ตอนที่อราวา อัล-ฮูจาอิลี เริ่มงาน ในแวดวงกฎหมาย เธอไม่เพียงไล่ตามความฝันของตัวเอง แต่ยังเป็นความหวังของคนรุ่นเดียวกัน
เร็ว ๆ นี้ เธอได้เป็นทนายความหญิงคนแรกของซาอุดีอาระเบียสมดังตั้งใจแล้ว
ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า 3 ปีหลังจากพยายามยื่นเรื่องไปยังกระทรวงยุติธรรมซาอุฯ ในที่สุด อัล-ฮูจาอิลี วัย 25 ปี ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นทนายความฝึกหัด ซึ่งเป็นสตรีคนแรกของประเทศที่ได้รับโอกาสเช่นนี้
"ใคร ๆ ก็บอกว่าฉันเป็นผู้บุกเบิก และฉันรู้สึกว่าต้องทำสิ่งที่พวกเขาคาดหวังให้เป็นจริงให้ได้ มันเป็นเหมือนความรับผิดชอบใหญ่หลวง นับจากนี้ผู้คนจะคอยจับตามองสิ่งที่ฉันทำ" อัล-ฮูจาอิลีกล่าว
อัล-ฮูจาอิลี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยคิงอับดุลลาซิซ ในเมืองเจดดาห์ เมื่อปี 2553 และคาดหวังว่าจะได้เป็นทนายความในทันที แต่เธอกลับเสียเวลา 3 ปี ไปกับแดนสนธยาทางวิชาชีพ โดยเป็นได้เพียง "ที่ปรึกษาทางกฎหมาย" แต่ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นทนายความ
ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาในซาอุฯเริ่มรับนักศึกษาหญิงเข้าเรียนด้านนิติศาสตร์ในปี 2548 รุ่นแรกจบการศึกษาในปี 2551 แต่บัณฑิตที่เป็นสตรีไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นทนายความอย่างเป็นทางการได้
เพื่อนร่วมชั้นหลายคนของอัล-ฮูจาอิลี ที่หมดความอดทนกับระบบที่ล่าช้าในบ้านเกิด ตัดสินใจเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ แต่เธอยังยืนหยัดอยู่ในเมืองเจดดาห์ และพยายามยื่นใบสมัครขอขึ้นทะเบียนเป็นทนายอย่างไม่ย่อท้อ
ในระหว่างนั้น กลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกับเธอ เริ่มใช้อินเทอร์เน็ตรณรงค์สร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงการตั้งกลุ่ม "ฉันคือทนายความ" บนเฟซบุ๊ก อัพโหลดคลิปบนยูทูบ และรณรงค์ทางทวิตเตอร์เพื่อเรียกร้องสิทธิอาชีพทนายความของผู้หญิง
กลุ่มนิติศาสตรบัณฑิตสตรียื่นถวายฎีกา ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อ 3,000 คน ต่อกษัตริย์อับดุลเลาะห์ ซึ่งทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเดือนต.ค.ปีกลายให้ผู้หญิงรับการขึ้นทะเบียนเป็นทนายความได้ แต่กลับไม่มีความคืบหน้าฮานูฟ อัล-ฮัซซา เพื่อนของ อัล-ฮูจาอิลี ซึ่งเป็นทนายความนักรณรงค์ในสหรัฐได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ถึงสถานการณ์ไร้ความหวังในซาอุฯ ซึ่งบีบให้ผู้หญิงที่เรียนกฎหมายต้องทำงานนอกประเทศ พร้อมเรียกร้องให้กษัตริย์อับดุลเลาะห์เข้ามาดูแลปัญหานี้
ไม่กี่วันหลังจากนั้น กระทรวงยุติธรรมประกาศรับใบสมัครจากผู้หญิง และต่อมาไม่นานใบสมัครจากอัล-ฮูจาอิลี ก็ได้รับการอนุมัติ
อัล-ฮูจาอิลี ซึ่งขณะนี้เป็นทนายความฝึกหัด และจะมีคุณสมบัติเป็นทนายความเต็มตัวในอีก 2 ปี วางแผนจะทำงานด้านกฎหมายครอบครัว เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงชาวซาอุฯ
"ผู้หญิงหลายคนต้องการปรึกษากับทนายความหญิง ฉันอยากจะช่วยให้ผู้หญิงเหล่านั้นเข้าถึงสิทธิของพวกเธอเอง" อัล-ฮูจาอิลีระบุ
เธอตระหนักดีว่า เส้นทางข้างหน้าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่สำหรับอัล-ฮูจาอิลี การได้เป็นทนายความในบ้านเกิดคุ้มค่ากับการรอคอย "ความสำเร็จให้ความรู้สึกหอมหวาน โดยเฉพาะหลังจากฝ่าฟันมายาวนาน"