คดีดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากการที่นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ซึ่งได้เดินทางไปทำงานยังซาอุดิอาระเบีย และถูกทาบทามให้เข้าไปทำงานในพระราชวังของกษัตริย์ซาอุดิอาระเบียในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2532 นายเกรียงไกรได้ขโมยเครื่องเพชรของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด (Prince Faisal Bin Fahd Bin Abdul Aziz) แห่งราชวงศ์ไฟซาลของซาอุดิอาระเบียมาได้ถึง 2 ครั้ง โดยที่ด่านศุลกากรของทั้งสองประเทศไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยเครื่องเพชรดังกล่าวถูกนำมายังจังหวัดลำปาง[1] หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย จึงประสานมายังรัฐบาลไทย ขอให้ติดตามเครื่องเพชรประจำราชวงศ์ส่งคืน
การสืบสวนเรื่องเพชรบลูไดมอนด์ ถูกหยิบยกขึ้นมาจากสื่อประเทศไทยฝ่ายเดียวตั้งแต่เริ่มมีเรื่องนายเกรียงไกรใหม่ๆ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรัตน์ผช.อตร.เจ้าของคดี ทราบเรื่องนี้ดีเพราะเป็นถามสื่อมวลชนเอง ว่า ไปเอาเรื่องนี้มาจากไหน ตนไม่เคยได้ยินหรือเห็นมาก่อนเลย จากนั้นก็มีการไปเอารูปภริยาอธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นใน น.ส.พ. ฉบับหนึ่งสวมสร้อยคอที่มีจี้เป็นรูปคล้ายอัญญมณีสีน้ำเงินล้อมเพชรและทอง ปรากฏตัวในงานเลี้ยงงาน หนึ่ง แล้วก็ลือกันตามมาว่าเป็นเพชรบลูไดมอนด์ของเจ้าฟ้าชายไฟซอล
เรื่องนี้ได้มีการพิสูจน์กันสองทางคือ ประการแรกตำรวจได้ส่งภาพถ่ายดังกล่าวไปให้สถาบันอัญญมณีในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตรวจพิสูจน์ ได้ข้อยุติว่า วัตถุที่ว่าเป็นอัญมณีสีน้ำเงินแล้วอนุมานว่าเป็นนเพชรบลูไดมอนด์ ไม่ใช่เพชรหรืออัญญมณีแต่อย่างใด แต่เป็นวัตถุที่ทำด้วยผ้ากำมะหยี่สีน้ำเงินเข้มที่นำมาประดิษฐ์เข้าคู่กับเพชรและทอง ผลพิสูจน์นี้อยู่ ในสำนวนการสอบสวนของตำรวจ เพราะมีหนังสือตอบกลับมาอย่างเป็นทางการ ประการที่สอง บุตรชายของสุภาพสตรีท่านนั้นได้นำสร้อยและจี้ที่ปรากฏในภาพถ่ายมาแสดงต่อพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับผลตรวจพิสูจน์ของสถาบันในลอนดอน
ข้อพิสูจน์ในเรื่องนี้อีกประการหนึ่งก็คือ ผลการสอบสวนนายเกรียงไกรพบว่า นายเกรียงไกรได้แบ่งเครื่องเพชรให้กับเพื่อนที่มีส่วนรู้เห็น ทั้งไม่รู้ด้วยว่าแบ่งเครื่องเพชรชนิดและประเภทใดให้เพื่อนไปบ้าง นอกจากนั้น เจ้าตัวมีความรู้เรื่องอัญญมณีน้อยมาก เมื่อนำเครื่องเพชรทั้งหมดกลับมาที่บ้านใน จ.ลำปาง ก็ได้ทำการแยกชิ้นส่วนเอาเพชรกับทองแยกออกจากกัน เพราะรู้จักแต่ทองว่ามีค่า โดยนำทองไปขายที่ร้านทองใน จ.แพร่ และ จ.ลำปาง ผลการสอบเจ้าของร้านทองก็ไม่ปรากฏว่าพบเห็นหรือรู้เรื่องเพชรบลูไดมอนด์ ส่วนเพชรนายเกรียงไกรก็ไม่รู้จัก รู้แต่ว่าเพชรมีความแข็งมากจึงลองทุบบางส่วนดู เม็ดไหนแตกก็ทิ้งไป เม็ดไหนไม่บุบสลายก็แยกไว้ แต่ไม่ได้ทุบไปเสียทั้งหมด จากนั้นได้นำเพชร พลอย อัญญมณีอื่นๆที่แยกออกจากทองแล้วไปฝังดินไว้บางส่วน บางส่วนทะยอยขายให้แก่นายสันติ ศรีธนขัณฑ์ เจ้าของร้านเพชรชื่อดัง ซึ่งบางส่วนถูกนำไปขายต่ออีกทอดโดยมี พล.ต.อ.คนหนึ่งซึ่งเป็น อดีต รอง ผบ.ตร.และชอบค้าของเก่าและของมีค่าร่วมมือกับนายสันติขายเพชรซาอุด้วย แต่หลักฐานสาวไปไม่ถึงจึงลอยนวลอยู่จนทุกวันนี้
การให้การของนายเกรียงไกรกรณีเพชรบลูไดมอนด์มีลักษณะไม่ชัดเจน เหมือนว่าขโมยมาแล้วขายให้นายสันติ แต่นายเกรียงไกรก็ไม่เคยยืนยันอย่างหนักแน่นกับพนักงานสอบสวนในเรื่องดังกล่าว เ นื่องจากไม่มีความมั่นใจ เพราะนำเครื่องเพชรออกมาเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถจดจำรายละเอียดได้ครบถ้วน
