โคโด (香道) ศาสตร์เครื่องหอมของญี่ปุ่นนี้อาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนักในบ้านเรา แต่หากวิเคราะห์ถึงชื่อของศาสตร์นี้ก็จะเข้าใจได้ง่ายมาก ตัวอักษรตัวแรก 香นี้ แปลว่า กลิ่นหอม และ 道ตัวที่สองก็แปลว่า วิถี หนทาง ดังนั้น “โคโด” จึงเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับวิถีแห่งกลิ่นหอม
ศาสตร์เรื่องเครื่องหอมนี้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ยุคมุโรมาจิ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่พิธีชงชาและอิเคบานะ เริ่มเป็นที่รู้จัก โคโดถือว่าเป็น1 ใน 3ศาสตร์ที่ผู้หญิงญี่ปุ่นควรเรียนรู้ไว้ อันได้แก่ อิเคบานะ (การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น) ซาโด (พิธีชงชา)และ โคโด (หอมศิลป์ หรือเครื่องหอมแบบญี่ปุ่น)
โคโด เป็นศิลปะของการปรุงกลิ่นเครื่องหอมของญี่ปุ่น มีขั้นตอนหลายอย่าง และต้องอุปกรณ์ที่หลากหลาย เช่นเดียวกับพิธีชงชา โดยกลิ่นหอมที่ได้นั้นมาจากการเผาไม้หอมต่างๆ เครื่องหอมถูกแบ่งเป็น 6 ชนิด ได้แก่ กลิ่นหวาน ขม เค็ม เผ็ดร้อน เปรี้ยว และ ไร้กลิ่น (โคโดจึงมีเพียง 5 กลิ่น)
การสูดดมกลิ่นที่ได้จากความพิถีพิถันในการปรุงกลิ่นนั้น ถือเป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่ง ทำให้ในศาสตร์โคโดนี้เกิดมีการสร้างเกมชนิดหนึ่งขึ้นมาด้วย ชื่อว่า คุมิโกะ (組香) เกมดังกล่าวจะเล่นโดยให้ผู้เล่นร่วมทายกลิ่นที่ปรุงขึ้น โดยจะใช้มือป้องบริเวณขอบถ้วยแล้วดม เพื่อเลี่ยงการสูดดมกลิ่นที่แรงเกินไป และ ส่งวนไปรอบๆ ห้องจนครบ หลังจากนั้นก็ให้ทุกคนคิดและเขียนคำตอบว่า กลิ่นหอมที่ได้ดมไปนั้น เป็นกลิ่นของอะไร หรือเปรียบเทียบกับโคลง กลอน หรือวรรณคดีของญี่ปุ่น ว่ากลิ่นที่ได้ดมนั้นมีภาพลักษณ์เป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม การเล่นนี้ไม่ได้จริงจังกับผลแพ้หรือชนะ แต่หัวใจหลักคือ เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินและผ่อนคลายไปกับกลิ่นหอมต่างๆ ของธรรมชาติ
ลองมาดูพิธี ขั้นตอนการเตรียมเครื่องหอม โดยพื้นฐานกันดูซักหน่อย จะละเอียดลออขนาดไหน ตามมาดูกันเลยค่ะ
อุปกรณ์ที่ใช้หลักๆ มี 7 อย่าง
1.ขั้นแรกใส่ขี้เถ้าจากแกลบข้าวลงไปในถ้วยที่ใช้ในพิธี
2. ใช้ตะเกียบคนขี้เถ้าตามเข็มนาฬิกาเพื่อให้มีช่องว่างให้อากาศเข้าไปได้
3. หลังจากนั้นใช้ตะเกียบวนเป็นหลุมตรงกลางลึกประมาณ 2 เซนติเมตร เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับใส่ถ่าน
4. คีบถ่านที่ร้อนพอประมาณลงในหลุมที่ทำไว้เมื่อครู่
5. ใช้ตะเกียบทำเนินขี้เถ้ารอบก้อนถ่านเริ่มจากขอบวนทวนเข็มนาฬิกา
6. ใช้ Haioshi แท่งเหล็กที่มีรูปทรงปากแบนกดขี้เถ้าให้เรียบโดยมีหลักคือถือ Haioshi ในแนวขนานกับไหล่และกดแท่งเหล็กลงไปบนขี้เถ้าอย่างเบามือในขณะที่หมุนถ้วยทวนเข็มนาฬิกาไปเรื่อยๆ
7. เมื่อได้ผิวขี้เถ้าที่เรียบแล้วก็จะวาดลวดลายขี้เถ้าโดยมี 3 แบบเรียงตามความนิยมมากไปน้อยได้แก่ Shin-kouro (Shin-bai), Gyou-kouro (Gyou-bai), และ Sou-bai (Sou-kouro)
8. หลังจากวาดลวดลายขี้เถ้าเสร็จให้ใช้ตะเกียบสร้างรูตรงกลางที่ตรงกับตำแหน่งของถ่านเพื่อให้มีช่องให้ความร้อนผ่านออกมาได้
9. ทำความสะอาดผงขี้เถ้าด้วย Habouki ที่มีปลายเป็นขนนก
10. วางแผ่นจานเล็กที่เรียกว่า Gin-you ลงตรงกลาง
11. คีบชั้นไม้หอมลงบนแผ่นจานเมื่อสักครู่
12. ใช้มือซ้ายรองถ้วยและปิดปากถ้วยด้วยมือขวา เหลือช่องว่างเพื่อใช้ในการ “ฟัง” เสียงจากกลิ่น ในศาสตร์โคโดนี้จะใช้ภาพของการสดับฟังเสียงจากกลิ่นไม่ใช่การดม เป็นศิลปะของการเพลิดเพลินไปกับกลิ่นหอมที่ต่างไปจากปกติค่ะ
คุณประโยชน์ของศาสตร์โคโดนี้ ได้มีการบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยมุโรมาจิ โดยเรียกว่า
“คุณสิบประการของกลิ่นหอม” (香の十徳) ผู้ที่ศึกษาและฝึกฝนโคโดจะได้รับคุณต่างๆ ดังนี้
1.
ประสาทสัมผัสต่างๆ จะได้รับการขัดเกลา
2.
ฟื้นฟูสภาพร่างกาย และจิตใจให้ผ่องใส
3.
ชำระสิ่งไม่บริสุทธิ์ออกไป
4.
กระตุ้นความตื่นตัว
5.
สร้างความเคยชิน และสงบในความสันโดษ
6.
ในช่วงความวุ่นวาย โคโดจะมอบช่วงเวลาแห่งความสงบให้
7.
เมื่อมีกลิ่นมากมาย ก็ไม่รู้เบื่อ
8.
เมื่อมีกลิ่นน้อย ก็ยังส่งกลิ่นให้เพียงพอ
9.
เก็บรักษากลิ่นหอมไว้ได้ยาวนาน โดยคงสภาพกลิ่นเช่นเดิม
10.
ใช้ได้ทุกวัน ไม่มีโทษ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับ โคโด อีกหนึ่งศาสตร์ที่น่าสนใจของประเทศญี่ปุ่นศาสตร์นี้สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ทั้งหญิงและชายนะคะ คลิปในบทความนี้เป็นบรรยากาศร้านเครื่องหอมที่มีชื่อแห่งหนึ่งของเกียวโตค่ะ ชื่อร้าน Yamada Matsu ผู้ที่สนใจหากไปในย่านเกียวโต เมืองแห่งวัฒนธรรม ลองมองร้านจำหน่ายเครื่องหอมสักร้าน และแวะไปเยี่ยมชมกันดูก็ไม่เลวนะคะ