สำอาง เลิศถวิล หรือ รู้จักกัน ว่า ยายสำอาง วนิพกที่ร้องเพลงขอทานแลกเศษเงิน ผู้เป็นต้นกำเนิดให้คาราบาว แต่งเพลง ยายสำอาง ขึ้นมา คุณ ยายสำอาง เลิศถวิล เป็นวณิพกร้องเพลงขอทาน อยู่หน้าบ้านอาจารย์อภัย นาคคง (อาจารย์สอนอยู่ที่เพาะช่าง) เรื่องราวของยายรู้ถึงคุณเอนก นาวิกมูล ก็ได้มีการช่วยเหลือกัน โดยได้พาไปโชว์เพลงขอทานที่ศูนย์สังคีตศิลป์ และรายการโทรทัศน์ต่างๆ จึงทำให้คนทั่วไปได้รู้จักเพลงขอทาน
ยายสำ อางค์ มีชื่อจริงว่า นางสำอางค์ เลิศถวิล (เดิมที่คนไทยนิยมเขียนว่า สำอางค์ แต่ที่ถูกต้องตามพจนานุกรมคือ สำอาง) เป็นชาวบางช้าง จังหวัดสมุทรสาคร พ่อแกเป็นคนจีน เมื่อแกคลอดออกมาจึงไม่เป็นที่ชอบใจของผู้เป็นพ่อ ตามธรรมเนียมจีนที่เห็นลูกชายดีกว่า ประกอบกับเมื่อแรกคลอดแกไม่ค่อยแข็งแรงนัก พ่อและแม่จึงนำแกไปทิ้งไว้ที่ศาลาวัดบางน้อย หวังจะทิ้งให้ตายหรือไม่ก็ให้ใครเก็บไปเลี้ยง เดชะบุญที่มีวณิพกสองคนผัวเมียผ่านมาพบเข้าเลยนำแกไปเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม
เขา ว่า แหม อีเด็กคนนี้ใจแข็ง มันยังไม่ตาย ทีนี้ผีสางพ่อบุญธรรมเขาถามว่า เด็กยังไม่ทันจะตายทำไมเอามาทิ้ง ? ก็มันจะตายแล้ว แกอยากได้แกเอาไปเหอะ พ่อบุญธรรมก็เอาฉันลงเรือ แล้วเขาปั้นดินแทนตัวฉันทิ้งเอาไว้?? ยายสำอางค์เล่า (คำว่าผีสางใช้เรียกเป็นคำนำหน้าเมื่อพูดถึงผู้ที่ตายไปแล้ว เป็นคำพูดพื้นบ้านของชาวภาคกลาง)
พ่อ แม่บุญธรรมที่ยากจนแต่ไม่จนน้ำใจพาเด็กน้อยออกร่อนเร่พเนจรร้องเพลงขอทานไป เรื่อย เมื่ออายุครบขวบตาแกก็บอด เห็นเขาว่าเป็นเกล็ดกระดี่ เจ็บตาเรื่อยมาจนบอดในที่สุด บทเพลงต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังถูกซึมซับเข้าไปในวิญญาณของแกทีละน้อย จนแกสามารถขับร้องเพลงขอทานได้อย่างเชี่ยวชาญ ยายสำอางค์เป็นคนอารมณ์ดี พูดคุยสนุก เข้ากับใครได้ง่ายๆ น้ำเสียงของแกก้องกังวาน ถึงคราวต้องสนุกสนานแกก็ร้องล้อกับเสียงโทน เสียงฉิ่งได้อย่างคึกครื้น เมื่อถึงคราวต้องเศร้า แกก็ขับกล่อมได้อย่างโหยหวนเรียกน้ำตาผู้ฟังได้ดีนัก
สมัย นั้นไม่ได้มีโทรทัศน์ดูเหมือนสมัยนี้ วิทยุนั้นหรือก็เป็นของฟุ่มเฟือยเกินกว่าจะหาซื้อไว้ตามบ้าน นานๆ ทีถึงจะมีงานบุญ มีมหรสพมาให้ได้บันเทิงใจกันสักครั้ง พวกวณิพกนี้ก็ได้ออกให้ความบันเทิงแกชาวบ้านด้วยการขับกล่อมเพลงเล่าเรื่อง ราวนิทานพื้นบ้าน อย่างพระรถเมรี ขุนช้างขุนแผน ลักษณวงศ์ เป็นต้น ยายสำอางค์เคยมีผัวมาก่อนสองคน แต่ก็ตายจากกันไปเสียทั้งคู่ แกอยู่กับผัวคนที่สาม อายุ 80 กว่าแล้ว ชื่อตาผาด (ในหนังสือบันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2527 คาดว่าอาจจะเสียชีวิตไปแล้ว) เวลาไปไหนมาไหนยายสำอางค์ก็ได้ตาผาดนี่แหละเป็นตามองทางแทน
ยายสำ อางค์เคยถูกกรมประชาสงเคราะห์พาไปดูแล แกได้แต่นั่งๆ นอนๆ ไปวันๆ ทำให้แกอึดอัดเป็นที่สุด คุณเอนกเล่าว่าเดี๋ยวนี้ (ขณะคุณเอนกสัมภาษณ์) ยายสำอางค์อาศัยอยู่ในบ้านพักหลังเล็กๆ แถววัดบางแวก ซอยพาณิชย์ธน (จรัลสนิทวงศ์ 13) ? ค้นข้อมูลล่าสุดได้ความว่าแกเสียชีวิตเสียแล้ว (ข้าพเจ้าไม่ทราบวันที่แน่นอน)
บันทึกนี้เรียบเรียงจากบทความ ชีวิตวณิพก ในหนังสือ อยู่อย่างชาวสยาม เขียนโดยคุณเอนก นาวิกมูล ยังพบมีวางจำหน่ายตามร้านหนังสือ ท่านผู้ใดสนใจลองไปหาซื้ออ่านดู และขอขอบพระคุณคุณเอนกที่ได้บันทึกเรื่องราวดีๆ อย่างนี้ไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษากันต่อไป