"มะเงยระอาว" ในวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ขึ้นปีใหม่ไทย "นายรอบรู้" มีโอกาสได้เข้าร่วมงานและเที่ยวชมประเพณีสงกรานต์มอญที่ ชุมชนวัดวังก์วิเวการาม หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "ชุนชนวัดวังก์" อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ตามคำเชิญชวนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เราจึงขอเปิดเรื่องด้วยคำทักทายภาษามอญกันเสียหน่อย
ชาวมอญหลั่งไหลเข้ามาร่วมพิธีสรงน้ำพระที่เจดีย์พุทธคยา
การเดินทางครั้งนี้ ถือเป็นความทรงจำที่ดีและงดงามมากทีเดียว เพราะบรรยากาศของงานในแต่ละวันเต็มไปด้วยรอยยิ้มน่ารักที่แสดงถึงมิตรภาพและน้ำใสใจจริง บวกกับภาพกิจกรรมสุดแสนอลังการที่แสดงให้เห็นความสามัคคี รวมเป็นหนึ่งเดียวของชาวมอญ และนายรอบรู้ได้เก็บตกภาพบรรยากาศพร้อมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับสงกรานต์มอญมาให้ติดตามกัน
ประเพณีมหาสงกรานต์ของคนมอญ ชุมชนวัดวังก์ คือ การทำบุญวันขึ้นปีใหม่ไทย และถือเป็นประเพณีการทำบุญครั้งใหญ่ประจำปี แต่การกำหนดวันของการจัดงานจะเปลี่ยนแปลงไปตามปฏิทินสงกรานต์ ซึ่งโดยรวมจะมีระยะเวลาในการจัดงานทั้งหมด 5 วัน และในแต่ละวันก็จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ได้แก่ วันสงกรานต์ลง วันคาบปี วันขึ้นปีใหม่ วันสรงน้ำพระ และวันกรวดน้ำ โดยกิจกรรมส่วนใหญ่ของ 3 วันแรก คือ การถือศีล นอนวัด เพื่อทำจิตใจให้ผ่องใส ต้อนรับปีใหม่ที่กำลังมาถึง ซึ่งผู้ปฎิบัติส่วนมากจะเป็นผู้ใหญ่
ในช่วงเวลาการถือศีลตั้งแต่วันสงกรานลงจนถึงวันขึ้นปีใหม่ ผู้เฒ่าผู้แก่จะมาจำศีลที่วัด ลูกหลานจะมารดน้ำและอาบน้ำให้
ส่วนลูกหลานจะนำอาหารสำรับมาให้ผู้ใหญ่ที่วัด และช่วงเย็นจะนำน้ำมาอาบ หรือรดน้ำให้เพื่อทำความเคารพและแสดงความกตัญญูกตเวที อีกทั้งบริเวณลานด้านหน้าเจดีย์พุทธคยา ยังมีกิจกรรมก่อเจดีย์ทรายขนาดใหญ่ โดยจะมีชาวมอญในชุมชนเวียนกันมาทำบุญและช่วยกันก่อพระเจดีย์ทรายกันอย่างไม่ขาดสาย และในส่วนของ 2 วันที่เหลือ คือ วันสรงน้ำพระและวันกรวดน้ำ ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษของประเพณีสงกรานต์มอญเลยก็ว่าได้ เพราะลักษณะของกิจกรรมจะมีความแตกต่างไปจากประเพณีของไทยอย่างสิ้นเชิง
ให้พระเดินเหยียบหลัง เสริมมงคลชีวิต
ในวันที่สี่ หรือที่เรียกว่า "วันสรงน้ำพระ" คือ วันที่ชาวมอญจะทำพิธีสรงน้ำพระผ่านรางกระบอกไม้ ซึ่งก่อนจะสรงน้ำพระ จะมีการทำพิธีพิสูจน์ความเชื่อและความศรัทธาให้พระเดินเหยียบหลังพุทธศาสนิกชนก่อน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชาวมอญเชื่อและศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง และมีมานานกว่า 30 ปีแล้ว ส่วนพุทธศาสนิกชนที่จะนอนให้พระสงฆ์เหยียบได้นั้นต้องเป็นเพศชายเท่านั้น
ชาวบ้านนอนกลางแดดให้พระเหยียบหลังตามความเชื่อความศรัทธาว่าจะช่วยเสริมมงคลให้ชีวิต
ความเชื่อและความศรัทธาให้พระเหยียบหลังของชาวมอญ ชุมชนวังก์ มีมาตั้งแต่ครั้นสมัย "พระราชอุดมมงคล" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "หลวงพ่ออุตตมะ" อดีตเจ้าอาวาสวัดวังก์ที่โด่งดังและเป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชน ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งก่อนสรงน้ำพระ จะมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากมารอให้ท่านเดินเหยียบหลัง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ปัจจุบันความเชื่อและความศรัทธาเช่นนี้ยังคงมีให้เห็นอยู่ แต่พระภิกษุที่จะขึ้นไปเหยียบได้นั้น จะต้องเป็นพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถทำได้
