"เทคโนโลยี เวิลด์ ไวด์ เว็บ" (W3) นับเป็นจุดก้าวกระโดดอีกจุดหนึ่งในประวัติ ศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของระบบอินเตอร์เน็ตปัจจุบัน ที่มีประโยชน์มหาศาล ในด้านการเชื่อมต่อโครงข่ายข้อมูล ทั้งด้านความบันเทิง การศึกษา และการทำงานต่างๆ
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา เทคโนโลยีที่ว่านี้ มีอายุครบ 20 ปีพอดิบพอดีแล้ว
ย้อนกลับไปยังจุดกำเนิด (ก่อนอินเตอร์ เน็ตเกิด) เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2536 องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (เซิร์น) ได้มอบเทคโนโลยีดิจิตอล 3 ชนิด ให้แก่สาธารณชน คือ ยูนิฟอร์ม รีซอร์ส โลเคเตอร์ (URL) ไฮเปอร์เท็กต์ ทรานสเฟอร์ โปรโตคอล (HTTP) และ ไฮเปอร์เท็กต์ มาร์กอัพ แลงเกว็จ (HTML) ซึ่งเป็นผลผลิตจากมันสมองของ นายเบอร์เนอร์ส-ลี ที่สร้างของเล่นดิจิตอลของตัวเองขึ้นมาเป็นระบบการบริหารจัดการข้อมูล คือ หน้าต่างๆ ที่มีข้อความดิจิตอล (ไฮเปอร์เท็กต์) แต่ละหน้าเชื่อมโยงกันด้วย (ไฮเปอร์) ลิงก์ กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ เนื่องจากขณะนั้น การค้นหาข้อมูล ยังไม่มีระบบนี้ (ลองนึกถึง วิกิพีเดีย ที่ไม่มีลิงก์ แล้วต้องพิมพ์ที่อยู่ที่ชัดเจนลงไปทุกครั้งที่จะเปิดแต่ละหน้าขึ้นมาสิ)
ก่อนหน้านั้น นายเบอร์เนอร์ส-ลี เขียนระบบ URL ขึ้นมาเพื่อเป็นภาษาหลักในการระบุตำแหน่งข้อมูลโดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อแม้ใดๆ ต่อมาคือ HTTP ซึ่งเป็นระบบสื่อสารระหว่างเครื่องแม่ข่าย (Server) และเครื่องลูก (Client) เพื่อเรียกหน้าต่างข้อมูลที่เขียนด้วยภาษา HTML (เว็บไซต์) ขึ้นมา
จากนั้นนายลีจึงเขียนเครื่องแม่ข่ายเครื่องแรกของโลกในระบบ HTTP ด้วย โดยผลงานเกือบทั้งหมดของนายลี ใช้คอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวในการพัฒนา คือ "NeXT Computer" ของบริษัทที่ สตีฟ จ็อบส์ อดีตซีอีโอแอปเปิ้ลผู้ล่วงลับก่อตั้งขึ้น (สมัยที่เพิ่งโดนไล่ออกจากแอปเปิ้ลใหม่ๆ)
ต่อมาในปี 2533 นายลีจึงพัฒนาระบบ W3 (World-Wide-Web) ขึ้นใช้ และ 3 ปีถัดมา มีผู้พัฒนาต่อยอดกลายเป็นโปรแกรม "โมเซอิก" โดยศูนย์การประยุกต์ใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เอ็นซีเอสเอ) ของสหรัฐ สนับสนุนเงินทุนจากสภาคองเกรสที่ริเริ่มโดย อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ กระทั่งในปี 2537 เปลี่ยนชื่อเป็น Netscape และจุดเริ่มต้นของยุดสงครามเย็นเบราเซอร์ เมื่อไมโครซอฟท์ เปิดตัว "เอ็กซ์พลอเรอร์ 4" ในปี 2540
นอกจากนี้ ทางเซิร์นได้เผยแพร่เว็บไซต์แห่งแรกของโลก ที่นายลีเคยเขียนขึ้นด้วย ในโอกาส W3 ครบอายุ 20 ปี ตามลิงก์