ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา MThai ได้มีการนำเสนอข่าวที่ชาวสังคมออนไลน์ แชร์คลิป เรื่องราวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคนหนึ่งที่ได้เดินทางมาประเทศไทย และต้องตกตะลึงเมื่อพบสิ่งอัศจรรย์มากมายที่มีในสยามประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับบางคนที่คุ้นหน้าคุ้นตาหนุ่มฝรั่งตาน้ำข้าวคนนี้อาจเป็นเพราะได้ติดตามผลงานของเขาจากรายการ หลงกรุง แต่สำหรับบางคนที่สงสัยว่าฝรั่งคนนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วทำไมคนไทยถึงประทับใจกันนัก วันนี้ Men.mthai ได้นำบทสัมภาษณ์จากนิตยสารสกุลไทย มานำเสนอ ให้เราได้รู้จักเขาให้มากขึ้น
“วัน แรกที่มาเมืองไทยเป็นวันที่ผมไม่เคยลืมเลย มีคนมารับที่สนามบินไปวังจิตรลดา ไปถึงมีคนหนึ่งเปิดประตูเดินเข้ามา ทุกคนในห้องนั้นนิ่งหมด แต่ผมยื่นมือออกไป สวัสดีครับ ผมแดเนียล คนนั้นเขาก็จับมือทักทายแบบฝรั่งและคุยกันเป็นภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นทุกคนถามว่า รู้ไหมนั่นคือใคร…”
แดเนียล เฟรเซอร์ ฝรั่งหลงกรุง
แดเนียล เฟรเซอร์ ฉายภาพจำแสนประทับใจของเขาเมื่อแรกเหยียบย่ำแผ่นดินไทย ในฐานะคนแปลกหน้าที่พกพาความมุ่งมั่นในการทำงานมาเต็มกระเป๋า ด้วยวัยเพียง ๒๑ ปี
แดเนียล ผู้ซึ่ง ณ วันนี้ แฟนๆ รายการน้ำดีทางสถานีไทยพีบีเอสคงพอคุ้นหน้าหรือจดจำได้ว่าเขาคือฝรั่งคน หนึ่งซึ่งเพลิดเพลินกับการชักชวนผู้ชมชาวไทยท่องเที่ยว เรียนรู้ และรำลึกเรื่องราวมากมายที่บางครั้งเราอาจหลงลืมไปพร้อมๆกันผ่านรายการ “หลงกรุง” เป็นประจำยามเย็นย่ำ ๑๘.๓๐ น. วันอาทิตย์
แดเนียล เฟรเซอร์ ฝรั่งหลงกรุง
ภายในห้องทำงานอันเรียบง่ายของเขา แดเนียล เปิดประตูต้อนรับเราด้วยน้ำใสใจจริงที่สังเกตได้ไม่ยากจากท่าทีและรอยยิ้ม ชายหนุ่มเริ่มต้นเล่า
“แดเนียลเป็นชาวแคนาดาครับ จบจากมหาวิทยาลัยที่เทกซัส อเมริกา สมัยเรียนที่นั่นมีโอกาสดีมาก เป็นโอกาสพิเศษที่ได้เข้ามาทำงานที่วังจิตรลดาและมูลนิธิชัยพัฒนา ตอนนั้นอายุ ๒๑ ปีครับ เป็นอาสาสมัครไปสอนนักเรียนแล้วก็ทำงานอื่นๆบ้าง ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดา สนุก พิเศษมาก ตอนนั้นผมรู้จักเมืองไทยนิดหน่อย ไม่รู้ประวัติเยอะเท่าไร ไม่รู้ว่าวัฒนธรรมเป็นอย่างไร รู้แค่ว่าเป็นประเทศในเอเชีย คนนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ มีพระมหากษัตริย์ที่คนทั่วโลกรู้จักและนับถือว่าเป็นบุคคลพิเศษ อาหารไทยเผ็ดร้อนมาก แล้วกรุงเทพฯก็เป็นเมืองใหญ่ มีรถติดมาก นอกนั้นไม่รู้อะไรเลยครับ
แดเนียล เฟรเซอร์ ฝรั่งหลงกรุง
วันแรกที่มาถึงจำได้ชัดเจนครับ มีคนมารับไปวังจิตรลดา อายุ ๒๑ ปี มาจากแคนาดา แล้วเข้าไปในวังของในหลวง โอ้โฮ ผมอยู่ในออฟฟิศที่โรงเรียนจิตรลดา คุยกับคุณครู อาจารย์ใหญ่ ตอนนั้นพูดไทยไม่ได้เลย นอกจาก สวัสดีครับ มีคนหนึ่งเปิดประตูเดินเข้ามา แล้วทุกคนนิ่งหมด แสดงความนับถือ แต่แดเนียลเพิ่งมาใหม่ ก็ยื่นมือออกไป สวัสดีครับ ผมแดเนียล เขาถามว่า จะมาทำอะไรที่นี่ ผมบอกว่ามาเป็นครูสอนที่โรงเรียนจิตรลดา แล้วผมจะทำงานในออฟฟิศของเจ้าหญิง ตื่นเต้นมากครับ คิดว่าจะสนุกมาก แล้วผมก็ถามเขาว่า คุณทำงานที่นี่หรือครับ เขาหัวเราะ บอกว่า ใช่ค่ะ ทำงานที่นี่ อาจจะเจอกันทุกวันนะ ผมก็โอ.เค. บ้ายบาย แล้วก็ปิดประตู..
