ช่วงวัยทำงาน การทำงานย่อมเป็น "ส่วนใหญ่" ของชีวิต ในแต่ละวันเราใช้เวลาทำงานอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง ทำงานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน และทำต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 30-40 ปีจนกว่าจะเกษียณ งานที่เราทำจึงมีผลต่อเรามาก ไม่เพียงความอยู่รอดจากผลตอบแทนทางรายได้ แต่มีผลต่อชีวิตของเราทั้งชีวิต งานที่เราเลือกจะกำหนดอนาคตของเราว่าเราจะเป็นเช่นไร โดยเฉพาะในเรื่อง "สุขภาพจิต" ของเรา
ศาสตราจารย์ ปีเตอร์ บัตเตอร์เวิร์ธ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (The Australian National University) ได้ทำการวิจัยเปรียบเทียบคนทำงานในสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงคนไม่มีงานทำ พบข้อสรุปที่น่าสนใจดังนี้
- คนที่ทำงานในองค์กรที่ดี หรือได้ทำงานที่รักนั้น จะมีสุขภาพจิต ‘ดีกว่า' คนที่ได้ทำงานในองค์กรที่ไม่ดี หรืองานที่มีความเสี่ยงสูง
- ส่วนคนที่ทำงานที่ตนเองไม่มีใจรัก ซึ่งรวมถึงการที่ต้องทำงานร่วมกับหัวหน้าที่ไม่ดี เพื่อนร่วมงานที่ไม่ดี งานที่ต้องเสี่ยงต่อความปลอดภัยตลอดเวลา และงานที่ต้องทำตามความต้องการของคนอื่นตลอดเวลา คนเหล่านี้มักจะมีปัญหาสุขภาพจิต อาจเกิดภาวะ "สุขภาพจิตตกต่ำ เครียด ซึมเศร้า" ไม่ต่างกับผู้ที่ตกงานเลยทีเดียว
ข้อค้นพบนี้พิสูจน์ความจริงว่า งาน กับ ความรัก นั้น ควรผสมผสานให้เป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการ "เติมเต็ม" ความสุขให้กับชีวิต แต่ความเป็นจริง เรามักแยก งาน กับ ความรัก ไว้คนละเรื่องกัน
โดยในส่วนของงาน คนส่วนใหญ่มักจะมองเรื่อง "เงิน" หรือผลตอบแทนที่จะได้รับก่อน ด้วยเหตุความจำเป็นในความอยู่รอดและสถานะทางสังคม ทำให้หลายครั้งต้องจำใจทำงานที่ตน "ไม่ได้รัก" หรือฝืนใจทำ ต้องอยู่กับเพื่อนร่วมงานที่ไม่น่ารักแต่ต้องฝืนใจอยู่
ปราชญ์ขงจื๊อเข้าใจสัจธรรมข้อนี้ ท่านได้กล่าวไว้ว่า "จงเลือกงานที่ท่านรัก แล้วท่านจะไม่ต้องทำงานเลยตลอดชีวิต" หมายถึง ชีวิตที่เป็นหนึ่งเดียวกับงาน รู้สึกว่างานไม่ใช่ภาระหนัก ไม่ใช่ความเหน็ดเหนื่อย แต่เป็นความสุขตลลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม ในโลกความเป็นจริง เราอาจไม่สามารถให้งานกับความรักผสมผสานกันอย่างลงตัวได้ เพราะมีหลายปัจจัยต้องเลือก ดังนั้น ทางออกเพื่อให้ชีวิตการทำงานดำเนินไปอย่างมีความสุข ไม่แยกส่วนกับความรัก เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดให้ถูกต้อง อาทิ นิยามการทำงานให้ถูกต้อง เราให้นิยามการทำงานอย่างไร ชีวิตเราก็จะเป็นอย่างนั้น การทำงานอาจเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่น่าพึงพอใจ เป็นความสุข สำหรับคน ๆ หนึ่ง ในขณะเดียวกันอาจเป็นสิ่งที่เลวร้าย เป็นภาระหนัก เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เป็นความทุกข์ สำหรับคนอีกคนหนึ่ง
นิยามการทำงานของผมคือ "การทำงาน คือ การบูรณาการระหว่างสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราพูด และสิ่งที่เราทำ" โดยทั้งสี่สิ่งนี้ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงทำให้ผมทำงานอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง ไม่เคยเห็นงานเป็นส่วนเกินของชีวิต แต่ตั้งใจทำงานเพื่อให้งานออกมาอย่างดีเลิศ
ทำในสิ่งที่ตนเองรัก แมกซิม กอร์กี้ นักเขียนวรรณกรรมชื่อดังชาวรัสเซีย กล่าวว่า "เมื่องานคือความพึงพอใจ ชีวิตก็เปี่ยมด้วยความสุข แต่เมื่องานกลายเป็นหน้าที่ ชีวิตก็ตกเป็นทาส" การทำในสิ่งที่ตนรักจะทำให้เราทุ่มเทความเป็นเราทั้งหมดให้กับสิ่งนั้น ไม่ว่าหัวใจ กำลัง เวลา สติปัญญา ความรู้/ความสามารถ เงินทอง เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีเลิศ
รักในสิ่งที่ตนเองทำ ปัจจุบันคนจำนวนไม่น้อยต้องทำงานด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ไม่มีโอกาสเลือกงานมากนัก จึงมักไม่ค่อยพบงานที่ตนเองรัก แต่ผมขอแนะนำว่าหากเราไม่มีทางเลือกเช่นนั้น ให้เราตัดสินใจ รักในสิ่งที่ตนทำ แล้วเราจะทำงานได้อย่างมีความสุข ไม่รู้สึกเหมือนเป็นทาสรอรับการปลดปล่อย เพราะหากเราทำงานแบบ "ฝืนใจทำ" เพียงเพื่อให้ได้เงินดำรงชีพ ผลที่ได้รับ ไม่เพียงแต่เราจะขาดความภาคภูมิใจในงานที่ทำเท่านั้น แต่ยังยากที่จะนำเราเดินสู่ความสำเร็จได้
เลือกงานที่มีคุณค่า ผมมีปรัชญาการทำงานที่ได้บันทึกไว้ในหนังสือ ข้อคิดเพื่อการทำงานว่า "ทำสิ่งที่มีค่า ทำสิ่งที่ตนรัก ซึ่งวัดไม่ได้ด้วยตำแหน่งหน้าที่หรือชื่อเสียงเงินตรา แต่วัดด้วยการทำสิ่งที่มีประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม" ทุกสิ่งที่ผมทำมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสังคม ผมจะไม่ยินยอมเด็ดขาดให้ตัวเราเป็นทาสเงิน แต่ต้องให้เงินเป็นทาสเรา และเลือกทำในสิ่งมีประโยชน์ต่อคน ต่อสังคม แม้งานหนัก แต่เมื่อสำเร็จแล้วผลตอบแทนคือความอิ่มเอมและความสุขใจที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเงินได้ เพราะรู้ว่าลงทุนลงแรงทำไปแล้ว ก่อประโยชน์ได้มากมาย
หากเราเลือกทำงานที่มีคุณค่าและทำด้วยความรัก ส่งผลให้ทำงานอย่างมีความสุข ใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ ผลผลิตจากการลงแรงจะเกิดขึ้นมากมาย ท้ายสุดย่อมนำความภาคภูมิใจมาสู่ชีวิต
ที่มา : นิตยสารงานวันนี้
คอลัมภ์ : กลยุทธ์พิชิตคนพิชิตงาน
โดย : ดร.สมสิทธิ์ มีแสงนิล