ยูเอ็น แนะ กินแมลง – อาหารแห่งอนาคต ลดภาวะอดอยาก
โดยในรายงาน “Edible insects: Future prospects for food and feed security” หรือ “แมลงกินได้ แนวโน้มความมั่นคงด้านอาหารในอนาคต” ของเอฟเอโอระบุว่า การรับประทานแมลง จะช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้แก่ร่างกายและช่วยลดมลพิษ ซึ่งมีประชากรทั่วโลกกว่า 2,000 พันล้านคนรับประทานแมลงแล้ว แต่ยอมรับว่า อุปสรรคใหญ่ก็คือ ผู้คนในประเทศตะวันตกยังคงรู้สึกขยะแขยงที่จะรับประทานแมลง
รายงานระบุว่า ปัจจุบัน ได้มีการนำตัวต่อ เต่าทอง และแมลงชนิดอื่นๆ ไปใช้เพื่อการบริโภคทั้งจากมนุษย์และปศุสัตว์ และการทำ”ฟาร์มแมลง”ก็ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารได้เป็นอย่างดี เนื่องจากแมลงเป็นสัตว์ที่พบได้ทั่วไปและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงมีการเติบโตและอัตราการแปลงผันที่สูง อีกทั้งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำ
รายงานบอกว่า ปัจจุบันแมลงที่นิยมบริโภคมากที่สุดคือ ด้วง (31%), ดักแด้ (18%), ผึ้ง ตัวต่อ และมด (14%) ตามด้วยตั๊กแตนและจิ้งหรีด (13%) ขณะที่ปัจจุบัน มนุษย์บริโภคแมลงกันประมาณ 1,900 ชนิด
รายงานของเอฟเอโอชี้ว่า แมลงเป็นสัตว์ที่มีประสิทธิภาพในระดับสูง ในการเปลี่ยนอาหารให้เป็นเนื้อที่รับประทานได้ โดยยกตัวอย่างตั๊กแตนว่ากินอาหารน้อยกว่าวัวถึง 12 เท่าในการผลิตโปรตีนในจำนวนเท่ากัน
นอกจากนั้น แมลงยังมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างมาก มีโปรตีนสูง ไขมัน และแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับร่างกายมนุษย์อีกหลายชนิด เพราะฉะนั้นการบริโภคแมลงจึงน่าจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร หรือทุพโภชนาการได้เป็นอย่างดี แมลงยังเป็นสัตว์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสัตว์อี่นๆ เช่น วัว หรือ สุกร
รายงานระบุว่า ในหลายประเทศทั่วโลกได้มีการรับประทานแมลงมานานแล้ว ขณะที่ชาติตะวันตกมองว่าเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง พร้อมชี้ว่าผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมอาหาร ควรช่วยส่งเสริมสถานะของแมลง โดยการนำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารตามร้านอาหารทั่วไป และเน้นว่า บางแห่งเช่นในแอฟริกา หนอนแมลง ถูกยกให้เป็นอาหารชั้นเลิศและมีราคาแพง โดยแมลงที่รับประทานได้ส่วนใหญ่จะถูกจับในป่า และใช้บริโภคในตลาดเฉพาะ
เอฟเอโอยังแนะนำให้มีการแก้ไขกฎข้อบังคับและการผลิตสำหรับการใช้แมลงในฐานะวัตถุดิบ ซึ่งมีความเป็นไปได้ทางเทคนิค ที่จำเป็นต้องอาศัยบริษัทขนาดใหญ่ในการเป็นผู้นำ
ที่มา : มติชน