แสตมป์ชุดแรกของโลก เพนนีแบล็ค
เรียบเรียงและรวบรวม : teen.mthai.com ข้อมูล : สำรวจโลก สยามแสตมป์
กำเนิด แสตมป์ชุดแรกของโลกปี คศ.1836 (พ.ศ.2379) นาย โรว์แลนด์ ฮิลล์ ( Rowland Hill ) ชาวอังกฤษ ได้เสนอวิธี คิดค่าธรรมเนียมในการฝากส่งจดหมาย โดยให้ถือน้ำหนักเป็นเกณฑ์ และกำหนดให้มีมาตรฐานต่อจดหมาย 1 ฉบับ ต่อ 1 เพนนี นอกจากนี้ได้เสนอให้มีการ จัดพิมพ์ตราไปรษณียากร หรือ แสตมป์ ( Postage Stamp ) สำหรับให้ผู้ใช้บริการซื้อไว้เพื่อปิดผนึกบนห่อซองจดหมาย ณ บริเวณมุมบนด้านขวามือ เพื่อแสดงให้ทราบว่าจดหมายฉบับนั้นได้ชำระค่าธรรมเนียมแล้ว
แสตมป์ชุดแรกของโลก เพนนีแบล็ค
นับย้อนหลังไปประมาณ 100 ปี การส่งข่าวสารเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะการคมนาคมยังไม่สะดวก การติดต่อระหว่างเมือง ประชาชนต้องฝากข่าวสารไปกับผู้เดินทาง ซึ่งทำให้เสียเวลาและล่าช้ามาก ต่อมาประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น จึงมีการจัดตั้งสถานกงสุลขึ้นในกรุงเทพ ฯ สถานกงสุลอังกฤษ ได้ริเริ่ม การไปรษณีย์กับต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2418 โดยการรับฝากจดหมาย หรือหนังสือจากประเทศไทย ไปยังที่ทำการไปรษณีย์ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อส่งไปยังจุดหมายปลายทาง โดยใช้ตราไปรษณียากรซึ่งนำมาจากสิงคโปร์ พิมพ์อักษรคำว่า “B“ ลงบนตราไปรษณียากรนั้น แทนคำว่า “BANGKOK“ ผนึกทับบนจดหมาย หรือหนังสือเพื่อฝากส่งไปกับเรือพาณิชย์ แต่กิจการดังกล่าวได้ยกเลิกไปเมื่อเริ่มมี บริการไปรษณีย์ของสยาม อย่างเป็นทางการ
ในระยะเดียวกับที่สถานกงสุลอังกฤษริเริ่มการไปรษณีย์กับต่างประเทศนั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กับเจ้านายกลุ่มหนึ่ง ได้ร่วมกันออกหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ “ข่าวราชการ” (COURT) ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจมาก จึงทำให้ต้องมีคนเดินส่งหนังสือแก่สมาชิกทุกเช้า ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จึงได้ทรงจัดพิมพ์ “ ตั๋วแสตมป์ ” เพื่อใช้เป็นค่าบริการส่งหนังสือพิมพ์ ซึ่งต่อมาแสตมป์ได้ขยายไปถึง การเดินส่งจดหมายแก่สมาชิกด้วย โดยตั๋วแสตมป์ 1 ดวง แทนราคา 1 อัฐ แต่ตั๋วแสตมป์ดังกล่าวไม่มีตัวอักษร หรือเลขหมายบอกราคาไว้
ประมาณปี พ.ศ.2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ให้ทรงจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์แก่ข้าราชการและราษฎร ซึ่งต้องกับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงส่งเจ้าหมื่นเสมอใจราชไปดูงานด้านไปรษณีย์ที่ประเทศจีนและสิงคโปร์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ผู้ทรงมีประสบการณ์ด้านไปรษณีย์ เตรียมการจัดตั้งกิจการไปรษณีย์ตามอย่างในต่างประเทศ
ไปรสะนียาคาร
