เชื่อกันว่าหลายๆคนคงจะรู้จัก "ท่าอากาศยาน" หรือที่เรียกกันติดปากว่า "สนามบิน" เป็นอย่างดีแต่ก็คงมีคนที่ไม่รู้เคยรู้ว่า "สนามบินแห่งแรกของประเทศไทย" นั้นอยู่ที่ใดกันแน่ บ้างก็ว่าสนามบินดอนเมือง บ้างก็ว่าสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งนั่นล้วนแต่เป็นคำตอบที่ผิดทั้งสิ้น จริงๆแล้ว "สนามบินแห่งแรกของประเทศไทย" นั่นคือสนามบินอะไร? ตั้งอยู่ที่ไหน? มีประวัติความเป็นมาอย่างไร?...เราไปดูกันดีกว่าค่ะ...
แท้ที่จริงแล้ว "สนามบินแห่งแรกของประเทศไทย" ก็คือ "สนามม้าราชกรีฑาสโมสร" ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนอังรีดูนังต์ นั่นเองค่ะซึ่งในสมัยนั้นก็คือ "สนามบินสระปทุม" นั่นแน่..เกิดความสงสัยกันอยู่ใช่ไหมหละค๊ะว่า สนามม้า เนี่ยนะจะเป็น สนามบิน ไปได้อย่างไรกัน..ตามไปดูประวัติความเป็นมากันเลยดีกว่าค่ะ...
เครื่องบินออร์วิลล์ ไรท์ มาแสดงการบินครั้งแรก ที่สนามม้าสระปทุม ในปี พ.ศ. 2454
ย้อนกลับไปเมื่อสมัยอดีต ในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2446 พี่น้องสกุลไรท์ (The Wrights) ได้ทำการบินใช้เครื่องยนต์ เป็นผลสำเร็จ นับเป็นการริเริ่มการบินอย่างแท้จริงของโลก ต่อจากนั้นนานาประเทศได้กระตือรือร้น ที่จะทำการบินโดยใช้เครื่องยนต์บ้าง หลังจากนั้น 8 ปี คือ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2454 นักบิน ชาวเบลเยี่ยมชื่อ ฟัน เดน บอร์น (Van den Born) ได้ขออนุญาตนำเครื่องบินออร์วิลล์ ไรท์ (Orville Wright) มาบินแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สนามม้าราชกรีฑาสโมสร ปทุมวัน และในวันเดียวกันนั้นทำให้ประเทศไทยมีความสนใจและเล็งเห็นความสำคัญของการบินเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในด้านงานราชการ เพื่อการป้องกันประเทศและการคมนาคมทางอากาศ ดังนั้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2454 ประเทศไทย จึงได้ส่งนายทหาร 3 นาย คือ นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป ต่อมาได้เลื่อนเป็น พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ) นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร (หลง สิน ศุข ต่อมาได้เลื่อนเป็น นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์) และนายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต (ต่อมาได้เลื่อนเป็น นาวาอากาศ เอกพระยาทะยานพิฆาต) ไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังก้าวหน้าทางด้านการบินยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ ในขณะนั้น
นายทหารทั้ง 3 เมื่อสำเร็จการศึกษาวิชาการบิน ได้ไปดูงานในที่ต่างๆในยุโรป และเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2456 พร้อมด้วยเครื่องบินที่รัฐบาลไทยสั่งซื้อ จำนวน 7 เครื่อง คือ เครื่องบินแบบเบรเกต์ ปีก 2 ชั้น (Breguet) 3 เครื่อง และแบบนิเออปอรต์ ปีกชั้นเดียว (Nieuport) 4 เครื่อง นอกจากนั้นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้บริจากเงินส่วนตัวซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ ให้ทางการอีก 1 เครื่อง รวมเป็น 8 เครื่อง โดยกระทรวงกลาโหมได้มอบกิจการบินนี้ให้อยู่ในบังคับบัญชาของกรมจเรการช่างทหารบก โดยสร้างโรงเก็บเครื่องบินไว้ที่หลังโรงเรียนพลตำรวจ ปทุมวัน ปัจจุบันคือบริเวณด้านหลังของกรมตำรวจ ปทุมวัน และมีการสั่งให้ใช้สนามม้าราชกรีฑาสโมสรส่วนหนึ่งทำเป็นสนามทำการบินเรียกว่า " สนามบินสระปทุม" เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2456 นับเป็น "สนามบินแห่งแรกของประเทศไทย" และได้ยกย่องนายทหารทั้ง 3 นาย ว่าเป็น "บุพการีทหารอากาศ" นับเป็นนักบินและเครื่องบินชุดแรกของประเทศไทย
