76,621,603,061.05 บาท

 

 

คมชัดลึก : วันตัดสินคดียึดทรัพย์ 76,621,603,061.05 บาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและคนใกล้ชิด ถือเป็น “วันหยุดโลก หยุดประเทศไทย” ที่ประชาชนชาวไทยแทบทุกคนรอคอยมาตั้งแต่วันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษา 26 กุมภาพันธ์ คนไทยจะนั่งหายใจเข้าหายใจออกก็ ยึด-ไม่ยึด อยู่กันทั้งวันจนกว่าศาลจะอ่านคำพิพากษาเสร็จ

แม้ว่าประชาชนคนไทยจะได้ยินคำว่า เงิน จำนวน 7.6 หมื่นล้านบาท กันมาจนชินหู และรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วกับการพูดถึงเงิน ที่มีจำนวนมากถึงหมื่นล้านบาท

แต่ไม่ใช่เรื่องที่ชินตาและชินมือ ที่เงินจำนวนมหาศาลนี้จะมากองอยู่ตรงหน้าให้ได้เห็นให้ได้สัมผัส

ลองมานึกดูเล่นๆ ว่า ถ้าเงินจำนวน 7.6 หมื่นล้านกว่าบาท มากองไว้ตรงหน้าจะมีจำนวนมากขนาดไหน

ถ้าวัดความสูงจากพื้นดินจนถึงยอดบนสุดจะสูงถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ที่สูงที่สุดในโลกหรือไม่

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ยอดเขาเอเวอเรสต์ ที่ความสูง 8,848 เมตร ขณะที่เงินแบงก์พัน 1 ล้านบาทมีความสูง 5 นิ้ว เมื่อนำเงิน 7.6 หมื่นล้านบาท มาตั้งเรียงกันจะสูงถึง 3.8 แสนนิ้ว หรือ 9,500 เมตร

เท่ากับว่าเงินก้อนนี้สูงกว่าภูเขาเอเวอเรสต์ 652 เมตร และสูงกว่าตึกเบิร์จ กาลิฟาห์ ของดูไบ ตึกที่ได้ชื่อว่ามีความสูงที่สุดในโลกถึง 11.8 เท่า เพราะ เบิร์จ กาลิฟาห์ มีความสูงเพียง 800 เมตรเท่านั้น

สำหรับประชาชนคนเดินดินอย่างเราๆ จะมีโอกาสได้จับเงินก้อนโตมหาศาลบ้างหรือไม่

และถ้าเรามีเงินจำนวนมากขนาดนี้ จะเอาเงินไปทำอะไรดี ต้องใช้อีกกี่ปีถึงจะใช้หมด

ไม่ว่าใครจะเอาเงินไปใช้ทำอะไรก็ตาม แต่สิ่งแรกที่หลายๆ คนอยากทำคือ “นั่งนับเงิน” แต่เงินจำนวนมากขนาดนี้ ต้องใช้เวลากี่วัน กี่เดือน กี่ปีถึงจะนับครบ

พนักงานธนาคารแห่งหนึ่งบอกว่า ปกติธนาคารจะใช้เวลานับเงินประมาณ 4 นาทีต่อเงิน 1 ล้านบาทที่เป็นแบงก์พันทั้งหมด โดยจะนับ 2 ครั้ง

ครั้งแรกจะให้พนักงานนับมือก่อน เพื่อเป็นการตรวจหาแบงก์ปลอมไปในตัวด้วย ซึ่งการนับด้วยมือนันจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 3 นาที ซึ่งก็แล้วแต่ควมสามารถเฉพาะบุคคลว่าจะสามารถนับได้เร็วแค่ไหน

จากนั้นก็จะนำไปนับด้วยเครื่องนับเงินซึ่งจะใช้เวลา 1 นาที รวมเบ็ดเสร็จก็ใช้เวลา 4 นาทีต่อการนับเงิน 1 ล้านบาท

ซึ่งนั่นก็แปลว่าถ้านั่งนับเงิน 7.6 หมื่นล้านบาท จะต้องใช้เวลามากถึง 30,400 นาที หรือ 5,066.66 ชั่วโมง

