อำเภอฮอด "พิศดารนคร" เมืองร่วมสมัยก่อตั้งหริภุญชัยและล้านนา

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ตำนานเมืองฮอด 

 

ที่มา: http://picpost.mthai.com/view/52647


       หากย้อนกลับไปดูตำนานประวัติศาสตร์เมืองฮอดและตำบลฮอด จะพบว่า ฮอดนั้นเป็นชุมชนที่มีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาเก่าแก่ยาวนานมาก 


       จากเอกสารข้อมูลประวัติศาสตร์ โครงการสำรวจชุมชนโบราณท่าเชียงทอง ยุคก่อนหริภุญไชย ‘ย้อนรอยพระนางจามเทวี ตามหาท่าเรือเชียงทอง’ ของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หริภุญไชย สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ได้ระบุถึงการตั้งถิ่นฐานชุมชนบ้านเมืองสมัยก่อนรัฐล้านนา เอาไว้ว่า แอ่งพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน หรือเขตลุ่มแม่น้ำปิงตอนบนนี้ ปรากฏหลักฐานการตั้งถิ่นฐานชุมชน มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตอำเภอสันกำแพง-ดอยสะเก็ด และอำเภอจอมทอง-ฮอด 


       นอกจากนั้น จากการสืบค้นตำนานหลายตำนาน ยังระบุไว้อีกว่า ฮอด เคยเป็นชุมชนที่มีความสำคัญตั้งแต่ยุคของการก่อตั้งเมืองหริภุญชัยและอาณาจักรล้านนา เนื่องจากฮอดเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญของแม่น้ำปิงอีกแห่งหนึ่ง ที่ผู้คนสมัยนั้นได้ใช้เป็นเส้นทางติดต่อกับหัวเมืองต่างๆ ทางท้ายน้ำ ล่องลงไปตามลำน้ำแม่ปิงไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา 


       ว่ากันว่า ในสมัยก่อน ตั้งแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา และลพบุรี ระหว่างหัวเมืองฝ่ายเหนือกับหัวเมืองฝ่ายใต้ได้มีการใช้เส้นทางคมนาคมทางน้ำ โดยอาศัยแม่น้ำปิงในการเดินเรือมาโดยตลอด 


       มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ประมาณ 1,300 ปี ล่วงมาแล้วครั้งนั้น เมืองหริภุญชัยนคร เมืองลำพูน ในสมัยนั้น มีพื้นที่ส่วนใหญ่รอบๆเมืองยังเป็นป่าที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมาย อีกทั้งยังมีไข้ป่าชุกชุม ตำนานได้กล่าวไว้ว่า มีฤาษีสองตนนามว่า วาสุเทพฤาษี และสุภกทันตฤาษี ทั้งสองฤาษีเป็นสหายกัน ได้ปรึกษาหารือถึงการจะสร้างเมืองหริภุญชัย ริมฝั่งแม่น้ำกวง เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้ว ขาดผู้ที่จะปกครองบริหารบ้านเมือง ฤาษีทั้งสองตนจึงส่งสารมอบให้ ควิยะบุรุษเป็นทูตไปอัญเชิญพระนางเจ้าจามเทวี ธิดาของพระเจ้าจักรวรรษดิ์ หรือบางตำนานเรียกว่า ลพราชา กษัตริย์ขอมแห่งกรุงละโว้ ลพบุรี เห็นชอบจึงมีพระบรมราชโองการให้พระราชธิดาทรงพระนามว่า ‘พระนางจามเทวี’ เสด็จครองเมืองหริภุญชัย พร้อมไพร่พลประกอบด้วย เศรษฐี คหบดี 500 คน 


       พระนางจามเทวีได้รวบรวมไพร่พลโดยทางเรือรอนแรมขึ้นตามลำน้ำแม่ปิง ผ่านเกาะแก่งต่างๆ ด้วยความลำบากยากเข็ญ บรรดาไพร่พลหลายนายได้เสียชีวิตด้วยไข้ป่า สัตว์ป่าและเรืออับปาง 


