ดันแผนปิดคุกอัปยศ โอบามาวางเดิมพันรอบใหม่

นักโทษเสื้อแดงคนหนึ่งที่ถูกคุมขังอยู่ ณ เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ เคยบอกว่า แม้จะมีความสะดวกสบายอยู่บ้าง สามารถเดินเหินได้ แต่ก็ยังรอวันได้รับอิสรภาพอยู่ดี



"คนเราถ้าไม่มีเสรีภาพ ก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม" คือถ้อยคำที่ฝากมายังโลกภายนอก



เชื่อว่าความต้องการเสรีภาพในชีวิตเช่นนี้เป็นที่เข้าใจของมนุษย์ทั่วโลก และน่าจะรวมถึงบรรดานักโทษซึ่งกำลังก่อการอดข้าวประท้วงที่พวกตนถูกขังไว้อย่างไม่มีกำหนดในเรือนจำกวนตานาโม ที่ตั้งอยู่ในประเทศคิวบา แต่อยู่ใต้อาณัติของรัฐบาลสหรัฐ



คุกกวนตานาโม หรือที่ชาวอเมริกันเรียกย่อๆ ว่า "กิตโม่" สร้างไว้เพื่อกักตัวผู้ที่สงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย แต่นักโทษหลายคนก็ถูกพิสูจน์สิ้นแล้วว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ แต่ก็ยังถูกกักตัวไว้อยู่ดี ไม่มีการตั้งข้อหา และไม่มีการพิจารณาคดี



เมื่อนักข่าวจากซีบีเอสนิวส์ลุกขึ้นถามประธานาธิบดีบารัก โอบามา ถึงเรื่องนี้ ได้คำตอบทันทีว่า ต้องปิดคุกแห่งนี้ เนื่องจากขัดต่อหลักการประชาธิปไตยอเมริกัน



นับเป็นการย้ำสัญญาเก่าซึ่งเคยลั่นไว้ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งสมัยแรกเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ก็ล้มเหลวมาตลอด



การอดข้าวประท้วงครั้งนี้ที่กิตโม่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ถือว่าเป็นการลุกฮือครั้งใหญ่ที่สุด เพราะมีคนร่วมการประท้วงด้วยอย่างน้อย 100 คน จากนักโทษ 166 คนในกิตโม่


โอบามาลงนามเมื่อ 4 ปีก่อน





เนื่องจากกิตโม่เป็นพื้นที่ปิดลับ ทางการสหรัฐจึงไม่อนุญาตให้ ผู้สื่อข่าวเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ แต่นักโทษคนหนึ่งให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ผ่านทนายว่าพวกตนถูกเจ้าหน้าที่จับมัดบนเก้าอี้ และยัดท่อส่งอาหารยาว 18 นิ้วผ่านจมูกลงไปในท้องเพื่อ ไม่ให้นักโทษเสียชีวิตจากการอดข้าว ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดและสร้างความอับอายอย่างมาก



ในจำนวนนักโทษ 166 คนที่กิตโม่ มีเพียงไม่กี่หยิบมือที่กำลังรอขึ้นศาลทหาร (เช่น ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าวางแผนวินาศกรรม 11 ก.ย. 2544) ส่วนที่เหลือเป็นบุคคลที่ทางการสหรัฐจับตัวมาจากสมรภูมิในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และเยเมน ซึ่งต่อมาก็ปรากฏว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายดังที่กล่าวมาแล้ว



แต่ทางการสหรัฐยังไม่ยอมส่งตัวคนเหล่านี้กลับประเทศ เนื่องจากบรรดาส.ส.จากทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันหลายคนคัดค้าน โดยมีเหตุผลต่างกันไป



ฝ่ายรีพับลิกันเกรงว่า ถ้าหากส่งกลับไปยังเยเมนหรืออัฟกานิสถาน ผู้ต้องสงสัยเหล่านี้อาจหันมาเข้าร่วม (หรือกลับเข้าร่วม) กับขบวนการก่อการร้าย และประเทศเหล่านี้ไม่มีศูนย์กักกันหรือฟื้นฟูผู้ที่เคยเข้าร่วมการก่อการร้ายอย่างรัดกุมพอ



