ยานสำรวจอวกาศสามารถจับภาพของพายุเฮอร์ริเคนขนาดมหึมา ที่เกิดขึ้นบริเวณขั้วโลกเหนือของดาวเสาร์โดย"ดวงตา"พายุใหญ่ถึง 2,000 กม. หรือใหญ่กว่าเฮอร์ริเคนบนโลกถึง 20 เท่า และใหญ่กว่าสหราชอาณาจักรถึง 12 เท่า
ยานอวกาศคาสซินี ซึ่งเดินทางถึงวงโคจรรอบดาวเสาร์เมื่อปี 2004 ได้จับภาพดังกล่าวในระดับความสูงเหนือดาวเสาร์ 420,000 กิโลเมตร โดยใช้ความยาวคลื่นอินฟาเรด ซึ่งให้ภาพที่เป็นสีแดง และมีการใช้สีต่างๆเป็นตัวแยกให้เห็นรายละเอียดต่างๆ
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า พายุเฮอร์ริเคนดังกล่าว มีความเร็วลมสูงสุดที่ 150 เมตร/วินาที หรือ 330 ไมล์/ชั่วโมง แต่ยังไม่ทราบว่าพายุใช้เวลาการก่อตัวนานเท่าใด
ยานสำรวจอวกาศแคสซินี เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ"แคสซีนี–ฮอยเกนส์" (Cassini–Huygens) ซึ่งเป็นภารกิจยานอวกาศร่วมระหว่างนาซา สำนักงานอวกาศยุโรป และสำนักงานอวกาศอิตาลี เพื่อศึกษาดาวเสาร์และดาวบริวารตามธรรมชาติจำนวนมากตั้งแต่ปี 2004 โดยในช่วงแรกที่เดินทางไปถึง พบว่าบริเวณขั้วโลกเหนือของดาวเสาร์ตกอยู่ในความมืด เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาวในรอบหนึ่งวงโคจร ที่เท่ากับ 29 ปีของโลก
ภาพดังกล่าวจึงเป็นภาพที่ได้หลังจากที่พื้นที่ดังกล่าวได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ครั้งแรก ที่นับเป็นภาพแรกนับตั้งแต่ยานสำรวจอวกาศ"วอยเอจเจอร์2 "ส่งภาพสุดท้ายกลับมายังโลก เมื่อปี 1981
แอนดริว อิงเกอร์ซอลล์ หนึ่งในทีมของโครงการ"แคสซีนี–ฮอยเกนส์" ที่ตั้งอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียในสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ทีมงานได้ถ่ายภาพเก็บไว้ถึง 2 ครั้ง เมื่อเห็นภาพเฮอร์เคนดังกล่าว เนื่องจากมันมีลักษณะคล้ายกับเฮอร์ริเคนบนโลก เพียงแต่มีขนาดที่ใหญ่กว่ามาก และมันสามารถคงสภาพอยู่ได้ โดยอาศัยไอน้ำปริมาณน้อยนิดในห้วงบรรยากาศของดาวเสาร์ที่เต็มไปด้วยก๊าซไฮโดรเจน
ทีมนักวิจัยเชื่อว่าเฮอร์ริเคนจะพัดอยู่ในบริเวณขั้วโลกเหนือของดาวเสาร์โดยมีลมที่พัดขึ้นเหนือเป็นแรงหนุน เช่นเดียวกับเฮอร์เคนบนโลก ที่มักมีแนวโน้มเคลื่อนที่ไปทางเหนือ
อย่างไรก็ดี ยานสำรวจอวกาศแคสซินี เคยจับภาพเฮอร์ริเคนในลักษณะนี้มาแล้ว ที่เกิดขึ้นบริเวณขั้วโลกใต้ของดาวเสาร์ ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางคิดเป็น 2 ใน 3 ของขนาดโลก เมื่อปี 2006