..ทุกคนรอบข้างแดเนียลหัวเราะ ถามว่า รู้ไหมว่านั่นคือใคร ผมบอกไม่รู้ เขาบอก Your Boss นี่คือ สมเด็จพระเทพฯ ผมหน้าแดงหมดเลย..
..สิ่งที่ประทับใจมากคือพระองค์ท่านไม่ได้บอกว่า ไม่รู้หรือว่าฉันเป็นใคร แต่ให้โอกาสคุยกัน นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมอยากพิสูจน์ให้เห็นว่า ผมตั้งใจมาทำงานจริงๆ พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่าง เรียนรู้วัฒนธรรม ภาษา ประวัติศาสตร์ครับ”
นอกจาก ความประทับใจเมื่อแรกพบนี้ แดเนียล เผยว่ายังมีอีกหลากความทรงจำดีๆที่ติดตรึงอยู่อย่างแนบแน่น และความรู้สึกเหล่านั้นก็มีพลังมากเพียงพอที่จะดึงดูดให้ชายชาวต่างชาติคน หนึ่งตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งหลักปักฐานอยู่ในดินแดนที่ได้รับการขนาน นามว่า สยามเมืองยิ้ม
แดเนียล เฟรเซอร์ ฝรั่งหลงกรุง
“ผมโชคดีมีโอกาสได้ทำงานกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา เวลามีเอ็นจีโอหรือมูลนิธิจากต่างประเทศมาดูงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่อง เกี่ยวกับฟาร์มเกษตรทดลอง ผมก็ช่วยนำเสนอโครงการครับ ตอนนั้น ไม่ค่อยได้ไปสถานที่ท่องเที่ยวเท่าไร ผมอยู่กับคนไทยตลอดเวลา เป็นเพื่อนกับนักเรียนด้วยเพราะอายุไม่ต่างกันเท่าไร ก็มีโอกาสเรียนรู้คนไทยแบบคนไทยจริงๆ ไม่ใช่แค่คนขับรถทัวร์หรือไก๊ด์พาเที่ยว ไม่ได้บอกว่าไก๊ด์ไม่ดีนะครับ คือมีโอกาสอยู่กับคนไทยในสถานการณ์ธรรมชาติ คนไทยเป็นคนดี แดเนียลได้รู้ประวัติของโครงการหลวงเยอะมาก เขามีคนที่มาทำงานด้วยความตั้งใจ อยากจะสร้าง อยากช่วยประเทศให้พัฒนา เขารักประเทศ รักในหลวง รักการพัฒนา รักวัฒนธรรม ผมรู้สึกว่าผมไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยว แต่เป็นคนที่ร่วมงานกับคนที่รักงาน รักประเทศของเขา
ตอนนั้นผมหลงรักเมืองไทยและรู้สึกว่า ถ้ามีโอกาสในอนาคตอยากจะกลับมา ผมสนใจการท่องเที่ยว วัฒนธรรม กิจกรรมผจญภัยในประเทศไทย แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะทำอย่างไร ก็กลับไปเรียนต่อ แล้วก็ทำงานเป็นเอเจนซี่โฆษณาครับ วันหนึ่งนั่งคุยกับเพื่อนซึ่งเป็นหุ้นส่วนว่าคิดถึงประเทศไทยมาก อยากกลับไป มันมีอะไรบางอย่างมาดึง อธิบายไม่ถูกว่าคืออะไรจริงๆ คือ เรารู้จักคนไทย พยายามพูดภาษาไทย ไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆไม่ว่าจะเป็นอีสานหรือเกาะตะรุเตา เป็นประเทศที่มีธรรมชาติหลากหลาย มีวิถีชีวิตน่ารัก ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯหรือชนบท แล้วเราก็ลาออกจากงานที่แคนาดา ย้ายมาเมืองไทยครับ”
แดเนียล เฟรเซอร์ ฝรั่งหลงกรุง
ยามนั้น แดเนียล ใฝ่ฝันว่าอยากสร้างบริษัททัวร์ในรูปแบบของตัวเองขึ้นมา ทว่า ก็ต้องใช้เวลากว่า ๔ ปี ก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะลงตัว ระหว่างนั้น เขาหล่อเลี้ยงความฝันด้วยงานด้านอื่น อาทิ การเป็นนายแบบโฆษณา กระทั่งแวดวงการนี้ได้พัดพาเขาให้เข้ามาเป็นผู้ดำเนินรายการ หลงกรุง
