อาการหูดับ เรื่องต้องรู้ของวัยทำงาน

ปัญหาเรื่องหู อย่าคิดว่าไม่สำคัญ เพราะหูของเรามีส่วนช่วยในการพัฒนาศักยภาพของสมอง การทำงาน รักษาสมดุลของร่างกาย และช่วยป้องกันอันตรายรอบด้าน ยกตัวอย่างง่ายๆ จากอุบัติเหตุทางยวดยาน ที่บางครั้งคนไข้ที่มีความปกติทางการได้ยินถูกรถชน เพราะรถคันหลังบีบแตรแล้วผู้ป่วยไม่ได้ยิน เพราะเหตุนี้เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ของหู ไม่ให้เกิดสมรรถนะในการได้ยินเสียงบกพร่องหรือเกิดปัญหา

หูดับหรือ Sudden Hearing Loss (SHL) คืออาการที่หูไม่ได้ยินเสียงหรือสมรรถนะในการได้ยินเสียงบกพร่อง ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันนี้พบในวัยเด็กและวัยทำงานที่มีความเสี่ยงทั้งในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานโดยตรง ยิ่งถ้าพูดถึงวัยทำงานด้วยแล้ว กลุ่มที่เสี่ยงที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีเสียงดัง การสัมผัสกับเสียงที่ดังเกินไปตอนทำงาน ดังนั้น จึงห้ามประมาทเด็ดขาด

และต่อไปนี้คือความรู้ดีๆ ที่ พญ.จรินรัตน์ ศิริรัตนพันธ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ และวิทยากรพิเศษจาก Hearing Focus ฝากมาบอกเรา

สาเหตุของอาการหูดับ

• ความจริงแล้วโรคหูดับเกิดขึ้นได้กับทุกคน มีหลากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่มักเกิดจากการสัมผัสกับเสียงที่ดังเกินไปตอนทำงาน ได้แก่ การทำงานในที่ที่มีเสียงดังอย่างโรงงานอุตสาหกรรม หรือที่ทำงานที่มีมลพิษทางเสียงต่อเนื่องยาวนาน

• อีกปัจจัยสำคัญ คือการเกิดอุบัติเหตุ เช่น มีบางสิ่งมากระทบกระแทกศีรษะ

• การดำน้ำ หรือการเปลี่ยนแรงดันน้ำอย่างรวดเร็ว อาจทำให้หูอื้อ เกิดเสียงดังพึ่บพั่บในหู หรือถึงขนาดทำให้หูดับฉับพลัน

• นอกจากนั้นการติดเชื้อไวรัสก็เป็นอีกสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น การเป็นหวัด โรคภูมิแพ้ เมื่อติดเชื้อ ผลที่เกิดขึ้นตามมาคืออาการเวียนหัว บ้านหมุน หูอื้อ และหลังจากการติดเชื้อไวรัสพวกไข้หวัด อาจจะมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการติดเชื้อเรื้อรังในช่องหู หรือเมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วเราให้ยาฆ่าเชื้อไม่ถูกวิธี ก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดประสาทหูเสื่อม เพราะยาบางชนิดทำให้เกิดประสาทการรับเสียงเสื่อมได้

• มากไปกว่านั้นที่เคยเกิดขึ้นเป็นข่าวดัง เช่น สาเหตุมาจากการกินหมู เนื้อ หรือแหนมดิบ ที่ทำให้เกิดไข้สมองอักเสบ และทำให้เกิดการได้ยินบกพร่องจนเกิดอาการหูดับได้

• การติดเชื้อเชิงระบบ เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อเอชไอวี เชื้อซิฟิลิสต่างๆ พวกนี้จะทำให้เกิดอาการอักเสบ และทำให้เกิดหูดับได้

• รวมถึงโรคความดันโลหิตสูง ความดันในเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบ โรคหัวใจ โรคเนื้องอก โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน การได้รับการผ่าตัดบางชนิดที่ทำให้เส้นประสาทหูเสียไป ผู้ที่มีอาการหูชั้นในอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยบางคนมีปัญหาการได้ยินบกพร่องมาก่อน และไม่ได้ดูแลตัวเองเท่าที่ควรจนทำให้เกิดหูดับตามมา เป็นต้น

• นอกจากนี้ในปัจจุบันเรามักมีพฤติกรรมหลายๆ อย่างที่ทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหูดับ เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆ การฟังเพลงเสียงดังเป็นเวลานาน การดูคอนเสิร์ตที่เสียงดังมากๆ