หรือ 211.11 วัน หรือ 7.03 เดือน หรือกว่าครึ่งปีกันทีเดียว

โดยการนับต้องอยู่ในเงื่อนไขใช้คนเพียงคนเดียวนับตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีการลุกไปไหนเลย ไม่ต้องกินข้าวกินปลา หรือไม่ต้องเข้าห้องน้ำ

หรือถ้ารู้สึกว่าจำนวนเงินมากเกินไป ขี้เกียจมานั่งนับเงิน แต่อยากรู้ว่าเงินจำนวน7.6 หมื่นล้านบาทนี้มีน้ำหนักเท่าไหร่ ก็ลองเอาเงินมาชั่งน้ำหนักกันดู

เงิน 1 ล้านบาทและเป็นแบงก์พันทั้งหมด จะมีน้ำหนักประมาณ 0.4 กิโลกรัม แปลว่าเงินจำนวน 7.6 หมื่นล้าน จะมีน้ำหนักถึง 30,400 กิโลกรัม หรือ 30.40 ตัน !!!!

ซึ่งหากใช้รถบรรทุกขนาด 4 เพลา 8 ล้อ ยาง 12 เส้น ซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่สุดที่กรมทางหลวงอนุญาตให้ขนส่งได้ในน้ำหนักที่ไม่เกิน 30 ตัน ยังไม่สามารถที่จะใช้รถบรรทุกมาขนได้ในรอบเดียว

แต่หากจะมานั่งวัดความยาวดูว่า หากจะนำเงินจำนวน 7.6 หมื่นล้านบาทมาต่อกัน จะได้ความยาวเท่าไหร่

โดยความยาวของแบงก์พันมีขนาด 16.2 เซนติเมตร หากนำมาวางต่อกันจะได้ความยาวถึง 12,312 กิโลเมตร

โอ้วววววว!!! สุโค่ยยยยยยยย มันสามารถนำมาวางบนถนนจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปถึง อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นจุดเหนือสุดและใต้สุดของประเทศ มีระยะทาง 1,640 กิโลเมตร ได้ถึง 7.5 เที่ยว

นอกจากนี้จากข้อมูลของแบงก์ชาติ ระบุว่า ขนาดของธนบัตรใบละ 1,000 บาท มีขนาด7.2 *16.2 เซนติเมตร

หากนำเงิน 7.6 หมื่นล้านมาวางต่อกันก็จะได้พื้นที่ถึง 88,646.4 ตารางกิโลเมตร ซึ่งสามารถวางทับจังหวัด ที่มีเนื้อที่มากที่สุดของประเทศ คือ จ.นครราชสีมา ซึ่งมีเนื้อที่มากถึง 20,493.964 ตารางกิโลเมตรได้ถึง 4.3 เท่า !!!!!!!

หากสามารถนำมาปูทับภาคกลางของประเทศไทยซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 90,100 ตารางกิโลเมตร กินพื้นที่ 22 จังหวัด ได้เกือบทั้งภาค

หรือหากนำมาแบ่งให้คนไทยทั่วประเทศ โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จำนวนประชากรไทย (ธ.ค.2552) 67 ล้านคน เฉลี่ยจะได้เงินคนละ 1,134.32 บาท

แต่ถ้าจะแจกจ่ายให้แต่ละครัวเรือนนั้น รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน (6 เดือนแรก ปี 2552) ตกครัวเรือนละ 21,135 บาท ถ้านำมาแจกจ่ายให้แต่ละครัวเรือน ก็จะแจกได้ถึง 3,595,930 ครัวเรือน

แต่หากจะนำเงินก้อนนี้ไปทำประโยชน์ให้ประเทศ โดยการนำมาใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 (SP1) วงเงิน 119,000 ล้านบาทของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เงิน 7.6 หมื่นล้านบาทคิดเป็น 64% ของโครงการ SP1 ทีเดียว
 

Credit: http://www.komchadluek.net/detail/20100226/49898/อุ๊แม่เจ้า7.6หมื่นล้านกองสูงกว่าเอเวอเรสต์.html
#7.6 #7 #6 #หมื่น
noommm
เด็กกองถ่าย
3 มี.ค. 53 เวลา 20:21 1,902 8 56
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...