“ประมาณ ๘ ปีที่แล้วแดเนียลกำลังจะเริ่มทำทัวร์ แต่ยังไม่ฟูลไทม์ ทำโฆษณาบ้าง เป็นนายแบบ ก็เริ่มมีคนรู้จักในแวดวงนี้และมีคนจำได้บ้างนะครับ จนเมื่อปีที่แล้วอยากทำทีวี โดยฉพาะเกี่ยวกับการท่องเที่ยว พี่จ๊อบ-นิธิ สมุทรโคจร ก็ปิ๊งไอเดียว่า อยากทำรายการทีวีที่มีชาวต่างชาติซึ่งพอจะมีความรู้บ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ตอนนั้นแดเนียลคุยกับโปรดิวเซอร์บริษัทสานฟ้าของพี่จ๊อบว่าทำรายการแบบนี้ ได้ไหม เราเป็นฝรั่ง กลัวว่าจะไม่เหมาะ เพราะเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แม้มีความรู้เยอะ แต่ไม่เหมือนคนไทย ก็ใช้เวลาประมาณหนึ่งครับ แล้วจึงคิดคอนเซ็ปต์ว่า ไม่ใช่ฝรั่งคนนี้จะพาคนไทยไปเที่ยวแล้วให้ทุกคนเรียนรู้สิ่งต่างๆ แต่จะเป็นการค้นพบความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย การเรียนรู้วิถีชีวิตของคนไทยจากประสบการณ์ มุมมองของฝรั่งเป็นการรวมเรียลลิตี้กับการท่องเที่ยวจากมุมมองของชาวต่างชาติที่อยากจะรู้ เกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศไทยซึ่งเหมาะกับตัวแดเนียลด้วย ไม่ต้องแอ็คติ้ง เป็นตัวเอง เป็นความรู้สึกจริงที่เราสงสัยและออกไปถาม เป็นโอกาสให้ฝรั่งคนหนึ่งออกไปค้นหาและเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆใน ประเทศไทย แล้วเสนอความคิดเห็นจากมุมมองของชาวต่างชาติ ให้เห็นว่าประเทศไทยของเราพิเศษมากนะ ถึงขนาดฝรั่งหลงรัก บางครั้งอาจทำให้บางคนทบทวนอะไรบางอย่างก็ได้ครับ”
แดเนียล เฟรเซอร์ ฝรั่งหลงกรุง
แล้ว หลงกรุง ก็เป็นดั่งประตูอีกบานใหญ่ของแดเนียล
“ถ้ามีเพื่อนชาวต่างชาติถามแดเนียลว่า อะไรน่าสนใจมากที่สุดเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ผมจะตอบว่า คนกรุงเทพฯเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาหาร อาหารที่เราเห็นข้างทาง บางทีอาจดูไม่อร่อย แต่คนกรุงเทพฯจะรู้ว่ากวยจั๊บที่อร่อยที่สุดอยู่ที่ไหน เป็นเมืองที่ผมเรียกว่าไม่หยุดกิน คนกรุงเทพฯรู้หมดเลยว่าอาหารอร่อยที่สุดอยู่ตรงไหน เวลาไหน ตอนที่ทำเกี่ยวกับเรื่องนี้เราเริ่มถ่ายหกโมงเย็นถึงหกโมงเช้าครับ ออกไปพิสูจน์ว่าจริงหรือเปล่า ไปกินข้าวต้ม ไก่ย่าง กวยจั๊บ ผัดไทย เครป อาหารอาหรับ ไทย จีน หลายๆชุมชน ทั้งคืนถึงเจ็ดโมงเช้า ใช่ กรุงเทพฯเป็นเมืองที่ไม่หยุดกินจริงๆ (หัวเราะ) ตีสี่ตีห้ามีคนไปรอคิวป้าขายเครป นี่เป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯจริงๆที่อยากให้ชาวต่างชาติเห็นครับ
หรืออย่างครั้งที่ไปที่สุพรรณบุรี ชุมชนเล็กๆที่มีบ้านทรงไทยนะครับ ก่อนถ่ายทำเราไม่รู้ว่าน้ำจะท่วม คอนเซ็ปต์ก็คือนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมบ้านทรงไทย บ้านไม้ที่น่ารักมาก และเหมือนเขาจะมีการรณรงค์กันด้วยครับว่าให้อนุรักษ์ไว้ ผมต้องไปอยู่ที่นั่น ๒ วัน ใช้ชีวิตแบบชาวบ้านดั้งเดิม พายเรือไปตลาด แต่เมื่อน้ำท่วมเข้ามาก็พบว่า วิถีชีวิตคนไม่เปลี่ยนเท่าไร เพราะทุกคนมีความผูกพันกับน้ำ คลอง ชีวิตบนเรือตลอดเวลา ผมรู้สึกว่าคนไทยสามารถปรับตัวได้กับสิ่งแวดล้อม สถานการณ์ต่างๆรอบตัวโดยที่ชีวิตไม่เปลี่ยนเท่าไร วิถีชีวิตแบบนี้มหัศจรรย์มากครับ