เครื่องบินแบบเบร์เกย์ และ เครื่องบินแบบนิเออปอร์ต
สนามบินสระปทุม
การบินจากสนามบินสระปทุมไปยังสนามบินดอนเมือง
วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2457 นายทหารนักบินทั้ง 3 ได้นำเครื่องบินจากสนามบินสระปทุม
มาลงที่สนามบินดอนเมืองเป็นปฐมฤกษ์ ในตอนเช้า
ต่อมาในปี 2457 กระทรวงกลาโหมเห็นว่าสนามบินสระปทุมพื้นที่มีความคับแคบมีเนื้อที่จำกัดมีน้ำท่วมขัง และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไม่เหมาะสม ทางราชการจึงคิดหาสถานที่ตั้งสนามบินแห่งใหม่ โดยมีนายพันโท พระเฉลิมอากาศ (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ครั้งสุดท้ายเป็น พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ)ทำหน้าที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการหาพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นสนามบินถาวร ซึ่งได้เลือกพื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ บริเวณตำบลดอนเมือง ซึ่งเดิมพื้นที่นี้เรียกว่า "ดอนอีเหยี่ยว" เพราะมีฝูงเหยี่ยวบินมารวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ดอนน้ำไม่ท่วม เวลาต่อมากรมเกียกกายทหารบกได้ดำเนินการปรับพื้นที่ให้เป็นสนามหญ้าที่เครื่องบินสามารถวิ่งและบินขึ้น-ลงได้ พร้อมทั้งสร้างโรงเก็บเครื่องบินและอาคารสถานที่ทำการตามความจำเป็น วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2457 กรมเกียกกายทหารบกดำเนินการแล้วเสร็จ ส่งมอบให้เจ้ากรมจเรช่างทหารบก และเรียกชื่อสนามบินนี้ว่า "สนามบินดอนเมือง" เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2457 ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 ได้มีการปรับปรุงสนามบินดอนเมืองแล้วเรียกว่า "ท่าอากาศยานดอนเมือง" จนกระทั่งวันที่ 21 มิถุนายน 2498 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ท่าอากาศยานกรุงเทพ"
และด้วยตลอดระยะเวลากว่า 92 ปีที่ผ่านมา ท่าอากาศยานกรุงเทพได้ทำการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับอากาศยาน ผู้โดยสาร และสินค้าอย่างเต็มที่ แต่ก็ด้วยความเจริญเติบโตของการขนส่งทางอากาศเป็นไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับพื้นที่เริ่มแออัด รัฐบาลจึงเล็งเห็นว่า หากท่าอากาศยานกรุงเทพไม่สามารถพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถได้มากกว่านี้ จะทำให้ความเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคนี้เสียไป จึงทำให้ทางรัฐบาลมีนโยบายก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขึ้นมาทดแทน ทำให้ท่าอากาศยานกรุงเทพ หรือ ดอนเมืองนี้ต้องทำการปิดบทบาทของตัวเองลงไปโดยปริยาย ในวันที่ 27 กันยายน 2549 นี้และคงเหลือไว้แต่เพียงตำนานให้กล่าวขานถึงเท่านั้น
เพราะในวันที่ 28 กันยายน 2549 "ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ" แห่งใหม่ทำการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ และดำเนินการบินเป็นสนามบินแห่งใหม่ของประเทศไทย
ที่มาและข้อมูล : www.Google.com, wikipedia.org, sbayjai.com
เรียบเรียงโดย : noguchieed สมาชิก www.clipmass.com