       ในระหว่างการเดินทางอันยาวนานนั้น ได้เสด็จผ่านหมู่บ้านที่มีผู้คนอาศัยริมน้ำ เช่น เวียงระแกง หรือระแหง ได้หยุดพักทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องใช้ ออกตากแดด ณ สถานที่เวียงกะทิกะ (ปัจจุบันคืออำเภอบ้านตาก) รอนแรมจนกระทั่งถึงหมู่บ้านซึ่งผู้คนเซื่องซึม ง่วงเหงา ไม่ค่อยร่าเริง จึงขนานนามว่า เวียงเทพบุรีหรือจำเหงา ปัจจุบันคืออำเภอสามเงา จังหวัดตาก นับเวลาที่เสด็จรอนแรมมาได้หนึ่งเดือนเศษ ได้บรรลุถึงสถานที่กว้างขวางแห่งหนึ่งเห็นว่าประหลาดนักได้ให้ไพร่พลหยุดยั้งพักแรม พระนามจามเทวีได้ให้สร้างนครไว้ที่นี้เป็นที่ระลึกและได้สร้างวัดวาอาราม อุทิศส่วนกุศลให้แก่ไพร่พลที่ได้เสียชีวิตระหว่างการเดินทาง จนกระทั้งเสร็จเรียบร้อย ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง พุทธศักราช 1201 ขนานนามว่า ‘พิศดารนคร’ 


       ปัจจุบัน สันนิษฐานว่า ‘พิศดารนคร’ อยู่บริเวณบ้านวังลุง หมู่ที่ 3 ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ 


       ในบางตำนาน ก็ระบุเอาไว้ใกล้เคียงกันว่า ในช่วงราวปี พ.ศ.1204 กษัตริย์กรุงละโว้(ลพบุรีในปัจจุบัน) ทรงมีพระราชดำริที่จะมอบหมายให้ราชธิดาของพระองค์ซึ่งมีนามว่า ‘พระนางจามเทวี’ เสด็จขึ้นครองเมืองหริภุญไชยในภาคเหนือ ทรงมีพระราชโองการสั่งให้พระนางจามเทวีนำไพร่พลเดินทางโดยทางเรือรอนแรมตามลำน้ำปิง ผ่าน เกาะแก่งต่าง ๆ อย่างลำบากยากเย็นแสนเข็ญแทบเอาชีวิตไม่รอด บรรดาไพร่พลต่าง ๆ ก็เสียชีวิตในขณะเดินทางด้วยไข้ป่า สัตว์ป่า และความลำบากยากเย็น จากแก่งหินที่ทำให้เรือแตกล้มตายเป็นอันมาก 


       ดังนั้นตามระยะเส้นทางเดินทัพของพระนางจามเทวีในสมัยนั้นจึงมีชื่อต่าง ๆ เช่น ผาสามเงา ผาอาบนาง ผานางนอน แก่งม้า ผาหมอน ฯลฯ ไปตลอดเส้นทางจนถึงบ้านชาวเขาและหมู่บ้านหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำปิง ปรากฏว่าจำนวนไพร่พลที่ยกกำลังติดตามมาล้มตาย เป็นจำนวนมาก อาหารก็ไม่เพียงพอ จึงสั่งให้หยุดพักรี้พลเพื่อหาเสบียงอาหารทำนาเพาะปลูกข้าวเพื่อเก็บเสบียง และได้โปรดให้สร้างวัดและเจดีย์ไว้เป็นอันมาก จากตำนานระบุไว้ว่า ได้ทรงสร้างวัดทั้งสิ้น 99 วัด เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับไพร่พลที่ล้มตายระหว่างที่ร่วมเดินทางกับพระนางจามเทวีในครั้งนั้น 


       นอกจากนั้น ยังทรงสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้นมาด้วย โดยชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า ‘พระเจ้าโท้’ ว่ากันว่า คำว่า ‘โท้’ นั้น แผลงมาจาก ‘โท๊ะ’ เป็นคำอุทานภาษาล้านนา แปลว่า ใหญ่โต 