• ความเครียดคือปัจจัยสำคัญอีกอย่าง ยกตัวอย่างกรณีคนไข้ที่เป็นนักศึกษา เกิดความเครียดก่อนสอบ แล้วเกิดอาการหูดับฉับพลันก็พบได้ แต่หลังจากที่รักษาด้วยยาและบำบัดทางด้านจิตใจอาการจึงดีขึ้น

 

สัญญาณเตือนหูดับ

แม้ว่าการอยู่เฉยๆ ไม่ได้รับยาหรือการรักษาใดๆ มากกว่าครึ่งหนึ่งจะหายเองได้ก็จริง (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุ) แต่อีกกว่าครึ่งมีพยาธิสภาพถาวรหากไม่ได้รับการรักษา หากใครมีอาการหูดับหรือฟังเสียงไม่ได้ยินโดยเฉพาะกรณีติดเชื้อในหู ควรรีบไปรับการตรวจเพื่อวินิจฉัยในทันที ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้แพทย์ตรวจโดยละเอียด หาสาเหตุ และให้ยาเพื่อรักษาอาการอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันผู้ป่วยต้องพักผ่อนให้มากที่สุด เพื่อให้ประสาทหูฟื้นตัวโดยเร็ว

หากเป็นกรณีที่หูเกิดความผิดปกติทางการได้ยินอย่างรุนแรง ผู้ป่วยสามารถใส่เครื่องช่วยฟังเพื่ออย่างน้อยไม่ให้เซลล์หูที่เหลือทำงานหนักมากเกินไป เพื่อที่จะรักษาความสามารถในการได้ยินให้เซลล์ที่เหลืออยู่กับเรานานๆ สุดท้ายในกรณีที่หูเสียถาวรไปแล้วใช้เครื่องช่วยฟังแล้วไม่ได้ผล ก็ยังมีวิธีรักษาอื่นๆ อีก ได้แก่ การผ่าตัดใส่เครื่องประสาทเทียมเข้าไป อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับหูเมื่อไหร่ อย่ารอช้าจนรักษาไม่ได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของตัวคุณเอง

วิธีรักษาหูของเรา

การทำงานในสถานที่เสียงดัง อาจใช้อุปกรณ์กรองเสียงเข้าช่วย หรือพักหูบ่อยๆ รวมทั้งตรวจเช็กสุขภาพหูจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นประจำ

การใช้โทรศัพท์ หากเป็นผู้ที่ใช้โทรศัพท์มากๆ บางครั้งตะโกนคุยเสียงดังหรือเร่งเสียงนานๆ แนะนำการใช้เอียร์โฟน (Earphone) หรือเปิดสปีกเกอร์โฟน (Speakerphone) เพื่อป้องกันไม่ให้หูเสีย

การฟังเพลงจากเครื่องเล่น ควรจะเลี่ยงการเร่งเสียงดังมาก หรือลดระดับเสียง หรือลดระยะเวลาการใช้งานลง การเข้าร่วมงานอีเวนท์ งานปาร์ตี้ รวมไปถึงการไปคอนเสิร์ต โดยเฉพาะช่วงเทศกาล การไปสถานที่เที่ยว ไม่ควรอยู่นานเกินไป หรือควรใช้เอียร์ปลั๊ก (Ear Plug) เพื่อช่วยลดเสียงดังที่เข้ามาในหู หรือเดินออกมาพักหูบ้าง

การดำน้ำ ควรมีการฝึกฝนอย่างระมัดระวัง อย่างมืออาชีพ เพราะความกดดันในน้ำมีสูง ทำให้เลือดไปเลี้ยงหูชั้นในลดน้อยลง ขาดเลือดไปเลี้ยงเซลล์หู แรงดันอาจส่งผลให้มีเลือดออกหลังเยื่อบุแก้วหูได้ หรือทำให้เยื่อแก้วหูฉีกขาดได้

การใช้ยา ยาบางชนิดอาจทำลายประสาทหู ทำให้เกิดประสาทหูเสื่อม หรือหูดับได้ ก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ 

การดูแลสุขภาพพื้นฐาน หากเป็นโรคภูมิแพ้ที่อาจจะนำไปสู่อาการหูอื้อ หูอักเสบ และแก้วหูทะลุ ควรปรึกษาแพทย์ และควรดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี ที่สำคัญควรพักผ่อนให้เพียงพอ

Credit: http://men.mthai.com/gm/7750.html
30 เม.ย. 56 เวลา 23:04 852 1 70
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...