'บุหรี่ไฟฟ้า' สินค้าขายฝันของคนอยาก 'เลิกบุหรี่'

 

 

 

 

 

 

“การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้” คือข้อความระบุขององค์การอนามัยโลก ที่ต้องการสร้างความตระหนักให้ประชากรโลกเล็งเห็นถึงโทษมหาศาลของบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพ

นับตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น ‘วันงดสูบบุหรี่โลก’ (World No Tobacco Day) โดยใช้คำขวัญในปีแรกว่า “บุหรี่หรือสุขภาพ ต้องเลือกสุขภาพ”

ถัดมาอีก 16 ปี ในปี 2546 ยาสูบหรือบุหรี่ ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็น ‘บุหรี่ไฟฟ้า' หรือที่รู้จักกันในชื่อเท่ๆ ว่า Electronic Cigarettes (E-cigarettes) โดยโฆษณาขายฝันกล่าวอ้างว่า สามารถช่วยสิงห์อมควันทั้งหลายในการ 'เลิกบุหรี่'

หากแต่ยังไม่มีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่มิได้รับทุนวิจัยจากกลุ่มบริษัทผู้ผลิต 'บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์' ออกมารองรับและเห็นพ้องกับการกล่าวอ้างดังกล่าว...

เช่นนี้แล้ว บุหรี่ไฟฟ้า จะ 'ช่วยให้เลิกสูบ' หรือ 'ช่วยให้สูบหนัก' มากขึ้นกันแน่?

หนังสือบุหรี่ไฟฟ้า เอกสารทางวิชาการ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ ให้ข้อมูลว่า บุหรี่ไฟฟ้าถือกำเนิดขึ้นในประเทศจีนเมื่อปี 2546 จากการทดลองประดิษฐ์ของนาย Hon Lik ซึ่งส่งผ่านแนวคิดต่อให้ บริษัท Golden Dragon Holdings ก่อนจะเปลี่ยนชื่อบริษัทในภายหลังเป็น Ruyan ที่แปลความออกมาได้ว่า 'เหมือนสูบ' และกระจายสินค้าเข้าสู่ประเทศในแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกาในปี 2549

ต่อมาในเดือนกันยายน ปี 2551 กรมการอนามัยโลกได้ออกมาประกาศว่า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ 'ไม่ใช่’ อุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับช่วยในการเลิกบุหรี่ และเรียกร้องให้ผู้ที่ทำการโฆษณาและการตลาด ห้ามเสนอแนะว่า องค์การอนามัยโลกพิจารณาแล้วว่า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ไม่มีอันตราย และมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ต้องการเลิกบุหรี่

สำหรับประเทศไทย ภายหลังกระทรวงสาธารณสุขประกาศมาตรการห้ามนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 โดยใช้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มาตรา 10 พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 แล้วนั้น

ทพญ. ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบกล่าวถึงสถานการณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยว่า จากการออกกฎหมายในครั้งนั้น ส่งผลให้ไทยไม่มีบริษัทนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาจัดจำหน่าย หากแต่ยังคงมีการ ‘ลักลอบ’ นำเข้ามาจำหน่ายอยู่ตามสถานที่แสดงสินค้าทั่วไป ร้านค้าอุปกรณ์เดินป่า และทางอินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย

โดยกลุ่มผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยมากจะเป็นกลุ่มคนวัยทำงานที่มีรายได้พอสมควร เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีราคาสูงกว่าบุหรี่ตามท้องตลาดทั่วไป

“แม้จะมีการกล่าวอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ แต่ทั้งนี้ ต้องบอกว่า ยังไม่มีผลการวิจัยใดๆ ออกมารองรับอย่างชัดเจน เพราะในบุหรี่ไฟฟ้าก็ยังมีสารนิโคติน ฉะนั้น แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ทั่วไป ร่างกายก็ยังจะได้รับสารนิโคติน ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายอยู่ดี นอกจากนี้ ประเด็นที่น่ากังวลก็คือ ปัจจุบันยังไม่มีการควบคุมความเข้มข้นของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า ที่ผ่านมา จึงเคยพบกรณีว่า มีสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าบุหรี่ธรรมดาสูงถึง 6 เท่า และแน่นอนว่า ปริมาณมากขนาดนั้น เมื่อสูบเข้าไป ย่อมส่งผลกระทบกับสุขภาพของผู้สูบ” ทพญ.ศิริวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ สารนิโคติน ไม่เพียงแต่เป็นสารก่อโรคมะเร็งร้าย แต่ยังมีผลเป็นพิษต่อระบบประสาทด้วย ที่สำคัญ นิโคติน ยังจัดเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง จึงทำให้ใครก็ตามที่เมื่อเริ่มสูบบุหรี่'ติดง่าย' แต่ 'เลิกยาก'

“สำหรับผู้ที่ออกมาบอกว่า ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้วเลิกสูบได้จริง ต้องมาดูว่า สูบมานานแล้วหรือเพิ่งสูบ ใช้ปริมาณความเข้มข้นของนิโคตินในการสูบต่อครั้งเท่าไร และในกลุ่มคนที่เลิกได้ คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะในปัจจุบัน ยังไม่มีผลวิจัยในคนไทยที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการเลิกบุหรี่ได้อย่างเห็นผล” ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ กล่าวเสริม

แม้จะมีคำอวดอ้างสรรพคุณว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้น ไร้ควัน หรือส่งกลิ่นออกมาทำร้ายผู้อื่น เช่นเดียวกับบุหรี่หรือยาสูบทั่วไป แต่ควรแล้วหรือ ที่จะใช้เส้นทางการเลิกบุหรี่ ด้วย E-cigarettes

เพราะถึงอย่างไรแล้ว 'บุหรี่ไฟฟ้า' ก็คือ ‘บุหรี่’ ชนิดหนึ่ง และที่ร้ายไปกว่านั้นคือ 'บุหรี่ไฟฟ้า' ให้สารนิโคตินก่อมะเร็งมากกว่าถึง 6 เท่า ดังนั้นย่อมทำลายสุขภาพ และ ‘ตาย’ ผ่อนส่งไม่ต่างกัน...

 

Credit: http://board.postjung.com/676221.html
7 พ.ค. 56 เวลา 13:55 4,253 2 100
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...