เที่ยวเมืองเก่า ชิโนโปรตุกีส ภูเก็ต

 

ภูเก็ต ยังจัดว่าเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ และความรุ่งเรืองอันยาวนานอีกเมืองหนึ่งของไทย โดยหนึ่งในรอยอดีตอันรุ่งเรืองของ ภูเก็ต ตึกเก่าแบบชิโน-โปรตุกีส ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2446 เนื่องจากการทำเหมืองแร่ที่เติบโตทำให้ชาวจีน และชาวตะวันตกต่างหลั่งไหลเข้ามาที่เมือง ภูเก็ต เป็นจำนวนมาก

เมื่อเข้าสู่เขตเทศบาลเมือง ภูเก็ต สิ่งแรกที่ผู้ไปเยือนจะรู้สึกสะดุดตาก็คือ ตึกเก่าที่ตั้งตระหง่านอยู่ในย่านการค้าเก่าเเก่ของเมือง เป็นอาคารสไตล์ ชิโนโปรตุกีส ที่ผสมผสานเอาความเป็นศิลปะตะวันตก และตะวันออก เข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน จนเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเมืองภูเก็ต ตึกเก่าเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วตัวเมืองภูเก็ต สามารถเดินชมได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารอร่อยหลายเจ้าให้เที่ยวไปกินไปอย่างเพลิดเพลิน และทางเทศบาล เมืองภูเก็ต ก็ได้เห็นถึงความสำคัญของสถาปัตยกรรมเหล่านี้ โดยได้ทำการอนุรักษ์รูปแบบสถาปัตยกรรม ชิโนโปรตุกีสนี้ไว้ และจัดให้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของการท่องเที่ยว จัดให้มีเส้นทางเดินชมเมืองเก่าภูเก็ต เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ สัมผัสกับความสวยงามของบ้านเรือนเก่าแก่ของภูเก็ต และสถาปัตยกรรม ชิโนโปรตุกีส ที่สวยงาม พร้อมๆ กับได้ สัมผัสวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนภูเก็ต และที่สำคัญอาหารอร่อยเลื่องชื่อการเดิน ชมเมืองเก่า เสน่ห์แห่ง ชิโนโปรตุกีส เป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การศึกษายิ่ง

แม้ว่าตึกเก่าเหล่านี้จะกระจายอยู่ทั่วเมือง ภูเก็ต แต่ย่านที่มีอาคารเก่าหนาแน่น คือ ถนนดีบุก กระบี่ ถลาง และ เยาวราช เนื่องจากถนนเหล่านี้เป็นย่านเก่าของภูเก็ต ประวัติในอดีตคือเมืองท่าสำคัญทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู มีชาวจีนเข้ามาค้าขายกันมาก ก่อนตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก เช่น เมืองมะละกา มีโปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ ผลัดเปลี่ยนกันครอบครอง และนำรูปแบบศิลปวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ สถาปัตยกรรมจึงมีลักษณะ ผสมผสานกันระหว่างศิลปะตะวันตก และศิลปะตะวันออก เรียกว่า อาคารแบบโคโลเนียล จากนั้นก็ส่งอิทธิพลไป ตามเมืองท่าต่างๆ อย่างสิงคโปร์ และปีนังซึ่งมีสายสัมพันธ์โดยตรงกับภูเก็ต

