum) ซึ่งเป็นชนิดที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งทั้งสองชนิดนี้ยังนิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงามด้วย