ทีมวิศวกรมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพัฒนาหุ่นยนต์บินได้ขนาดเล็กที่สุดตัวแรกของโลก มีน้ำหนักไม่ถึง 1 ขีด เล็งใช้ในงานกู้ภัย จารกรรม และเฝ้าตรวจสภาพแวดล้อม
หุ่นยนต์ผึ้งตัวนี้สร้างด้วยวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ หนักแค่ 80 มิลลิกรัม มีกล้ามเนื้ออิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยให้กระพือปีกได้ในอัตรา 120 ครั้งต่อวินาที
ดร.เควิน หม่า กับดร.โรเบิร์ต วูด รายงานในนิตยสาร Science ว่า โรโบบีเป็นหุ่นยนต์บินได้ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก สามารถบินหลบหลีกรวดเร็ว ถึงขนาดที่คนเราไม่สามารถใช้ไม้ตีแมลงวันฟาดให้ถูกได้
เจ้า RoboBee บินได้เพราะปีกบางใสและยืดหยุ่นของมันทำด้วยวัสดุพิเศษที่เรียกว่า พายโซอิเล็กทริก ช่วยให้ปีกหดและขยายตัวเมื่อระบบได้ปล่อยและดับกระแสไฟฟ้าสลับกันอย่างรวดเร็ว
"เราสามารถใช้หุ่นยนต์แบบนี้ในงานค้นหาและกู้ชีพ เช่น ค้นหาผู้รอดชีวิตใต้ซากตึกถล่ม ติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เช่น การรั่วไหลของสารเคมี หรือภารกิจลาดตระเวนได้" ดร.หม่า แห่งคณะวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ประยุกตร์ บอก
@ โรโบบี มีขนาดเท่าแมลงวัน เป็นหุ่นยนต์บินได้ที่เล็กที่สุดในโลก
แต่เวลานี้ยังพัฒนาไปไม่ถึงขั้นนั้น ต้องประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วที่จะทำหน้าที่เป็น "สมอง" และแบตเตอรีจิ๋วที่มีน้ำหนักเบามากๆ เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถบินไปในอากาศได้ ให้สำเร็จเสียก่อน
ปีกของโรโบบีติดอยู่ตรงด้านบนของส่วนลำตัวที่เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ ลำตัวยืนอยู่ได้ด้วยขาที่เป็นเส้นลวด ปีกแต่ละข้างเคลื่อนไหวเป็นอิสระจากกัน สามารถกระพือได้และหมุนได้
เมื่อปีกกระพือก็จะเกิดแรงยก ทำให้หุ่นยนต์ลอยตัวขึ้น ถ้าเอนส่วนลำตัวไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ก็จะบินเดินหน้า หรือบินถอยหลัง ถ้าเอนไปทางข้างก็จะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา.