นิด้า เผย 7 จุดใน กทม. พื้นที่เสี่ยงมะเร็งปอด หลังพบสารก่อมะเร็งเฉลี่ยเกินมาตรฐาน 2.2 เท่า ส่วนสาเหตุหลักมาจากปริมาณรถในถนนที่เพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 30 เมษายน นายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่าจากผลวิจัยวัดค่าฝุ่นละอองในอากาศ ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ของกรมควบคุมมลพิษ ตั้งแต่ พ.ศ. 2549-2552 จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้ง 7 สถานี ได้แก่ การเคหะชุมชนคลองจั่น, โรงเรียนนนทรีวิทยา, โรงเรียนสิงหราชพิทยาคม, การไฟฟ้าย่อยธนบุรี, สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย 4, การเคหะชุมชนดินแดง และโรงเรียนบดินทรเดชา พบว่า มีค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของสารก่อมะเร็ง PAHs อยู่ที่ 554 พิโคกรัม (ค่ามาตรฐานที่ควรมีไม่เกิน 250 พิโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) หรือเกินมาตรฐานถึง 2.2 เท่า
นายศิวัช กล่าวต่อไปว่า ถ้าหากแยกเป็นพื้นที่ ผลเป็นดังนี้
การเคหะชุมชนดินแดง มีค่าความเข้มข้นอยู่ที่ 990 พิโคกรัม หรือสูงกว่ามาตรฐาน 3.96 เท่า
สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย 4 อยู่ที่ 704 พิโคกรัม สูงกว่ามาตรฐาน 2.8 เท่า
การไฟฟ้าธนบุรี 603 พิโคกรัม สูงกว่ามาตรฐาน 2.4 เท่า
โรงเรียนนนทรีวิทยา มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ 292 พิโคกรัม
อย่างไรก็ดี เมื่อนำค่าเฉลี่ยสารก่อมะเร็งในกรุงเทพฯ ไปเปรียบเทียบกับเมืองต่าง ๆ ของทวีปเอเชีย กรุงเทพฯ จัดอยู่ในลำดับ 13 ส่วนอันดับ 1 คือ เมืองเป่าจี จากประเทศจีน เกินค่ามาตรฐาน 98 เท่า ขณะที่อันดับ 2 คือ กรุงปักกิ่ง จากประเทศจีน เช่นเดียวกัน เกินมาตรฐาน 33 เท่า
นอกจากนี้ นายศิวัช ยังกล่าวอีกว่า เมื่อหาสาเหตุของสารก่อมะเร็งในกรุงเทพฯ ผลวิจัยพบว่า ร้อยละ 80 มาจากไอเสียของยานพาหนะ ซึ่งถือว่าอยู่ในอัตราที่สูงมาก แม้ว่าภาครัฐจะสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์เพื่อลดมลพิษในอากาศก็ตามส่วนสาเหตุที่สารก่อมะเร็งเพิ่มขึ้น เป็นเพราะปริมาณรถยนต์บนท้องถนนที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ถ้าหากภาครัฐอยากแก้ปัญหานี้ ต้องหันมารณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชน เพื่อลดปริมาณรถบนท้องถนน