       ในตำนาน ยังว่าไว้อีกว่า ได้มีการขานเรียกหมู่บ้านชุมชนแห่งนั้นว่า ‘เมืองหอด’ ซึ่งคำว่า ‘หอด’ นั้น แปลว่า ‘หิว’ หรือ ‘อดอยาก’ แต่ต่อมา เมื่อวันเวลาผ่านไปเนิ่นนานหลายศตวรรษ การเรียกชื่อก็เพี้ยนไป กลายเป็น ‘ฮอด’ ซึ่งทำให้ความหมายนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะคำว่า ‘ฮอด’ นั้นแปลว่า "ถึง" หรือ "บรรลุ" ซึ่งหมายถึงการเดินทางของพระนางจามเทวีนั้นได้ผ่านความอดอยาก ทุกข์ยาก ลำบากมามากหลาย กว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง


       สอดคล้องกับในหนังสือ ‘จอมนางหริภุญไชย’ ของอาจารย์กิตติ วัฒนะมหาตย์ ซึ่งมีความเห็นว่าในหนังสือตำนานในแต่ละเล่มได้แก่ ตำนานมูลศาสนา กรมศิลปากร พ.ศ.2519,ตำนานพื้นเมืองฉบับนายสุทธิวารี สุวรรณภาชน์ จากหนังสือ พระราชประวัติพระแม่เจ้าจามะเทวี บรมราชนารีศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญชัย พ.ศ. 2525, ตำนานพื้นเมือง ฉบับพระมหาหมื่น วัดหอธรรม จ.เชียงใหม่ จากหนังสือ ประชุมตำนานลานนาไทย พ.ศ.2515 และตำนานพื้นเมือง ฉบับนายยุทธ เดชคำรณ จากหนังสือ ล่องแก่งแม่ปิง พ.ศ.2510 ที่กล่าวถึงเส้นทางขบวนเสด็จของพระนางจามเทวีจากละโว้ หรือกรุงลวปุระสู่เมืองหริภุญไชย นั้นมีรายละเอียดและคล้ายคลึงกันหลายแห่ง โดยในเอกสารดังกล่าว มีการระบุถึง ท่าเชียงทองและเมืองฮอด เอาไว้อย่างสอดคล้องและใกล้เคียงกัน ว่าได้มีการเคลื่อนพลมาถึงเมืองฮอด และได้หยุดพักไพร่พลอยู่บริเวณนั้น 


       ในพงศาวดารโยนก มีการกล่าวถึง ท่าเชียงทองและเมืองฮอด เอาไว้ใน ปริเฉทที่ 7 ว่าด้วยระยะทาง ไว้ว่า พระนางจามเทวี เสด็จออกจากละโว้มายังหริภุญไชยทางชลมารค โดยได้กล่าวถึงสถานที่พักพลของพระนางจามเทวีตามลำดับ คือ เมืองประบาง(ปากบางหมื่นหารใกล้ปากน้ำบางพุทรา) เมืองคันธิกะ(ชัยนาท) เมืองบุรัฐฐะ(นครสวรรค์) เมืองบุราณะ(ท่าเฉลียง) เมืองเทพบุรี(บ้านโคนหรือวังพระธาตุ) เมืองบางพล(กำแพงเพชร) เมืองรากเสียด(เกาะรากเสียด) หาดเชียงเรือ(เชียงเงิน) บ้านตาก จามเหงามหรือสยามเหงา(สามเงา) ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำวังบรรจบกับแม่น้ำปิง ผาอาบนาง และผาแต้มหรือผาม่าน บ้านโทรคาม ท่าเชียงทอง รมณียาราม และเสด็จเข้าสู่เมืองหริภุญไชย 