รูปแบบตึกสิ่งน่าสนใจ

สถาปัตยกรรมแบบ ชิโน-โปรตุกีส แบ่งเป็นสองประเภทคือ
ตึกแถว หรือ “เตี้ยมฉู่” และ คฤหาสน์ หรือ “อั่งม้อหลาว“ อั่งม้อหลาวเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน “อั่งม้อ” แปลว่า ฝรั่งหรือชาวต่างชาติ ส่วนคำว่า “หลาว” แปลว่า ตึกคอนกรีต อั่งม้อหลาว ก็คือ คฤหาสน์แบบฝรั่งที่นายหัวเหมืองแร่ของ ภูเก็ตสร้างเป็นที่อยู่อาศัยในสมัยนั้น โดยบ้านหลังแรกที่สร้างขึ้นตามแบบชิโน-โปรตุกีส โดยช่างชาวจีนจากปีนัง ก็คือ บ้านชินประชาของ พระพิทักษ์ ชินประชา นายเหมืองต้นตระกูลตัณฑวนิชตั้งอยู่ถนนกระบี่ ถือว่าเป็นต้นแบบของบ้านคหบดีจีนที่กระจายอยู่ทั่วทั้งเมืองภูเก็ต

ตึกแถวเป็นอาคารสองชั้นกึ่งร้านค้ากึ่งที่อยู่อาศัย ลักษณะ ลึกและแคบ ชั้นล่างแบ่งพื้นที่ใช้สอยไปตามความลึกได้ถึงห้าส่วนด้านหน้าเป็นร้านค้า หรือสำนักงาน ถัดไปเป็น ห้องรับแขก ห้องพักผ่อน ห้องอาหาร ห้องครัว ภายในอาคารมักมีฉิ่มแจ้ หรือบ่อน้ำบาดาลหนึ่งบ่อและเจาะช่อง ให้อากาศถ่ายเทและแสงส่องเข้าอาคาร ตึกแถวในภูเก็ตจึงเย็นสบาย ส่วนที่ชั้นสองเป็นห้องนอนหน้าตึกแถวมีทางเดินเท้า ทำเป็นช่องซุ้มโค้งเชื่อมกันไปตลอด ทั้งแนวตึกแถว เรียกว่า อาเขต (arcade) โดยมีชั้นบนยื่นล้ำออกมาเป็นหลังคากันแดดกันฝน ซึ่งตกเกือบตลอดปี นับเป็นสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับ สภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความเอื้ออาทรของเจ้าของบ้านกับผู้สัญจร ที่ชั้นสองด้านหน้าอาคารเน้นการ เจาะช่องหน้าต่างเป็น ซุ้มโค้งคูหาละสามช่อง ขนาบข้างด้วยเสาแบบกรีก และโรมัน บนพื้นผนังตกแต่งด้วยลายปูนปั้นทั้งแบบจีน และตะวันตกผสมกันอย่างลงตัว สามารถเดินชมได้ทั่วทั้งถนนถลาง ดีบุก พังงา กระบี่และเยาวราชนอกจากนี้ย่าน โคมเขียว โคมแดง ในอดีตที่ซอยรมณีย์ก็มีตึกสีสันสวยแปลกตากว่าถนนไหนๆ

เส้นทางการเดินชมตึกเก่า ชิโนโปรตุกีส

ช่วงที่ 1 ณ ถนนภูเก็ต ถนนรัษฎา และถนนระนอง
เริ่มจากศูนย์รวมข่าวพรหมเทพ เริ่มจากศูนย์รวมข่าวพรหมเทพ ซึ่งตั้งอยู่หัวมุมถนนพังงา ตัดกับถนน ภูเก็ต เมื่อเดินลง มาตามทิศใต้ เลี้ยวขวาเข้าถนนรัษฎา ไปจนถึงวงเวียนสุริยเดช และตรงไปตามถนนระนอง ผ่านตลาด จนถึงบริษัท การบินไทยซึ่งช่วงนี้จะได้พบกับตึกสวยงามมากมาย อาทิ ศูนย์รวมข่าวพรหมเทพ อาคารสีขาว 2 ชั้น ที่โดดเด่น ด้วยหอนาฬิกาสูง 4 ชั้น มีหลังคาคล้ายรูปหมวกตำรวจสมัยก่อน ช่องประตูหน้าต่างแบ่งเป็นช่องโค้งมีเสาอิงแบ่ง เป็นช่วง ประดับลายปูนปั้นบนยอดซุ้มโค้งสวยงามและโรงแรมถาวร โรงแรมเก่าแก่ ที่เมื่อเข้าไปภายในโถง โรงแรมและส่วนคอฟฟี่ชอป จะได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเมืองภูเก็ตผ่านนิทรรศการ ภาพถ่าย และมีเครื่องเรือน ตู้โทรศัพท์ เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้ของคนงานในเหมืองให้ได้ชมอีกด้วย

