วันนี้ 10 พ.ค. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.) นายณรงค์ฤทธิ์ สุขสาร หรือฉายา “ตาเล็ก วินโดว์ 98 เอสอี” อายุ 29 ปี ผู้ต้องสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแฮกเว็บไซด์ของสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าพบ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผบก.ปอท. เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว
นายณรงค์ฤทธิ์ เปิดเผยว่า ในวันนี้ตนได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งตนยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ที่แฮกเข้าเว็บไซต์ดังกล่าว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยตั้งข้อสังเกตว่าตนเองอาจถูกกลั่นแกล้งจากฝ่ายตรงข้าม ซึ่งตนเคยมีปัญหาขัดแย้งกันมาก่อนกับ Unlimited hack team ทีมแฮกเกอร์ชื่อดัง ซึ่งได้มาท้าทายให้ตนแฮกเจาะเข้าเว็บไซต์ของกลุ่มนี้ ตนเลยลองทำดูจึงได้เจาะแฮกเข้าเว็บเขา คาดว่าน่าจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดกันมากกว่า โดยกลุ่มดังกล่าวได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องทำให้ตนเองตกเป็นผู้ต้องสงสัย ทั้งนี้การเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้เพื่อที่ตนจะให้คำแนะนำในการสืบหาตัวผู้กระทำความผิดตัวจริง เนื่องจากตนเองมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ รวมถึงเคยเป็นผู้สอนการแฮกข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ทำให้รู้ระบบของการแฮกซึ่งครั้งนี้จะเข้าไปดูว่าผู้แฮกใช้วิธีใดในการแฮกข้อมูล เพราะโดยปกติแฮกเกอร์จะมีการปลอมตัว แต่จะมีพฤติกรรมบางอย่างที่สามารถทำให้ติดตามได้ โดยขอเปรียบเหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบหาคนร้าย ขณะที่คนร้ายพยายามหลบหนี ตนเองจะพยายามเส้นทางของแฮกเกอร์ตัวจริง
“สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวในวงการแฮกเกอร์ก็มีการพูดคุยกันบ้าง แต่ก็เป็นการพูดคุยกันตามปกติว่าถูกแฮกอีกแล้วเหรอ เพราะว่ากลุ่มดังกล่าวมักจะชอบแฮกเจาะเข้าเว็บไซต์ต่างๆเป็นประจำอยู่แล้ว ทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน หรือเว็ตไซต์ช่อง 3 ก็เคยโดยแฮกด้วยเหมือนกัน ซึ่งตนยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนทำอย่างแน่นอน” ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว
ด้าน พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า เบื้องต้น นายณรงค์ฤทธิ์ ยังไม่ตกเป็นผู้ต้องหาและยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งนายณรงค์ฤทธิ์ เป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มผู้ต้องสงสัย จึงได้เชิญตัวเข้าพบเจ้าหน้าที่เพื่อต้องการให้ช่วยเหลือนำความรู้ด้านแฮกเกอร์มาช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนหาผู้กระทำความผิดตัวจริง ซึ่งในวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสอบปากคำนายณรงค์ฤทธิ์ รวมถึงจะไปตรวจค้นที่บ้านและนำคอมพิวเตอร์ที่นายณรงค์ฤทธิ์ใช้ประจำมาตรวจสอบหาพยานหลักฐานทางดิจิตอล พร้อมยอมรับว่าการสืบหาหลักฐานทางดิจิตอลทำได้ยาก เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มักพรางตัว หากเชื่อตามพยานหลักฐานที่เห็นอาจทำให้หลงทางได้ ซึ่งนอกจากนายณรงค์ฤทธิ์แล้วยังมีกลุ่มแฮกเกอร์ต้องสงสัยอยู่ประมาณ 20 คน จึงจะใช้วิธีการให้แฮกเกอร์จับแฮกเกอร์ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถหาตัวผู้กระทำความผิดตัวจริงได้ และในวันนี้จะได้รายชื่อแฮกเกอร์ในเมืองไทยทั้งหมดถึงมือเจ้าหน้าที่อย่างแน่นอน สำหรับโทษในการแฮกเข้าระบบคอมพิวเตอร์นั้น จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฐานบุกรุกเข้าระบบพบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ทั้งนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์ ก็จะมีความผิดทางอาญาด้วย ส่วนจะเป็นการว่าจ้างจากฝ่ายตรงข้ามหรือไม่นั้น ในจุดนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น ซึ่งคงต้องรอให้ได้ผู้กระทำผิดตัวจริงมาเสียก่อน ถึงจะสอบสวนขยายผลต่อไป.