นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เสนอร่างกฎกระทรวงความประพฤติ การแต่งกาย และแบบทรงผมของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. ... ให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณา เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อนประกาศใช้แล้ว ซึ่งร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติฯ แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ หมวด 1 ความประพฤติ กำหนดให้นักเรียน และนักศึกษาต้องประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน หรือสถานศึกษาที่สังกัดอยู่ และต้องไม่ประพฤติตนดังต่อไปนี้ หนีเรียน หรือออกนอกสถานศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงเวลาเรียน เล่นการพนัน จัดให้มีการเล่นการพนัน หรือมั่วสุมในวงการพนัน พกพาอาวุธ หรือวัตถุอันตราย แสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี ออกนอกสถานที่พักเวลากลางคืนเพื่อเที่ยวเตร่ หรือรวมกลุ่ม อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง หรือผู้อื่น และโรงเรียน หรือสถานศึกษาอาจกำหนดระเบียบว่าด้วยความประพฤติของนักเรียน และนักศึกษาได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย่งกับกฎกระทรวงนี้
นางพนิตากล่าวต่อว่า หมวด 2 การแต่งกาย นักเรียน และนักศึกษาต้องแต่งกายให้เหมาะสมกับวัย และสภาพการเป็นนักเรียน และนักศึกษา นักเรียนต้องแต่งกาย หรือแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาต้องแต่งกาย หรือแต่งเครื่องแบบนักศึกษาตามข้อบังคับ หรือระเบียบของสถานศึกษานั้น และนักเรียน นักศึกษาห้ามใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อเสริมสวย เว้นแต่กรณีมีความจำเป็น ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลพินิจของโรงเรียน หรือสถานศึกษาพิจารณาเป็นกรณีไป
นางพนิตากล่าวอีกว่า และหมวด 3 แบบทรงผม กำหนดให้นักเรียนต้องไว้ทรงผมแบบสุภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับกาลเทศะ ดังนี้ 1.นักเรียนชายให้ไว้ผมด้านข้าง และด้านหลังยาวไม่เลยตีนผม หรือผมรองทรงก็ได้ 2.นักเรียนหญิงให้ไว้ผมสั้น หรือยาวก็ได้ กรณีไว้ยาวก็ให้รวบให้เรียบร้อย ห้ามนักเรียน ดัดผม ซอยผม ทำสีผม ไว้หนวดเครา หรือทำการอื่นใดที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน โดยข้อกำหนดดังกล่าวนี้ ไม่ใช้บังคับกับนักเรียนในสถานศึกษาที่จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และนักศึกษา โดยให้ไว้ทรงผมแบบสุภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับกาลเทศะตามข้อบังคับ หรือระเบียบของสถานศึกษา
"ในหมวด 3 ยังระบุว่า หากนักเรียนมีความจำเป็นต้องไว้ทรงผมแตกต่างจากที่กำหนดไว้ เนื่องจากมีความจำเป็นทางศาสนา ประเพณี หรือความจำเป็นอื่นใด ก็ให้อยู่ในอำนาจของโรงเรียนเป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้ โรงเรียนอาจกำหนดแบบทรงผมของนักเรียนได้เท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ โดยให้รับฟังความคิดเห็น หรือทำประชาพิจารณ์จากนักเรียน และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา" นางพนิตากล่าว และว่า ทั้งนี้ คาดว่าร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะประกาศใช้ในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 นี้