วันนี้ (10 พ.ค.) นายสมศักดิ์ สิทธิเกรียงไกร ผอ.กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ผู้ประกอบธุรกิจอาหารในยุคปัจจุบัน นิยมใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากโฟมกันมาก เนื่องจากราคาไม่สูง สะดวกในการซื้อหา น้ำหนักเบา ใช้แล้วทิ้งได้เลย ไม่ต้องตามกลับมาล้างให้วุ่นวาย จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายตั้งแต่แผงลอย รถเข็น ร้านอาหาร ไปถึงตามนิทรรศการงานแฟร์ต่างๆ ทั้งในรูปของจาน กล่อง ถ้วยกาแฟ จนกระทั่งถาดโฟม ด้วยการขาดความรู้ หรือข้อมูลด้านความปลอดภัยของอาหารที่ไม่ดีพอของผู้ประกอบการ แม่ค้าพ่อค้าขายอาหาร และผู้บริโภคในบ้านเรา จึงทำให้ภาชนะโฟม ถูกนำมาใช้บรรจุอาหารผิดประเภท และมีความเสี่ยงสูงในการเกิดพิษสะสมในร่างกายของผู้บริโภค
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า โดยปกติแล้วกล่องโฟม ถ้วยโฟม ประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะทำมาจากพลาสติกชนิดที่มีชื่อว่า โพลีสไตรีนโฟม ซึ่งเป็นสารโพลิเมอร์ จำพวกหนึ่ง กรรมวิธีการผลิตก็คือเอาไปผ่านความร้อนด้วยไอน้ำ จากนั้นจะถูกนำไปรีดให้เป็นแผ่น เรียกว่า แผ่นโพลิสไตรีนโฟม ก่อนที่จะนำไปขึ้นรูปเป็นภาชนะบรรจุอาหารรูปร่างต่างๆ ตามต้องการ อย่างที่เราเห็นๆ และใช้กันอย่างหลากหลายในท้องตลาดอยู่ทุกวันนี้ หากใช้บรรจุอาหารที่มีอุณหภูมิสูง หรือที่เรียกง่ายๆว่า อาหารร้อนๆ รวมทั้งอาหารที่มีไขมัน หรือแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดการปลดปล่อยสารสไตรีนออกมา ซึ่งสารนี้เป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ในร่างกายมนุษย์ และสัตว์ ออกมาปะปนกับอาหารที่เราทาน โดยที่เรามองไม่เห็น และไม่รู้ตัว
ปริมาณของสารสไตรีน ที่หลุดออกมาปะปนในอาหาร จะขึ้นกับปัจจัยหลักได้แก่ อุณหภูมิของอาหารที่บรรจุ ปริมาณไขมันในอาหาร และระยะเวลาที่ภาชนะโฟมสัมผัสอาหาร สารดังกล่าวจะละลายได้ดีในน้ำมัน และแอลกอฮอล์ ดังนั้นเมื่อใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารที่มันๆ ถ้าเป็นของปรุงใหม่ๆ ร้อนๆ แล้วมีการตัก หรือบรรจุ ทิ้งให้อาหารสัมผัสกับภาชนะโฟมเป็นเวลานานด้วยแล้ว ยิ่งมีการปลดปล่อยสารสไตรีนออกมาสู่อาหารได้มากขึ้น
" ไม่แต่เฉพาะของร้อน แม้แต่อาหารที่เป็นของแข็งที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน หรือ เนยแข็งที่บรรจุอยู่ในถาดโฟมในซุปเปอร์มาร์เก็ตเอง ก็ถูกปนเปื้อนด้วยสารสไตรีน จากถาดโฟมที่บรรจุอยู่ได้เช่นเดียวกัน ส่วนในเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ หรือกรดในชามะนาวเอง ก็มีผลให้การละลายของ สารสไตรีน ลงสู่อาหารที่บรรจุอยู่ได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน" นายสมศักดิ์ กล่าว.