การตระเตรียมการเพื่อก่อตั้ง กิจการไปรษณีย์ ได้เตรียมการล่วงหน้า 2 ปี สำหรับงานภายในได้มีการร่างประกาศเรื่องการไปรษณีย์และข้อบังคับต่างๆ กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม จัดทำตราไปรษณียากรหรือแสตมป์ไว้ใช้งาน จัดเตรียมสถานที่ตั้งที่ทำการไปรษณีย์ โดยกำหนดให้ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเหนือปากคลองโอ่งอ่าง เป็นที่ทำการของกรมไปรษณีย์ เรียกว่า “ ไปรษณียาคาร ” หรือสะกดตามอักษรในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า “ ไปรสะนียาคาร “
เมื่อเวลาล่วงลุถึงวันเสาร์ขึ้น 1 ค่ำ เดือนเก้า ปีมะแม เบญจศก จุลศักราช 1245 ตรงกับวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนากิจการไปรษณีย์ นับเป็นครั้งแรกในบ้านเมืองเราที่ราษฎรสามารถส่งข่าวสารได้อย่างมีระบบและสะดวกสบาย
แสตมป์ชุดแรกของไทย ” ชุดโสฬศ ”
แสตมป์ชุดแรกของไทย “ ชุดโสฬศ ” ประกอบด้วยราคา 1 โสฬศ ,1 อัฐ ,1 เสี้ยว ,ซีกหนึ่ง ,สลึงหนึ่ง และ เฟื้องหนึ่ง จัดพิมพ์ที่บริษัท Waterlow and Sons Ltd. ประเทศอังกฤษ จำนวนพิมพ์ชนิดราคาละ 5 แสนดวง เริ่มนำออกใช้วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2426 ในวันนั้นเนื่องจากแสตมป์ราคาเฟื้องหนึ่งส่งมาไม่ทัน กรมไปรษณีย์จึงงดใช้และนำมาจำหน่ายเพื่อการสะสมภายหลัง
แสตมป์ชุดโสฬศ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์เบื้องซ้ายภายในวงกรอบรูปไข่ ตัวหนังสือและตัวเลขใช้อักษรและเลขไทยล้วน ด้านหลังไม่มีกาวและไม่มีลายน้ำ
ประวัติการสะสมแสตมป์
แสตมป์ชุดแรกของประเทศไทย
เมื่อ แสตมป์ชุดแรกของโลก “ เพนนี แบล็ค ” ( PENNY BLACK ) ออกจำหน่ายแล้ว ประเทศต่างๆจึงได้จัดพิมพ์แสตมป์ออกมาใช้ในกิจการไปรษณีย์ของตนบ้าง หลังจากแสตมป์ดวงแรกออกจำหน่ายได้ประมาณ 2 ปี มีผู้พบเห็นประกาศแจ้งความในหนังสือพิมพ์ “Time of London” ในเช้าวันหนึ่งว่า ต้องการรับซื้อแสตมป์ใช้แล้วจำนวนมาก สุภาพสตรีผู้ลงประกาศท่านนี้เป็นครู เธอต้องการนำแสตมป์ดังกล่าวไปประดับฝาผนังเคหสถานของเธอ ต่อจากนั้นอีก 10 ปี ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ครูท่านหนึ่งได้ให้ลูกศิษย์หาแสตมป์ใช้แล้วมา เพื่อประกอบการเรียนวิชาภูมิศาสตร์ โดยเธอให้เด็กๆค้นหาว่าแสตมป์ที่นำมาเป็นของประเทศใด และประเทศนั้นอยู่บริเวณใดของแผนที่โลก
การใช้แสตมป์เป็นสื่อการสอน ทำให้เด็กได้รับความรู้และสนุกสนาน หลังจากนั้นเป็นต้นมา การสะสมจึงพัฒนาก้าวหน้าขึ้น มีการนำมาเก็บใส่อัลบั้ม
สำหรับการสะสมในบ้านเรานั้น ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับ แสตมป์ชุดแรกของประเทศไทย โดยชาวต่างประเทศที่เข้ามารับราชการและติดต่อค้าขายเป็นผู้เริ่มต้นสะสมก่อน ภายหลังจึงมีการสะสมกันในหมู่ชาวไทย
เพราะว่า แสตมป์ เป็นสิ่งที่หาง่าย ราคาไม่แพง มีความสวยงามแตกต่างกันออกไป จึงทำให้ผู้พบเห็นเกิดความเพลิดเพลิน เบิกบานใจ และได้รับความรู้ หากค้นคว้าถึงที่มาของภาพที่ปรากฏอยู่บนดวง แสตมป์