ขั้นตอนกิจกรรมพระเดินเหยียบหลังพุทธศาสนิกชน จะเริ่มต้นจากพระภิกษุเดินเรียงกันเป็นแถวลงมาจากบันไดเจดีย์พุทธคยา จากนั้นจะเดินเหยียบขึ้นไปบนหลังของพุทธศาสนิกชนที่นอนเรียงราย ก่อนจะไปนั่งที่เก้าอี้ รอการสรงน้ำพระ ถึงแม้ระยะทางจากบันไดไปถึงเก้าอี้นั่ง จะไม่ถึง 10 ม. แต่พลังความเชื่อและความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนไม่ได้น้อยเหมือนดั่งระยะทางเอาเสียเลย ทั้งผู้ใหญ่และวัยรุ่นต่างนอนคว่ำเบียดเสียดกันแน่น เพื่อรอเวลาให้พระภิกษุเดินขึ้นไปเหยียบบนหลังตน และในขณะที่พระภิกษุเดินขึ้นไปเหยียบ ใบหน้าของชายที่นอนเรียงรายกัน ล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจและความศรัทธา ด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยความรอยยิ้มและท่าทางที่แสดงถึงความดีใจรวมอยู่ด้วย
การสรงน้ำพระผ่านรางกระบอกไม้ไผ่
หลังจากกิจกรรมพิสูจน์ความเชื่อและความศรัทธาของชาวมอญที่ให้พระเดินเหยียบหลัง จะเป็นการเข้าสู่กิจกรรมการสรงน้ำพระของชาวมอญวัดวังก์ ซึ่งเป็นภาพที่แตกต่างไปจากการสรงน้ำพระทั่วไป
ลักษณะของการสรงน้ำพระชาวมอญ จะสรงผ่านรางกระบอกไม้ไผ่ เนื่องมาจากความเคร่งครัดของพระพุทธศาสนาที่ผู้หญิงไม่ควรจะถวายของแด่พระภิกษุโดยตรง จึงทำให้จำเป็นต้องมีฉากกั้นและใช้รางกระบอกไม้ไผ่เข้ามากั้นกลาง ซึ่งรางกระบอกไม้ไผ่ที่ใช้จะถูกนำมาต่อเรียงรายจนมีความยาวกว่า 50 เมตร ที่สำคัญการใช้รางกระบอกไม้ไผ่ยังช่วยให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำพระกันอย่างทั่วถึง ถึงแม้จะมีคนมหาศาลแต่ก็จะได้สรงน้ำกันครบทุกคนกันโดยไม่ต้องเบียดเสียดยัดเยียดกัน
ถึงแม้อากาศจะร้อน แต่ด้วยพลังศรัทธาทำให้ชาวมอญยังคงมาร่วมพิธีอย่างคับคั่ง
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงไม่ใช้ท่อพลาสติกเป็นรางน้ำแทนกระบอกไม้ไผ่ พระมหาสุชาติ สิริปญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ได้อธิบายถึงนัยที่แฝงอยู่ในการเลือกใช้กระบอกไม้ไผ่แทนท่อพลาสติกที่สะดวกสบายและสามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน เพราะการใช้กระบอกไม้ไผ่จะต้องทำขึ้นใหม่ทุกปี ชาวบ้านต้องมาช่วยกันทำ จะช่วยส่งเสริมความสามัคคีกลมเกลียวและความเสียสละไปด้วย
การประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับสรงน้ำพระ จะเริ่มด้วยชาวมอญในชุมชนออกไปตัดต้นไผ่เพื่อที่จะนำลำต้น หรือที่เราเรียกกันว่า กระบอกไม้ไผ่ มาทำเป็นรางน้ำเพื่อสรงน้ำพระ โดยกระบอกไม้ไผ่ที่นำมาใช้นั้นจะต้องมีขนาดหนาและใหญ่ จากนั้นชาวบ้านจะนำกระบอกไม้ไผ่มาผ่าครึ่ง และนำมาผูกต่อเรียงรายเป็นแถวๆ นับสิบราง ซึ่งจะมีรางหลักอยู่จำนวน 3 ราง ส่วนรางที่เหลือจะมุ่งตรงมาบรรจบที่รางหลัก เพื่อให้น้ำไหลผ่านฉากดอกไม้ มาสู่พระภิกษุที่นั่งรอการสรงน้ำอยู่หลังฉาก
อีกทั้งในขณะที่สรงน้ำพระ จะมีเจ้าหน้าที่ถือธงสัญญาณสีเขียวและสีแดง หากถือธงเขียว นั่นหมายความว่าให้ชาวบ้านเทน้ำอบ หรือน้ำหอมลงราง น้ำก็จะไหลจากต้นรางมาสู่ปลายราง แต่เมื่อใดก็ตามที่ยกธงแดง นั่นหมายความว่า พระภิกษุที่นั่งอยู่หลังฉากได้สรงน้ำเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านทุกคนจะต้องหยุดเทน้ำใส่รางกระบอกไม้ไผ่
