เทศกาลฮินะ(Hina Matsuri) หรือฮินะ มัตสุริ เทศกาลนี้จะมีการจัดขึ้นในวันที่ 3 มีนาคม เป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยเอโดะ Edo (1603-1867)
เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองของเด็กผู้หญิงในประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีการตกแต่งตุ๊กตาญี่ปุ่น ที่สวยงามหลายตัวบนชั้นวาง ที่ตั้งอยู่ภายในบ้าน ตามความเชื่อที่ว่า จะทำให้ลูกสาวมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุข บางครั้งเรียกเทศกาลนี้ว่า เทศกาลเด็กผู้หญิง (Girl's Festival)
ชาวญี่ปุ่นรับเทศกาลนี้มาจากธรรมเนียมจีน ตามความเชื่อว่า จะสามารถขจัดเคราะห์ร้าย ให้ไปกับตุ๊กตาได้ โดยปล่อยตุ๊กตาลอยไปกับแม่น้ำ ส่วนในประเทศญี่ปุ่น จะถือว่าเป็นเทศกาลของการอธิษฐานให้ลูกสาวมีความสุข ขจัดพลังชั่วร้ายออกไปจากชีวิต ประสบความสำเร็จ สุขภาพร่างกายแข็งแรง และสวย
เด็กผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่เทศกาลฮินะครั้งแรก จะถูกเรียกว่า "ฮัตสุ เซกุ" (hatzu-zekku) โดยจะเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ย่าหรือยาย เพราะพวกเธอจะซื้อตุ๊กตามาจัดโชว์ให้กับหลานสาว เริ่มนำตุ๊กตามาทำความสะอาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์
จนกระทั่งเมื่อถึงวันที่ 3 มีนาคม ก็จะนำตุ๊กตาฮินะหรือ ฮินะนิงโย (hinaningyo) มาตั้งโชว์ ซึ่งเป็นตุ๊กตาที่ทำด้วยมือแบบดั้งเดิม วางไว้บนชั้นปกติจะมีทั้งหมด 7 ชั้น รอบๆ ชั้นจะประดับด้วยเครื่องบูชา เช่น ดอกพีช ข้าว เค้ก และเค้ก ที่ทำจากข้าวรูปร่างคล้ายเพชร ซึ่งเรียกว่าฮิชิโมกิ (hishimochi) รวมไปถึงสาเกขาว
และคิราชิซูชิ (chirashi sushi) ตุ๊กตาที่ส่วนใหญ่จะต้องนำมาวางในชั้น คือ ตุ๊กตา เจ้าชายโอไดริ-ซามะ (Odairi-sama) และเจ้าหญิงโอฮินะ-ซามะ (Ohina-sama) ซึ่งตุ๊กตาทั้งสองตัวนี้ จะถูกวางไว้บนสุดของชั้นวาง รายล้อมไปด้วยข้าราชบริพาร และเครื่องตกแต่งชิ้นเล็กๆ โดยฉากหลังของชั้น จะประดับด้วยฉากที่เป็นสีทอง ให้เหมือนกับคฤหาสน์จำลอง
ว่ากันว่าจำนวนชั้นจะมากหรือน้อยนั้น ก็เป็นการแสดงถึงฐานะของแต่ละบ้าน ซึ่งระดับจะสูงสุดที่ประมาณ 7 ขั้น จำนวนตุ๊กตาและการตกแต่งจัดเครื่องแต่งกายให้กับตุ๊กตาก็เป็นการแสดงออกถึง ฐานะเช่นกัน โดยทั่วไปในหนึ่งเซทจะมีประมาณ 15 ตัว เป็นตุ๊กตาชาววังที่เริ่มตั้งแต่ จักรพรรดิ จักรพรรดินี เจ้าชาย เจ้าหญิง ผู้รับใช้ ฯลฯ ลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ
ในยุคแรกๆ การตั้งตุ๊กตาเป็นประเพณีของผู้มีอันจะกิน หลักๆ จะเป็นตุ๊กตาเจ้าชายและเจ้าหญิง โดยในสมัยโบราณนั้นจะมีการจัดทำตุ๊กตาฮินะขึ้นจากวัสดุพวกไม้กระดาษที่ทำ ขึ้นมาอย่างง่ายๆ
แล้วนำไปใส่กระด้งเล็กๆ ลอยแม่น้ำหรือทะเลเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ภาวนาให้ลูกสาวของบ้านนั้นเติบโตขึ้นโดยมีสุขภาพแข็งแรง หลังจากนั้นก็ได้รับความนิยมเรื่อยมาจนเกิดเป็นประเพณีของผู้คนทุกฐานะ และเริ่มตกแต่ง ประดับประดา จัดทำเครื่องแต่งกายให้สวยงามมากขึ้น
ใช้วัสดุที่ดีอย่างผ้าไหมตัดเป็นเครื่องแต่งกายให้ตุ๊กตาในชุดกิโมโนเต็มยศ แบบโบราณ ซึ่งบางบ้านเป็นตุ๊กตาประจำตระกูลที่สืบทอดต่อๆ กันมาหลายร้อยปี มีการบูชาและถวายเครื่องเซ่นต่างๆ ทั้งขนมหวานที่ชื่อว่า " อาราเร่ " และขนมที่ทำมาจากข้าวเหนียว " คาชิวะ โมจิ "
หรืออาจจะเป็นเค้กที่ทำจากข้าว พร้อมเครื่องดื่มพวกเหล้าขาวอย่าง " ชิโรสาเก " และบูชาด้วยดอกไม้อย่างดอกท้อ เทศกาลน่ารักๆ นี้ แต่ละครอบครัวที่มีลูกสาวจะเลี้ยงฉลองพิธีนี้อย่างตั้งใจ
มีการดื่มฉลองแสดงความยินดีและอวยพรให้เติบโตอย่างมีความสุข และในปัจจุบันก็เปิดโอกาสให้มีการสังสรรค์กันในกลุ่มเพื่อนๆ เพิ่มขึ้น คืออาจจะชวนกันมาจัดปาร์ตี้กลางแจ้ง ทานอาหารร่วมกันที่บ้าน ซึ่งนับเป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่สามารถสร้างรอยยิ้ม สร้างความสุข และสร้างความสัมพันธ์อันดีให้กับคนในครอบครัว
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยตามความเชื่อในเทศกาลฮินะ มัตสึริ (Hina matsuri)
1. มีความเชื่อกันว่าถ้าบ้านไหนจัดบูชาตุ๊กตาในวันที่ 3 มีนาคมแล้วนั้น หากพ้นวันนี้ไปแล้วต้องรีบเก็บตุ๊กตาทันที เพราะหากประดับทิ้งไว้นานๆ จะทำให้ลูกสาวขึ้นคานได้ แต่ก็มีอีกความเชื่อหนึ่งที่กล่าวว่า จะตั้งตุ๊กตาฮินะประดับไว้จนถึงวันเด็กผู้ชายในวันที่ 5 พฤษภาคม เพื่อเป็นการฉลองต่อเนื่องกันไปเลย จากนั้นจึงค่อยเก็บให้เรียบร้อยเพื่อนำออกมาประดับในปีต่อๆไป
2. เทศกาลฮินะ มัตสุริ (Hina Matsuri) มีชื่อเรียกด้วยกันหลายชื่อ เช่น โมโมโนะเซกุ (Momo-no-Sekku) เทศกาลตุ๊กตา (Doll's Festival) เทศกาลเด็กผู้หญิง (Girl's Festival)
3. ฮินะ มัตสุริ (Hina Matsuri) มาจากคำว่า ฮินะ (Hina) ซึ่งเป็นคำโบราณที่ หมายถึง ตุ๊กตา ส่วนคำว่า มัตสุริ (Matsuri) หมายถึง เทศกาล