ช่วงที่ 2 ถนนพังงา ถนนภูเก็ต และถนนมนตรี
เริ่มต้นที่มุมถ.ระนองตัดกับถนนเยาวราช บริเวณวงเวียนสุริยเดช เดินไปตามถนนเยาวราช 70 เมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนพังงา จนถึ สี่แยกตัดกับถนนภูเก็ต ซึ่งช่วงนี้อาจเลี้ยวซ้ายตามถนน ภูเก็ต ข้ามไปสี่แยกถนนมนตรี แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนมนตรี เส้นทางช่วงนี้เป็นเส้นที่มีตึกแถวเก่า ศาลเจ้าเก่า อาคารสาธารณะ อาคารราชการ ซึ่งแต่ละที่ล้วนแล้วแต่มี สถาปัตยกรรมสไตล์ชิโนโปรตุกีสที่งดงาม

ช่วงที่ 3 ถนนถลางและซอยรมณีย์
เป็นถนนสายประวิติศาสตร์อันเก่าแก่ ตรงช่วงนี้จะมีอาคารตึกแถวเก่าที่มีรูปแบบเดิมๆเกาะกลุ่มกันอยู่เป็นจำนวน มากโดยมีจุดเด่นอยู่ตรงที่มีการเปิด ช่องทางเดินเอาไว้เหมือนในอดีต ซึ่งเส้นทางนี้เริ่มต้นจากสี่แยกถนนถลางตัดกับถนนภูเก็ต ไปจนสุดสี่แยกตัดกับ ถนนเยาวราช มีตึกแถวกว่า 151 คูหาโดยมีตึกแถวที่น่าสนใจตรงช่วงตึกแถวบ้านเลขที่ 107 ถึง 129 ที่ตัวตึกมี รูปแบบการตกแต่งช่องหน้าต่างโค้งตามแบบสถาปัตยกรรมยุคนีโอคลาสสิค มีลวดลายที่ดงามเน้นธรรมชาติเถาไม้ ใบไม้ และรูปสัตว์ และก็มีตึกแถวตรงฝั่งเลขคู่ช่วงปลายถนน ซึ่งตึกแถวบริเวณนี้มีลักษณะเด่นอยู่ที่ประตูด้านหน้า เป็นแบบบานเฟี้ยมไม้เก่าแก่ ช่วงเสาจะกว้างเท่ากับตึก 2 คูหารวมกัน มีการนำศิลปะการเจาะช่องหน้าต่าง และลวดลายปูนปั้นแบบอาร์ตเดโคมาใช้ได้อย่างกลมกลืน และสวยงาม

ช่วงที่ 4 ถนนกระบี่ และถนนสตูล
เริ่มจากถนนกระบี่ บริเวณแยกถนนเยาวราช เดินไปทางตะวันตกจนถึงสามแยกตัดกับ ถนนสตูล เดินตรงไปถึงบ้าน คุณประชา ตัณฑวณิช ย้อนกลับมาจนถึงสามแยกตัดกับถนนดีบุก เส้นทางสายนี้มีอาคารเก่าที่ชวนชม อย่างอาคาร พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว เป็นตึก 2 ชั้น ชั้นล่างมีซุ้มโค้งเตี้ยขนาดใหญ่ 3 ซุ้ม มีเสากลมรับโค้ง หัวเสาประดับ ด้วยลายบัวแบบกึ่งไอโอนิค และคอรินเธียน ผนังอาคารเซาะร่องขนาดใหญ่ เรียกว่า Rusticationชั้นบนมี ซุ้ม หน้าต่าง 3 ซุ้ม มีช่องหน้าต่าง 2 ช่องกรอบหน้าต่างด้านบนเป็นจั่วโรมัน บานหน้าต่างไม้สี่เหลี่ยม มีลวดลาย เรขาคณิต เหนือซุ้มช่วงกลางมีหน้าจั่วปูนปั้นรูปค้างคาว และช่วงถนนนี้ยังมีร้านอาหารท้องถิ่นจำนวนมาก เพื่อว่า เดินไปแล้วหิวก็แวะเช้าไปชิมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านสุนทรโอชาขายข้าวต้มและอาหารพื้นเมือง ร้านขนมจีนป้ามัย ร้านหมี่แป๊ะแถว