พนักงานสอบสวนและราชสำนักซาอุดิอาระเบียประมาณการณ์ว่า เพชรซาอุถูกขายไปประมาณ ๒๐ % ทั้งนายสันติ และภริยา ต่างยืนยันว่า ไม่เคยเห็นเพชรบลูไดมอนด์ ความตายของนางดาราวดี และ ด.ช.เสรี ศรีธนขันฑ์ เป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่า ผู้รับซื้อเพชรซึ่งมีอยู่รายเดียวจากนายเกรียงไกร ต่างไม่เคยเห็นเพชรบลูไดมอนด์ มิฉะนั้นคงรับสารภาพและคืนให้ไปแล้วเมื่อเห็นความตายและความเดือดร้อนของตนเอง ครอบครัว และบุตรอยู่ตรงหน้า
ผลสรุปของการสอบสวนคดีเพชรซาอุ มีข้อยุติว่า ไม่มีใครที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยเคยเห็นเพชรบลูไดมอนด์อยู่ในเครื่องเพชรที่นายเกรียงไกรขโมยมา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเพชรบลูไดมอนด์ไม่เคยมีอยู่ในประเทศไทย การกล่าวหากล่าวอ้างว่าบุคคลนั้นบุคคลนี้ครอบครองเพชรบลูไดมอนด์ไว้ จึงไม่เป็นความจริง
ประการที่สองเจ้าชายหรือเจ้าหญิงของซาอุดิอาระเบียไม่รู้ว่าเครื่องเพชรที่ถูกขโมยมีชนิดหรือประเภทใดอย่างครบถ้วนเพราะเครื่องเพชรมีเป็นจำนวนมากที่อยู่ในครอบครองและที่ถูกขโมยมา ทั้งยอมรับว่าเครื่องเพชรที่ถูกขโมยมีทั้งของจริงและของปลอมที่ซื้อจากห้าง May Flower ซึ่งทำอัญญมณีประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงมาก ทั้งไม่ทราบว่าเครื่องเพชรอันใดเทียมหรือจริง ข้อตำหนิเรื่องส่งคืนเครื่องเพชรปลอมและไม่ครบถ้วนจึงสามารถทำความเข้าใจที่ชัดเจนได้ในเวลาต่อมา
การจับกุมผู้ต้องหา
อธิบดีกรมตำรวจ พลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบพื้นที่ในเขตภาคเหนือ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ออกติดตามเครื่องเพชรคืนให้แก่รัฐบาลซาอุดิอาระเบีย หลังจากนั้นเมื่อนายเกรียงไกร ถูกชุดสืบสวนของ พล.ต.ท.ชลอ จับกุมและนำตัวมาสอบสวนจนยอมรับสารภาพ และให้การถึงบุคคลที่รับซื้อเครื่องเพชรไป เนื่องจากเกรงว่าจะถูกจับส่งไปดำเนินคดีที่ซาอุฯ ซึ่งมีโทษเพียงสถานเดียว คือ "แขวนคอ" ทำให้ศาลพิพากษาตัดสินจำคุกนายเกรียงไกร เตชะโม่งในข้อหาลักทรัพย์ 7 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษเหลือ 3 ปี 6 เดือน
ในช่วงเวลานี้ยังมีนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียคนหนึ่งซึ่งมีความใกล้ชิดกับราชวงศ์ได้เดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อสืบสวนหาเครื่องเพชรดังกล่าว แต่บุคคลนั้นถูกลักพาตัวและถูกฆ่า อีกสามเดือนต่อมา เจ้าหน้าที่สามคนจากสถานทูตซาอุดิอาระเบียถูกยิงเสียชีวิต และมือสังหารก็ยังคงลอยนวลมาจนถึงปัจจุบัน[2]
การจับกุมนายเกรียงไกร ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย เริ่มดีขึ้น โดย พล.ต.ท.ชลอ ได้รับการยกย่องจากประเทศซาอุดิอาระเบีย ให้เป็นแขกพิเศษ และถูกยกให้เป็น "ชี้ค" อีกด้วย
หลังจากนั้น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้เดินทางไปเยือนซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ แต่กลับถูกทางการซาอุดิอาระเบีย ตอบกลับว่า "คุณเอาเพชรปลอมมาคืน แถมชุดที่เหลือยังหายไปอีกมาก แบบนี้แล้วเราจะสานความสัมพันธ์กันได้อย่างไร" ส่งผลให้ฝ่ายไทยต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา ตามหาเครื่องเพชรอีกครั้ง
การตามหาเครื่องเพชรของจริง