       “ถัดแต่นี้ขึ้นไปถึงที่ตำบลหนึ่ง มีผาตั้งขวางน้ำกั้นหน้าไว้ ไม่แลเห็นช่องทางที่จะไปในเบื้องหน้า นางจามเทวีก็ปรึกษาปรารภกับพี่เลี้ยงทั้งหลายว่า ไม่มีช่องทางไปแล้วก็จักกลับคืน จึงให้คนใช้ไปเลียบดูตามริมแม่น้ำ เข้าก็ได้เห็นช่องทางที่น้ำเลี้ยวพ้นหน้าผานั้นขึ้นไปได้ คนใช้ก็กลับมาทูลแด่นางจามเทวีให้ทราบ นางก็เคลื่อนเรือที่นั่งขึ้นมาถึงหน้าผานั้น จึงให้ช่างวาดเขียนรูปช้างแปรหน้าคืนไว้ที่หน้าผานั้น สถานที่นั้นมีนามปรากฏว่า ผาแต้ม ครั้นนานมา คนทั้งหลายบางพวกก็เรียกว่า ผาม่าน ด้วยเหตุสัณฐานเหมือนผ้าม่านอันขึงกั้นขวางแม่น้ำไว้ นางจามเทวี ยกจากที่นั่นขึ้นมาถึงเมืองร้างแห่งหนึ่ง ขึ้นตั้งพักรี้พลอยู่ มีฝูงเต่าปลามาเบียดเบียน คนทั้งหลายอยู่มิเป็นสุข สถานที่นั้นจึงได้ชื่อว่า ดอนเต่า ยกแต่ที่นั้นขึ้นไปถึงที่ตำบลหนึ่ง ชื่อว่า บ้านโทรคาม เป็นที่ราบรื่นรมย์สถานพอพระทัยนัก พระนางเธอจึงตั้งพักรี้พลอยู่ ณ สถานที่นั้น แล้วให้สถาปนาสถูปองค์หนึ่ง ชื่อ วิปะสิทธิเจดีย์ ครั้นก่อสร้างสำเร็จก็ฉลองและกระทำการสักการบูชาเป็นอันมาก ครั้นยกจากตำบลโทรคามนั้นต่อไปถึงท่าเชียงทอง ก็หยุดประทับที่นั้น มีชาวบ้านหญิงชายพากันมาเป็นอันมาก นางจึงให้สาวใช้ไต่ถามคนทั้งหลายเหล่านั้นว่า “ดูกร ชาวพ่อชาวแม่ทั้งหลาย แต่นี้เมือถึงเมืองลำพูน ยังประมาณมากน้อยดังฤาจักฮอดจา” คนทั้งหลายขานคำตอบว่า “ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า แต่นี้ถึงเมืองลำพูนนั้น ดังข้าทั้งหลายได้ยินมาว่า หนึ่งโยชน์ แลนา” สถานที่นี้ คือ เมืองฮอดบัดนี้


       ในขณะที่ชาวบ้านเมืองฮอดคนหนึ่ง ก็ได้บอกเล่าตำนานให้ฟังว่า “เมืองฮอด มีมาตั้งแต่สมัยนางจามเทวี ซึ่งอยู่ลพบุรี สมัยนั้น พอลำพูนไม่มีใครครอง ก็ได้เชิญนางจามเทวีให้มาอยู่ครองที่ลำพูน ก็เดินทางขึ้นมาตามแม่น้ำปิง พอมาถึงแถบอำเภอสามเงา ก็มายืนอยู่ที่ผา มองดูแล้วว่าคนเดียวนั้นมีสามเงา ต่อมา เลยชื่อว่าอำเภอสามเงา จังหวัดตาก พอขึ้นเหนือมาตามแม่น้ำปิงเรื่อยๆ ก็ได้ตากผ้า ตากเสื้อ เขาจึงเรียกว่าจังหวัดตาก ครั้นพอมาถึงที่ฮอด หลายคนก็เกิดการล้มหายตายจาก ลูกศิษย์ลูกหา และทหารก็มาถึงเมืองฮอด ก็บอกว่า ‘มาฮอดแล้ว ไม่ตายแล้ว’ ก็เลยมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ และมีการตั้งเมืองพิสดารอยู่ที่นี่ ก็เลยตั้งชื่อว่า เมืองฮอด หรืออำเภอฮอดในปัจจุบันนี้”


       เช่นเดียวกับ ‘ตำนานพิสดารนคร’ ก็ได้บอกเล่าไว้ว่า ระหว่างเส้นทางโดยเสด็จทางเรือ สายน้ำเปี่ยมฝั่ง บางแห่งเป็นเกาะแก่ง หลั่นหิน โตรกธารซอกผา บางแห่งเป็นเวิ้งน้ำ เป็นวังวน ผ่านป่าเขาลำเนาอันโหดร้าย เส้นทางเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ ด้วยความเหนื่อยยากลำบาก ทำให้ไพร่พลต้องล้มตายไปด้วยไข้ป่าอ่อนล้า หิวโหย และเรืออับปางเป็นจำนวนมาก แต่พระนางหาได้ย่อท้อไม่ 