ขบวนผ้าป่าครึกครื้น คนมอญคึกคัก
เช้าวันสุดท้าย หรือ"วันกรวดน้ำ" เป็นวันที่ชาวมอญจะนำผลบุญที่ได้จากการทำบุญมาตลอด 4 วัน แผ่กุศลไปให้ผู้อื่น ซึ่งในตอนเช้ากิจกรรมของพวกเขา คือ การแห่ขบวนผ้าป่า โดยชาวบ้านจะมารวมตัวและตั้งขบวนกันที่ตลาดกลางหมู่บ้าน และจะเดินเท้านำจตุปัจจัยไทยทานมาถวายวัด
บรรยากาศพิธีถวายกองผ้าป่าอันศักดิ์สิทธิ์บนศาลาที่วัดวังก์วิเวการามในวันที่ห้า หลังจากนั้นจะมีการยกฉัตรสู่ยอดเจดีย์ทรายและกรวดน้ำแผ่บุญกุศล
ชาวบ้านเต้นกันอย่างสนุกสนาน ในขบวนแห่ผ้าป่า
ขบวนแห่ผ้าป่าสุดอลังการยาวกว่า 500 ม. จากตลาดตรงเข้าสู่วัด
กองผ้าป่าของชาวมอญที่จัดวางไว้บนศาลา ต่างประดับประดาอย่างสวยงาม
บรรยากาศพิธีถวายกองผ้าป่าอันศักดิ์สิทธิ์บนศาลาที่วัดวังก์วิเวการามในวันที่ห้า หลังจากนั้นจะมีการยกฉัตรสู่ยอดเจดีย์ทรายและกรวดน้ำแผ่บุญกุศล
บรรยากาศการแห่ขบวนผ้าป่า จะมีทั้งชายหญิงตั้งแต่ผู้ใหญ่จนถึงวัยรุ่น บ้างนำเครื่องสังฆทานเทินไว้บนศีรษะ บ้างเต้นตามเสียงเพลงของวงดนตรีในขบวนแห่อย่างสนุกสนาน ส่วนที่สะดุดตาเป็นอย่างยิ่ง คือ กองผ้าป่าที่ประดับประดาไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้งานภายในวัด เช่น ช้อน ทัพพี และสมุด อีกทั้งยังมีการประดับด้วยธนบัตรจำนวนมาก จึงทำให้ขบวนผ้าป่าของชาวมอญดูแล้วแปลกตามาก
ก่อพระเจดีย์ทราย
หลังจากที่ชาวมอญได้นำกองผ้าป่าไปถวายที่วัดเป็นที่เรียบร้อย จะแห่ขบวนฉัตรจากวัดวังก์วิเวการามเดินเท้ามายังลานข้างหน้าเจดีย์พุทธคยา เพื่อยกฉัตรขึ้นไปสู่ยอดเจดีย์ทรายที่พวกเขาช่วยกันก่อเอาไว้ ซึ่งการก่อพระเจดีย์ทรายในประเพณีสงกรานต์ มีความเชื่อกันว่าเป็นอุบายให้คนขนทรายเข้าวัด เพราะทุกปีเมื่อคนเข้ามาทำกิจกรรมในวัดก็จะเหยียบย่ำทรายติดเท้าไป ถึงสงกรานต์จึงต้องนำทรายมาคืน ซึ่งนับเป็นผลประโยชน์ทางอ้อมอย่างหนึ่ง เพราะ คนจะได้บำเพ็ญประโยชน์ และวัดจะมีทรายไว้ใช้ในการบูรณะสิ่งก่อสร้าง
เจดีย์ทรายขนาดใหญ่ที่เกิดจากพลังความสามัคคีของชาวมอญ เป็นการขนทรายมาให้วัดได้ใช้ประโยชน์
ถัดจากการยกฉัตรสู่ยอดเจดีย์ทราย ชาวมอญจะเดินกลับมาที่ศาลาวัดอีกครั้งหนึ่งเพื่อทำบุญกรวดน้ำ อุทิศแผ่บุญกุศลไปให้ผู้อื่น ซึ่งจะเป็นอันจบสิ้นประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญวัดวังก์อย่างแท้จริง นับเป็นประเพณีที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ น่าสนใจและตื่นตา คงจะดีไม่น้อยถ้าใครจะหาโอกาสมาเยือนสักครั้ง
ชาวมอญแวะเวียนกันมาสักการะเจดีย์ทราย(ซ้าย). ชาวมอญจะนำทรายเทินไว้บนศีรษะเพื่อนำมาร่วมก่อพระเจดีย์ทราย(ขวา)
นอกจากงานประเพณีสงกรานต์ที่น่าสนใจและตื่นตา สังขละบุรียังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้เราเที่ยวชมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ล่องเรือชมเมืองใต้บาดาล วัดเก่าของหลวงพ่ออุตมะที่จมอยู่ใต้บาดาล ด่านเจดีย์สามองค์ซึ่งเป็นสุดเขตชายแดนสยามของภาคตะวันตก วิถียามเช้าบนสะพานมอญ และภาพการใส่บาตรยามเช้าในหมู่บ้านมอญ หากใครสนใจแวะเวียนมาเที่ยวกันได้ที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
เรื่องและภาพ : วรัตถา คงศิลธรรม