ขณะที่พรรคเดโมแครตกลัวว่า ผู้ต้องขังจากกิตโม่จะได้รับอันตรายหากปล่อยตัวกลับไปยังประเทศบ้านเกิดเสียเอง เพราะทางการประเทศเหล่านี้อาจมองว่าอดีตนักโทษในเรือนจำเดียวกันกับผู้ก่อ การร้ายตัวเป้งหลายคน เป็นขุมทองทางข้อมูลข่าวกรอง และอาจจะจับกุมตัวอดีตนักโทษไปคุมขังพร้อมทรมานเพื่อรีดเอาข้อมูล


หน้าเรือนจำและสภาพข้างใน





ดังนั้น หากจะปล่อยตัวผู้ต้องขังไปสู่อิสรภาพ ทางเดียวก็คือสหรัฐต้องส่งตัวไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งมีความมั่นคงและห่างไกลจากภัยก่อการร้าย แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีประเทศใดเสนอตัวรับภาระ ดังกล่าว ผู้ต้องขังที่กิตโม่จึงยังต้องติดอยู่ในแดนสนธยาทางกฎหมายต่อไป โดยไม่รู้ว่าวันใดจะได้เสรีภาพอีกครั้ง (บางคนถูกจับมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน เรียกว่าโตและแก่ในคุก)



ทั้งนี้ แม้แต่การจับผู้ต้องสงสัยบางคนขึ้นศาลทหาร ก็ยังเป็นที่วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิพลเมือง เพราะศาลทหารมีแต่เจ้าหน้าที่จากฝ่ายกองทัพ ไม่ใช่พลเรือน ซึ่งกลุ่มสิทธิเกรงว่าผู้ต้องหาจะไม่ได้รับความเป็นธรรมเหมือนในศาลพลเรือน แต่ส.ส.รีพับลิกันที่ยึดคุม สภาคองเกรสอยู่ก็ต่อต้านการส่งผู้ต้องสงสัยคดีก่อการร้ายจากกิตโม่ไปขึ้นศาลพลเรือน ด้วยการปฏิเสธที่จะให้งบฯ แก่โครงการใดๆ ที่จะนำบุคคลเหล่านี้ขึ้นศาลพลเรือน โดยอ้างว่าเป็นเรื่อง "ความมั่นคง"



กลุ่มสิทธิมองว่า กรณีกิตโม่นี้เป็นรอยด่างพร้อยของสหรัฐที่มี ภาพลักษณ์ว่าเป็นชาติประชาธิปไตยและยึดมั่นในสิทธิมนุษยชน และนายโอบามาก็กล่าวเห็นด้วยกับประเด็นนี้



มหกรรมชักเย่อ ณ คุกฉาวโลกแห่งนี้จึงยังดำเนินต่อไป และไม่รู้จะสิ้นสุดอย่างไร



โอบามาให้ความสำคัญแก่การปิดคุกกิตโม่มาก ชูเป็นประเด็น หาเสียงเมื่อปี 2551 และนั่งเซ็นคำสั่งให้ปิดคุกแห่งนี้ในวันแรกๆ ที่เป็นประธานาธิบดี สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก แต่สุดท้ายก็ถูก ต่อต้านจากสภาคองเกรสอย่างหนักจนต้องพับเก็บไป



บรรดานักวิเคราะห์มองว่านี่คือโอกาสที่นายโอบามาจะโชว์กึ๋นความเป็นผู้นำให้โลกเห็นว่า สามารถโน้มน้าวให้ส.ส.ทั้งฝ่ายตนเองและฝ่ายตรงข้ามหันมาสนับสนุนจุดยืนของตนเองได้หรือไม่



ก่อนหน้านี้นายโอบามาก็เสียหน้าอย่างมากมาแล้ว จากกรณี ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่รับรองมาตรการควบคุมอาวุธปืนของรัฐบาลกลาง ที่นายโอบามามั่นหมายจะให้เป็นผลงานโบแดง



ทั้งที่ผลสำรวจความคิดเห็นระบุว่าชาวอเมริกันร้อยละ 90 สนับสนุนการตรวจสอบประวัติของผู้ซื้อปืนซึ่งนายโอบามาเสนอ และพรรคเดโมแครตของโอบามาเป็นฝ่ายคุมส.ว.ด้วยซ้ำ!



โอบามามีเวลาในฐานะผู้นำสหรัฐเหลือเพียงไม่กี่ปี ก่อนที่ประวัติศาสตร์จะตัดสินว่า สุดท้ายแล้วผู้นำคนนี้สำเร็จหรือล้มเหลวเพียงใด จะฝากผลงานให้โลกจารึกไว้อย่างไร
 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...