แดเนียล เฟรเซอร์ ฝรั่งหลงกรุง
นอกจากนี้ ผมก็ได้เห็นว่ามีที่หนึ่งเขาใช้ชีวิตตามทฤษฎีพอเพียง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำเป็นธรรมชาติทั้งหมด ใช้น้ำมันมาจากหมู ผมประทับใจคนที่นั่นตรงที่ว่า เขาไม่ได้แค่พูด แต่เขาเชื่อและทำเต็มที่ แล้วเขาก็อยู่ได้ด้วยครับ”
และคำว่า “หลงกรุง” ก็ไม่ได้มีความหมายเป็นเพียงชื่อรายการอีกต่อไป ทว่า ยังเป็นคำจำกัดความสั้นๆที่สามารถอธิบายความจริงจากใจของฝรั่งที่หลงรัก เมืองไทยคนนี้ได้อย่างหมดจดงดงาม
“ผมรู้สึกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเสน่ห์มาก คนอื่นอาจมองว่าคนไทยใจดี น่ารัก อาหารอร่อย มีธรรมชาติ แต่แดเนียลรู้สึกว่าเสน่ห์ของประเทศไทยไม่ใช่แค่สิ่งที่เรามองเห็น เป็นความคิด ความรู้สึก วิถีชีวิตของคนที่นี่ที่ผมรู้สึกว่าต้องรักษาไว้ ภาษาไทยก็มีเสน่ห์ ยิ่งอยู่ยิ่งรู้สึก ถ้าอยู่แค่ ๑-๒ ปีอาจไม่เห็น ผมรู้สึกว่าเสน่ห์คือการที่วิถีชีวิตดั้งเดิมและสมัยใหม่อยู่คู่กันได้ อันนี้เป็นความเป็นไทยที่แดเนียลชอบมาก และอยากเรียนภาษาไทยมากกว่านี้ ตอนนี้อ่านได้ ฟังรู้เรื่อง เขียนได้บ้างแต่ไม่สวยครับ แต่คิดว่า พูดสำคัญที่สุด การคุยกัน เสนอความรู้สึก ความคิดเห็น บางทีผมอธิบายทางอ้อมเพราะไม่รู้วิธีการพูด แต่คนไทยมีความอดทนฟังว่าผมจะพูดว่าอะไร
แดเนียล เฟรเซอร์ ฝรั่งหลงกรุง
ก็อยากใช้กำลังในชีวิตของแดเนียล ของหลงกรุง ของบริษัทแดเนียลทำสิ่งดีๆให้คนอื่นด้วยครับ ไม่รู้ว่าจะเป็นมูลนิธิหรือโครงการที่ช่วยเหลือหรือให้โอกาสคนอื่น ผมแค่อยากจะทำอะไร เพราะผมรู้สึกว่าผมมาเมืองไทย ผมได้เยอะแล้ว ไม่ใช่เงินเยอะนะ ประสบการณ์เยอะ ได้โอกาสที่ดี จึงอยากตอบแทนครับ”
ขอบคุณบทสัมภาษณ์
จาก พิมดาว
...........................................................................................................................................
ตัวอย่างตอนหนึ่งจากรายการ หลงกรุง ตอน เนื้อแท้
หลงกรุง
สารคดีท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ นำเสนอผ่านหนุ่มต่างชาติ ตัวแทนจากซีกโลกตะวันตก ผู้หลงใหล ในวิถีชีวิตแบบตะวันออก โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และเมืองไทย ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ และมนต์ขลัง จนทำให้หนุ่มฝรั่งคนนี้ ต้องออกเดินทางเพื่อบันทึกเรื่องราว วีถีชีวิต ความเชื่อ ความศรัทธา และสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ แบบที่ฝั่งตะวันตกบ้านตนไม่มี แล้วนำเอาบันทึกประสบการณ์ ความประทับใจนั้น มาเผยแพร่ให้แก่สายตาผู้คน เพื่อให้เห็นมุมมองใหม่ๆ ในแนวคิดแบบฝรั่งต่อเรื่องนั้นๆ ว่าเขาคิดเห็นเป็นเช่นไร