รายงานพิเศษ
ทันทีที่ "คณะสมาชิกรัฐสภา" จำนวน 312 คน เปิดเกมรุกผ่านการแถลงข่าวเปิดเนื้อหา "จดหมายเปิดผนึก" เรื่องคัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 หน้า ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2556
โดย "คณะสมาชิกรัฐสภา" ระบุในตอนท้ายของ "จดหมายเปิดผนึก" ไว้ว่า "หากเป็นการวินิจฉัยที่เกินขอบเขตอำนาจแล้วก็ไม่มีผลผูกพันองค์กรอื่น องค์กรต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญจึงชอบที่จะใช้อำนาจหน้าที่ของตนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ต่อไปได้"
นั่นหมายความว่า หาก "คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" จะมีคำวินิจฉัยในคำร้องขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพื่อลิดรอนสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ ออกมาในทางที่เป็น "ผลดี" หรือ "ผลร้าย" ต่อ "สมาชิกรัฐสภา" คำวินิจฉัยของ "คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ย่อมไม่มีผลผูกพันให้ "รัฐสภา" ดำเนินการหยุดยั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้
ยิ่งหากคำวินิจฉัยของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ออกมาในทางที่เป็น "ผลทางร้าย" ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ก็จะเดินเกมโต้ตอบ "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ทันทีด้วยการยื่นถอดถอนเมื่อเข้าองค์ประกอบแห่งการกระทำความผิดเกิดขึ้น
เมื่อ "คณะสมาชิกรัฐสภา" เปิดเกมลุยแก้ไข "รัฐธรรมนูญ" โดยไม่คิดถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาในทางใดก็ตาม
แต่ทางหนึ่ง "ศาลรัฐธรรมนูญ" ก็ได้ดำเนินการให้ตัวแทนของ "สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ" แจ้งความดำเนินการแกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) หรือ กลุ่มแดงหน้าศาลรัฐธรรมนูญ
เพราะหลังจากที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" รับคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 มาไว้พิจารณาวินิจฉัย ส่งผลให้การวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ถูกแพร่ขยายออกไปเป็นวงที่กว้างขวาง
ทำให้ "ภาคประชาชน" ออกมาชุมนุมหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยกระดับชุมนุมเรือนแสน เพื่อกดดันให้ "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ยุติการปฏิบัติหน้าที่
ล่าสุด "สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ" ได้กล่าวโทษ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ตามประมวลกฎหมายอาญา
กรณี "เรืองไกร" กล่าวหาและให้สัมภาษณ์ว่า ชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นความผิดอาญา มาตรา 112 โดยแอบอ้างเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดี โดยสรุปว่า "ชัช" ไม่อาจเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อีก เพราะได้พ้นตำแหน่งจากการลาออกประธานศาลรัฐธรรมนูญ
กลายเป็นการ "โต้ตอบ" ของ "คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" เป็นการใช้สิทธิพิทักษ์การทำหน้าที่ของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ซึ่งเห็นว่าเป็นการวินิจฉัยโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกัน หากการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" เป็นไปโดยสุจริต แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีหน้าที่พิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของ "ประชาชน" และไม่มีกฎหมายละเมิดอำนาจ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ก็ตาม
แต่หาก "ศาลรัฐธรรมนูญ" จะใช้กฎหมายอาญาเพื่อฟ้องหมิ่นประมาทตัวบุคคลที่วิพากษ์ศาลโดยสุจริต ก็เท่ากับว่า "ตุลาการ" จะลงมาปะทะกับ "ประชาชน" จนกลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่อาจลุกลามได้!