      ครั้นเสด็จรอนแรมมาได้เดือนเศษ จึงบรรลุถึงที่แห่งหนึ่ง เป็นคุ้งน้ำ งดงามเรียบนิ่ง น้ำใส ทรายสะอาด ธรรมชาติมีเสน่ห์ งดงาม เหมือนมีมนต์ขลัง พระนางจึงหยุดพังการเดินทางไว้ ณ ที่แห่งนี้ บรรดาคหบดี ไพร่พลที่เดินทางมาด้วย ต่างอุทานว่า ฮอดแล้ว รอดตายแล้ว หรือบรรลุแล้ว ด้วยความงดงามของธรรมชาติพระนางจึงโปรด ที่จะสร้างเมืองไว้ ณ ที่แห่งนี้ ด้วยปณิธานว่า เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันศัตรูของหริภูญชัย ยามเกิดศึกสงครามเป็นเมืองไว้พักค้างแรมยามเสด็จกลับเมืองละโว้เป็นเอนุสรณ์สถานอุทิศส่วนกุศลให้ไพร่พลที่เสียชีวิตจากการเดินทาง โดยพระนาง โปรดให้สร้างพระคู่เมืองนามว่า พระเจ้าโท้ พร้อมอนุสรณ์สถาน เจดีย์สูงไว้ใจกลางเมือง ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาทรงสร้างวัดทั้งสิ้น 99 วัด เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับไพร่พลที่ล้มตายระหว่างการเดินทาง เมืองนี้จึงได้เริ่มก่อสร้างขึ้นและสร้างเสร็จเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง พุทธศักราช 1201 และขนานนามว่า พิสดารนคร เมืองหอด หรือ เมืองฮอด ในปัจจุบัน 


       นอกจากนั้น ในตำนานพิสดารนคร ยังได้กล่าวถึง ผาวิ่งชู้ (ปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่บ้านดงดำ ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และกลายเป็นจุดชมวิวที่งดงามแห่งหนึ่งของอำเภอฮอด) 


       โดยในตำนานพิสดารนคร ตอนหนึ่ง ระบุไว้ว่า พระนางจามเทวีเมื่อสร้างเมืองพิสดารนครแล้ว ได้มอบหมายให้พระยาแสนโทปกครองเมืองพิสดารนคร(ฮอด)ต่อ พระยาแสนโทมีบุตรหญิง 1 คนชื่อพระนางแอ่นฟ้า และมีบุตรชาย 1 คน ชื่อพระนาย ต่อมาพระนางแอ่นฟ้าเกิดรักใคร่กับลูกของเสนาผู้หนึ่ง ชื่อน้อยสิงห์คำ ปัญหารักที่ต่าง ฐานันดร ข่าวทราบถึงพญาแสนโทจึงเรียกทั้งสองไปว่ากล่าวตักเตือนหากฝ่าฝืนกฎมณเฑียรบาลมีโทษถึงประหารชีวิต แต่ด้วยรักแท้ที่ทั้งสองมีต่อกันพระนางแอ่นฟ้ากับน้อยสิงห์คำจึงได้พากันหนีออกจากเมืองในเวลากลางดึกสงัด โดยทั้งสองได้ขี่ม้าสีขาวมุ่งออกจากเมืองพิสดารนคร โดยทันทีฝ่ายพระนายผู้น้องเห็นผิดสังเกตจึงเข้าไปดูยังห้องบรรทมของพระนาง แต่ไม่พบจึงนำความเข้าไปกราบทูลบิดา 


       พระยาแสนโททรงกริ้วมากเรียกเสนาอำมาตย์และทหารออกติดตามตลอดทั้งคืนพร้อมด้วยพระนายและรับสั่งว่าถ้าพบทั้งสองให้ลงโทษประหารชีวิตเสียทันที