การย้อนรอยตามหาเพชรฯ โดยคณะทำงานของ พล.ต.ท.ชลอ เริ่มต้นที่กลุ่มญาติของ พล.ต.อ.แสวง แต่ภายหลังเมื่อมีการตรวจสอบไม่พบว่ามีมูลความจริงแต่อย่างใด นอกจากนี้ นักการเมือง ตลอดจนคุณหญิง คุณนาย และ "คนมีสี" หลายคนก็ถูกกล่าวหาว่ามีการจัด "ปาร์ตี้เพชรซาอุฯ" ในสโมสรแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้น นายโมฮัมหมัด ซาอิค โคจา อุปทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย ได้ว่าจ้าง "ชุดสืบสวนพิเศษ" เพื่อแกะรอยอย่างลับ ๆ ตามหาเครื่องเพชรราชวงศ์แห่งซาอุดิอาระเบีย
สำหรับเครื่องเพชรชุดที่ทางการซาอุดิอาระเบียต้องการมากที่สุด คือ เพชรสีน้ำเงิน หรือ "บลูไดมอนด์" เนื่องจากเป็น "เพชรอาถรรพณ์" แม้กระทั่งช่างที่เจียระไนก็ต้องมีอันเป็นไปสาบสูญไปจากโลก จึงเป็นเพียงเพชรชุดเดียวที่มีอยู่ในโลก และไม่ว่าจะตกไปอยู่ในมือใคร กษัตริย์ซาอุดิอาระเบียก็จะทรงจำได้เสมอ เพราะมีการทำตำหนิไว้ด้วยแสงอินฟราเรดอยู่ภายในใจกลางของเม็ด แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครหาพบ ซึ่งนายเกรียงไกรสารภาพกับนายโคจาว่า ได้โจรกรรมมาจริง แต่จำไม่ได้แน่ชัดว่าอยู่ในมือใครระหว่างพ่อค้าเพชรกับชุดจับกุม
กรณีตระกูลศรีธนะขัณฑ์
พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ กลับมาทำคดีนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ได้ทุกวิถีทางในการนำเพชรที่เหลือกลับคืนมาให้ได้ จากคำให้การของนายเกรียงไกร ที่บอกว่า ได้โจรกรรมเครื่องเพชรของเจ้าชายไฟซาล แล้วนำเข้ามาขายในประเทศไทย โดยขายให้ นายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เสี่ยเจ้าของร้านเพชร ซึ่งภายหลังถูกตำรวจในทีม พล.ต.ท.ชลอ ข่มขู่คุกคาม แต่นายสันติก็ไม่ยอมคืนเพชรให้
ในที่สุด พล.ต.ท.ชลอ ก็ตัดสินใจให้คณะทำงานตั้งด่านตรวจ หน้าซอยบ้านนายสันติ ระหว่างที่ภรรยาของนายสันติคือ นางดาราวดี กำลังจะไปส่งลูกชาย ด.ช.เสรี ศรีธนะขัณฑ์ ที่โรงเรียน ทีมของพล.ต.ท.ชลอ ก็ได้จับทั้งคู่ไปกักขัง เพื่อบังคับให้นายสันตินำเพชรส่วนที่เหลือมาคืน ซึ่งนายสันติก็ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ ว่าลูกและเมียถูกอุ้ม แต่ขังไว้นานเป็นเดือน ย้ายที่กบดานไปหลายแห่งก็ยังไม่ได้เพชรคืน ซ้ำตำรวจคนหนึ่งยังได้ข่มขืนภรรยาของนายสันติ ทีมตำรวจชุดนี้จึงฆ่าปิดปากสองแม่ลูก แล้วอำพรางคดีให้เป็นเหมือนกับเกิดอุบัติเหตุรถชน
ต่อมา ทีมสอบสวนชุดใหม่กลับสืบพบว่าเป็นการอุ้มฆ่า จึงได้ทำการจับกุมตัว พล.ต.ท.ชลอ และลูกน้องทั้ง 9 คน มาดำเนินการทางกฎหมาย พล.ต.ท. ชลอถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานออกคำสั่งฆ่าสองแม่ลูกในปี พ.ศ. 2538[3] และในที่สุดศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษาให้ประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ และศาลฎีกาก็ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ยืนตามศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิต ทำให้คดีขโมยเครื่องเพชรราชวงศ์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาระเบียถูกปิดลงอย่างเด็ดขาดในทางกฎหมาย[4] และสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศเรื่อง มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดอดีตข้าราชการตำรวจออกเสียจากยศตำรวจ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งบุคคลดังกล่าวได้รับพระราชทาน เนื่องจากต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษประหารชีวิต จำนวน 1 ราย คือ พลตำรวจโทชลอ เกิดเทศ[5]
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซาอุดิอาระเบียยกเลิกการทำวีซ่าทำงานให้กับคนไทย และประกาศเตือนคนในประเทศไม่ให้เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร ทำให้จำนวนคนงานไทยในซาอุดิอาระเบียลดลงจาก 150,000 คน ในปี พ.ศ. 2532 เหลือเพียง 10,000 คน ในปี พ.ศ. 2549