ขณะที่สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แม้การ "พูดคุยสันติภาพ" ระหว่าง "ทางการไทย" กับ "กลุ่ม
บีอาร์เอ็น" ในรอบที่ 3 เพิ่งเสร็จสิ้นไป
ปัจจัยหนึ่ง คือยังมี "กลุ่มวัยรุ่น" ที่ได้รับการฝึกอาวุธจาก "กลุ่มบีอาร์เอ็น" ไม่ยอมรับการ "พูดคุยสันติภาพ" ที่เกิดขึ้น โดยมี "แกนนำ
บีอาร์เอ็น" บางส่วน ที่ไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่คอยให้การสนับสนุน คอยคิดแผนการให้อยู่อย่างลับๆ
ปัจจัยหนึ่ง คือยังมี "กลุ่มก่อความไม่สงบ" หลายกลุ่ม ที่ "ตกขบวน" การ "พูดคุยสันติภาพ" พยายามออกมาก่อเหตุความรุนแรง เพื่อต่อรองกับ "ทางการไทย" ต่อรองกับ "กลุ่มบีอาร์เอ็น" ให้เข้ามามีส่วนร่วมในวง "พูดคุยสันติภาพ"
ปัจจัยหนึ่ง ซึ่งไม่อาจมองข้ามได้เลยคือการ "แก้แค้น" ให้กับ "เพื่อนร่วมอุดมการณ์" ที่โดน "เจ้าหน้าที่รัฐ" วิสามัญฆาตกรรม ทั้งในที่ "ลับ" และที่ "แจ้ง" โดย "กลุ่มก่อความไม่สงบ" เช็กชื่อกันอยู่ตลอดเวลาว่ามีใครโดนวิสามัญฆาตกรรมบ้าง
โดยเป้าหมายหลักของ "กลุ่มก่อความไม่สงบ" ยังเป็น "เจ้าหน้าที่รัฐ" แต่หากไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากช่วงนี้ "เจ้าหน้าที่รัฐ" มีความระมัดระวังในการออกปฏิบัติหน้าที่ขั้นสูงสุด "กลุ่มก่อความไม่สงบ" จึงเบนเข็มไปเล่นเป้าหมายรองอย่าง "ประชาชน" จึงปรากฏภาพกราดยิง "ประชาชน" เสียชีวิต 6 ศพ
ดังนั้น สิ่งที่ "เจ้าหน้าที่รัฐ" ต้องทำให้เข้มข้นมากที่สุดคือเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เข้มงวดกว่าเดิม
ส่วนการ "พูดคุยสันติภาพ" ที่ต้องเดินหน้าต่อ แม้ "กลุ่มบีอาร์เอ็น" นำโดย ฮัสซัน
ตอยิบ และ อับดุลการิม คาลิบ จะออกมายื่นข้อเสนอ 5 ข้อ ให้ "ทางการไทย" ดำเนินการตามข้อเสนอ ก่อนที่จะมีการ "พูดคุยสันติภาพ" กันในวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา
แต่ "ทางการไทย" ซึ่งนำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ไม่เพลี่ยงพล้ำ แม้บนโต๊ะพูดคุยจะเต็มไปด้วยความดุเดือด เมื่อ "ฮัสซัน" และ "อับดุลการิม" จะไม่ยอมอ่อนข้อจี้ให้ "ทางการไทย" ดำเนินการตามข้อเสนออยู่ตลอดเวลา
จนคณะของฝ่ายไทยแต่ละคนต้องคอยปลอบกัน ซึ่งทุกคนท่องคาถา "อดทน" กันทุกคน จนทำให้ "กลุ่มบีอาร์เอ็น" ยอมถอยให้ "ทางการไทย" หนึ่งก้าว ยินยอมให้ "ทางการไทย" กลับมาศึกษาข้อเสนอของ "กลุ่มบีอาร์เอ็น" ก่อน
โดยมีนัดหมาย "พูดคุยสันติภาพ" กันอีกในวันที่ 13 มิถุนายน ซึ่งถึงเวลานั้นต้องจับตาว่า "ทางการไทย" กับ "กลุ่มบีอาร์เอ็น" ใครจะออกมาถือความได้เปรียบก่อนถึงเวลานัดหมายกันอีกหรือไม่
แต่ที่น่าจับตามากที่สุดคือการยื่นข้อเสนอกลับของ "ทางการไทย" เพื่อบลั๊ฟ "กลุ่มบีอาร์เอ็น" ที่ออกมาเสนอ 5 ข้อ ซึ่งว่ากันว่าจะเป็นข้อเสนอที่ "กลุ่มบีอาร์เอ็น" ไม่สามารถดำเนินการได้เช่นกัน โดยจะออกมาในรูปแบบใดต้องติดตาม
เพราะทั้งหมดยัง "ปิดลับ" กันอยู่ เกรงว่า "กลุ่มบีอาร์เอ็น" จะดักทางได้ก่อน
หน้า 8 มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2556
<a href='http://ads.matichon.co.th/www/delivery/ck.php?n=a3d2c893&amp;cb=INSERT_RANDOM_NUMBER_HERE' target='_blank'><img src='http://ads.matichon.co.th/www/delivery/avw.php?zoneid=1122&amp;cb=INSERT_RANDOM_NUMBER_HERE&amp;n=a3d2c893' border='0' alt='' /></a>