       เสียงฝีเท้าม้ากระทบแผ่นดินสะเทือนเลือนลั่น กระชั้นชิดเข้าใกล้ ขณะนั้นพระนางแอ่นฟ้าและน้อยสิงห์คำเห็นจวนตัวจึงปรึกษากัน ณ ริมป่าชายทางว่าอยู่ก็ตายไปก็ตาย เราจะกระโดดหน้าผาอันสูงชันนี้ตายด้วยกันทั้งสองคน เห็นควรแล้วจึงเอาผ้าขาวผูกตาม้าเพราะไม่อยากให้เห็นหน้าผาที่สูงลิ่ว 


       พระนางแอ่นฟ้าเห็นว่า น้อยสิงห์คำไม่กล้าบังคับม้าให้กระโดดหน้าผา จึงเปลี่ยนเป็นผู้ขี่ม้าน้อยสิงห์คำนั่งซ้อนท้ายแล้วให้เฆี่ยนม้าอย่างแรงด้วยความเจ็บและตกใจม้าจึงวิ่งออกไปอย่างรวดเร็วกระโดดลงหน้าผาที่สูงชันกว่าห้าสิบเมตรร่างทั้งสองและม้าลอยละลิ่วตกลงเบื้องล่างสู่ ห้วงน้ำแม่ระมิงค์จมไปกับกระแสน้ำหน้าผาแห่งนี้จึงเรียกว่า ‘ผาวิ่งชู้’ ร่างของน้อยสิงห์คำลอยไปติดท่าน้ำห่างออกไปสองกิโลเมตรจึงเรียกที่นั้นว่า ‘บ้านน้อย’ ร่างของพระนางแอ่นฟ้าลอยไปติด ท่าน้ำแห่งหนึ่ง ต่อมาเรียกว่า ‘บ้านแอ่น’ ส่วนผ้าขาวที่ปิดตาม้าจมอยู่ทางทิศเหนือจึงเรียกจุดนั้นว่า ‘วังผ้าขาว’ ร่างของม้าลอยไปติดอีกไม่ไกลนักทางทิศใต้เรียกกันว่า ‘ท่าม้า’


       ส่วนขบวนติดตามของพระนายและทหารติดตามถึงหน้าผาเห็นรอยม้ากระโดดลงหน้าผาจึงถอยม้าหยุดนิ่ง ต่างรู้สึกเสียใจและอาลัยอาวรณ์อย่างยิ่งนัก จนทำให้พระนายผู้น้อง เสียใจตรอมใจจนขาดใจตายข้างลำห้วยที่ติดอยู่กับหน้าผาแห่งนั้น ที่ตรงนั้นจึงเรียกว่า ‘ห้วยพระนาย’ นับแต่นั้นมา พ่อแม่ฝ่ายหญิงก็เสียใจ มาทำบุญให้โดยทิ้งของทำบุญลงน้ำ ของต่าง ๆ ก็ลอยไปติดตามที่ต่าง ๆ เกิดเป็นชื่อหมู่บ้านขึ้นอีก เช่น ข้าวแต๋น กลายเป็น บ้านผาแตน หม้อ กลายเป็นวังหม้อ สลุง กลายเป็นวังสลุง หรือวังลุง เป็นต้น


       จากประวัติศาสตร์ ตำนานดังที่กล่าวมาแล้ว เราจึงมองเห็นร่องรอยของโบราณสถาน โบราณวัตถุกระจัดกระจายเต็มไปทั่วเมืองฮอด ซึ่งซากอิฐ พุทธปฏิมา เจดีย์ อนุสรณ์สถาน คือซากแห่งความหลังที่บ่งชี้และบอกเล่าว่าศรัทธาอันยิ่งใหญ่เคยเกิดขึ้นที่นี่ ครั้งหนึ่ง เมื่อกว่า 1,300 ปีมาแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ของตำบลฮอด เราจะพบว่ามีโบราณสถาน โบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ วัดพระเจ้าโท้ วัดพระบาทแก้วข้าว วัดหลวงฮอด วัดเจดีย์น้อย วัดดอยจ๊อม วัดดอยอูปแก้ว นอกจากนั้น ยังพบเห็นร่องรอยของเศษซากวัดโบราณ เช่น วัดเจดีย์สูง วัดหลวงฮอด วัดศรีโขง วัดสันหนอง วัดดอกเงิน วัดดอกคำ ให้ทุกคนได้เข้าไปเรียนรู้ศึกษาต่อไปอีกด้วย