ช่วงที่ 5 ถนนเยาวราช ตรอกสุ่นอุทิศ ถนนดีบุก
ช่วงนี้เริ่มจากแยกถ.ดีบุกตัดกับถนนสตูล เดินตามถนนดีบุก จนถึงสี่แยกตัดกับถนนเยาวราช พอเลี้ยวขวาเข้า ถนนเยาวราช จะได้สัมผัสกับบรรยากาศตึกเก่า และแวะลิ้มรสอาหารอร่อยในตรอกสุ่นอุทิศ แล้วย้อนกลับมา สี่แยกเลี้ยวเข้า ถนนดีบุก อีกช่วงหนึ่งจะเข้าสู่ซอยรมณีย์ การเดินชมเมืองในช่วงนี้จะได้สัมผัสกับความหลากหลายของตึก ชิโน โปรตุกีส ที่หาดูได้ยาก อย่างที่บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์ เป็นบ้านที่มีความงดงามโดดเด่นอยู่ที่ลายปูนปั้นตั้งแต่ หัวเสาแบบคอมโพสิต และช่วงคานเหนือเสา เป็นศิลปะแบบกรีกยุคคลาสสิคผสานกับปูนปั้นลายค้างคาว ลายหงส์ ลายเมฆ รวมทั้งลายใบไม้ และผลไม้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลของคนจีน

และสุดท้าย ช่วงที่ 6 ถนนกระษัตรี
ช่วงนี้เป็นช่วงต่อจากเส้นทางเดินที่ซอยรมณีย์ เลี้ยวซ้ายทะลุออกถนนถลาง เมี่อถึงสี่แยกเลี้ยวซ้ายเดินตาม ถนนเทพกระษัตรี พอถึงแยกตัดกับถนนดีบุก อาจแวะชมบ้านเก่าแล้วย้อนออกมาตามถนนเทพกระษัตรีอีกครั้งจนไปสิ้น สุดเส้นทางที่คฤหาสน์ตระกูลหงส์หยก หรือบ้านหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ซึ่งเป็นบ้านที่สร้างในสมัยร. 7 ด้านหน้า อาคารเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมกลมขนาดใหญ่ที่รถยนต์เข้าไปจอดเทียบได้ ชั้นล่างเป็นซุ้มโค้งเตี้ย 3 โค้ง หัวเสา จะเป็นแบบดอริก ผนังเซาะเป็นร่องลึก คล้ายแนวหินก่อ ชั้นบนเป็นระเบียง มีลูกกรงปูนปั้นประดับ หลังคาทรง ปั้นหยา ด้านปีกซ้ายมีช่องแสงเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมประดับด้วยบานเกล็ดไม้ ด้านปีกขวาตกแต่งช่องแสงด้วย กระจกสีต่างๆ กรุในกรอบสี่เหลี่ยมมีรูปวงกลมอยู่ข้างใน นับว่าเป็นคฤหาสน์หลังใหญ่ที่ งดงามทางด้านสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมาก

 


View Larger Map

 

เมืองเก่าชิโนโปรตุกีส, เทศบาลเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

 

ข้อมูลและภาพ : paiduaykan.com
เรียบเรียงโดย Travel MThai

13 พ.ค. 56 เวลา 11:39 1,740 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...