--------------------------------


       * เมืองฮอด ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงก่อนสร้างเขื่อนภูมิพล


       ‘ฮอด’ คือเส้นทางผ่านของทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2


       พ่อครูจงกล นามเทพ ปราชญ์ท้องถิ่นของฮอด ได้บอกเล่าเอาไว้ว่า มีผู้เฒ่าเคยเล่าให้ฟังว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีพ่อค้าชาวญี่ปุ่นเข้ามาค้าขายและทำแผนที่ไปประเทศพม่า พอเกิดสงครามจริงก็เห็นทหารญี่ปุ่นลอยเรือมาตามลำน้ำแม่ปิง แล้วมาขึ้นวังในเขตพื้นที่ตำบลฮอด เดินทางขึ้นเขาไปทางดอยเหลี่ยม ผ่านไปอำเภออมก๋อย มุ่งสู่ประเทศพม่า ต่อมา พอญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทหารญี่ปุ่นก็แตกทัพลงมาทางอำเภอฮอด แล้วล้มตายจำนวนมาก


       ว่ากันว่า บริเวณทางทิศใต้ของวัดพระเจ้าโท้ของฮอดนั้น เคยเป็นป่าช้าของทหารญี่ปุ่นมาก่อน


       เช่นเดียวกับ พ่อหนานนาค ใจเขียว ชาวบ้านจากฮอด บอกเล่าให้ฟังว่า “สมัยเมื่อตนเองอายุสิบกว่าปี มีทหารญี่ปุ่นเข้ามาพักบ้านของเราเป็นหลังๆ ซึ่งบริเวณที่พัก คือ บ้านหลวงเก่า ตอนที่ทหารญี่ปุ่นเข้ามานั้น เขาก็ไม่ทำอะไร แต่เรากลับมีรายได้จากการขายอาหารให้กับทหารญี่ปุ่น เดินทางผ่านบ้านวังลุง ขึ้นมาพักที่บ้าน พวกเขามาอยู่บ้านเราประมาณครึ่งเดือนแล้วก็เดินทางต่อ บ้านของเราเป็นเพียงทางผ่านของทหารญี่ปุ่น ต่อมา ทหารญี่ปุ่นก็เกิดการล้มตาย ก็ได้นำมาฝังไว้ที่โรงเรียน ซึ่งสาเหตุการตายของทหารญี่ปุ่น คือ ตายเพราะเป็นพยาธิ ตายเพราะความหิวโหย ไม่ได้กินอะไรนั่นเอง”


       “ตอนนั้น ทหารญี่ปุ่นจะมาพร้อมๆ กัน เดินทัพกันมาเป็นกองทัพ และวังลุงก็จะเป็นจุดยุทธศาสตร์ ผมอยู่กับแม่ ซึ่งตอนนี้แม่ก็อายุ 91 ปีแล้ว แม่ก็ได้ช่วยเหลือทหารญี่ปุ่น พ่อก็ได้ของจากทหารญี่ปุ่น จากการบอกเล่ามา ญี่ปุ่นจะเอาปืนมาแลกข้าว มาแลกกล้วย หรืออะไรที่สามารถเป็นอาหาร เพราะว่าข้างบนดอยไม่มีอะไรกิน เวลานอนมดไต่เต็มหน้าตาก็มี ซึ่งตอนนั้นเองแม่ได้เข้าไปช่วย ซึ่งตอนกลางคืน ฝนก็ตก ตอนนั้นเองก็ได้ชวนแม่ไปอยู่ที่ญี่ปุ่นด้วย เพราะแม่เองก็ยังเป็นสาว มีป้าปุ๋น ที่สมัยนั้นเป็นคนที่งาม หน้าตาดี แม่ทัพญี่ปุ่นก็จะพาแกไปทุกที่เลย ฉะนั้น สถานที่ที่วังลุง จึงเป็นสถานที่เดินทัพของทหารญี่ปุ่น แล้วก็มาตายที่วังลุงกันเป็นจำนวนมาก ฮอดเราจึงเป็นเมืองผ่านของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ก็ขึ้นไปทางเส้นสายปาย สายห้วยน้ำดัง ซึ่งสามารถข้ามไปพม่า” นายพิชิต อุดธิ สมาชิก อบต.วังลุง ตำบลฮอด เล่าให้ฟัง


       มีหลักฐานที่ยืนยันมากมายว่า ทหารญี่ปุ่นได้เดินทัพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาทิ การขุดพบซากของมีด ปืน ของทหารญี่ปุ่น แม้ในปัจจุบัน ชาวบ้านบอกว่าจะไม่ค่อยพบเห็นกันแล้วก็ ตาม 


       “เพราะสุดท้าย เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นก็กลับมาเอาศพ คือมาเอากระดูก ส่วนเรื่องปืน หรือว่าอาวุธ คนที่รวยๆ ก็จะได้มาก สุดท้ายเขาก็เอาไปขายให้คนรวย” พ่อหนานนาค ใจเขียว บอกเล่าให้ฟัง


       ฮอด เป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ แผ่นดิน แม่น้ำและป่าไม้


       ฮอด ยังถือว่าเป็นชุมชนท้องถิ่นที่มีผู้คนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์มาอาศัยอยู่ รวมกัน ซึ่งมีทั้งคนพื้นเมือง หรือไทยวน และคนกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ ต่างมีวิถีชีวิตสงบและเรียบง่าย อยู่ร่วมกับผืนดิน ผืนป่าและสายน้ำมาอย่างยาว นาน 


       พ่อครูจงกล นามเทพ เขียนบันทึกคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ชุมชนตำบลฮอด ในยุคหลัง ช่วงคาบเกี่ยวปีพุทธศักราช 2400 เป็นต้นมา ผู้คนประกอบสัมมาชีพด้วยการหาปลา ทำนา ทำไร่ ไปตามอัตภาพ การทำนาอาศัยน้ำจากลำน้ำแม่ฮอด เข้าสู่ลำเหมือง มีเนื้อที่ทำนาประมาณ 1,500 ไร่ ลำน้ำแม่ฮอดเดิมมีน้ำไหลตลอดปี ต้นน้ำอยู่บริเวณดอยคำเป็นป่าทึบ ลำน้ำแม่ปิง เมื่อก่อนนี้ในฤดูฝน น้ำจะเจิ่งนองเต็มฝั่ง ต่อมา บริษัทฝรั่งเข้ามาสัมปทานไม้สัก แล้วชักลากให้ไหลไปตามน้ำปิง แล้วบริษัทไปดักเอาไม้สักที่ปากน้ำโพจังหวัดนครสวรรค์ 


       ฮอด คือเมืองท่า แลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญ 


       นายจงกล โนจา รองนายก อบต.ฮอด เล่าให้ฟังว่า “เมื่อก่อนนั้นมีการเดินทางด้วยทางน้ำ การค้าขายก็ทางน้ำ ซึ่งฮอดเองก็เป็นจุดที่เป็นเมืองท่า มีการเอาสินค้าจากเชียงใหม่หรือจากแม่แจ่ม ผ่านทางลำน้ำแจ่มมาพัก ณ จุดนี้ ถ้ามาถึงที่เจดีย์สูง ก็รู้แล้วว่ามาถึงเมืองฮอดแล้ว” แต่เดิมนั้น ตำบลฮอด แบ่งเขตการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ.2475 เป็นหมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านแควมะกอก หมู่ที่ 1 ,บ้านหลวงฮอด หมู่ที่ 2,บ้านวังลุง หมู่ที่ 3, บ้านห้วยทราย หมู่ที่ 4 โดยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ51ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 31,875 ไร่ และมีอาณาเขตดังนี้ 

     

อ่านต่อได้ที่นี่ >> http://picpost.mthai.com/view/52647

26 พ.ค. 56 เวลา 09:38 5,725 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...