ชาวกรุงเก่าผวา พบอีกสะพานใกล้กัน ชำรุดหนัก หวั่นซ้ำรอยอีกที่วัดสะตือ-วัดไก่จ้น อบต.สั่งปิดใช้งานทันที เผยต้องทุบทิ้งอย่างเดียว มท.1 ลงพื้นที่ด่วน สั่งผวจ.ทั่วประเทศเร่งตรวจสภาพสะพานแขวน กลัวถล่มซ้ำ สรุปเหตุสะพานแขวนพัง ดับ 4 เจ็บ 12 ส่วนสาเหตุเลขาฯวิศวกรรมสถานชี้เป็นเพราะสะลิงด้านขวาขาด จรัมพร" นำพฐ.ลงตรวจ เชื่อน้ำหนักเกินเพราะรถยนต์ชาวบ้านแอบขึ้นมาวิ่ง ที่ลพบุรีสั่งตรวจสะพานแขวนน้ำตกวังก้านเหลือง ขณะที่ สองแคว-สุโขทัยสั่งปิดซ่อมบางส่วนแล้ว
จากกรณีที่สะพานแขวนสำหรับคนเดินข้าม ชื่อสะพาน 200 ปี ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 120 เมตร ข้ามแม่น้ำป่าสัก ระหว่างหมู่ที่ 5 บริเวณเขื่อนพระราม 6 ข้ามไปหมู่ที่ 6 วัดสะตือ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดพังถล่มหัก 2 ท่อนลงไปในแม่น้ำป่าสัก ส่งผลให้ประชาชนที่สัญจรไปมาบนสะพานโดยรถจยย.ตกลงไปในแม่น้ำ นอกจากนี้คานใต้สะพานดังกล่าวยังได้หักพังลงไปทับมีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บจำนวนมากตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
สรุปดับ 4 เจ็บอีก 12
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 28 เม.ย. พล.ต.ต.กรเอก เพชรไชยเวส ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา และป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพระนครศรีอยุธยา ตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า ที่บริเวณจุดเหตุ เพื่อรับแจ้งคนสูญหายและสอบสวนพยานที่เห็นเหตุการณ์ เบื้องต้นทราบชื่อผู้เสียชีวิตทั้งหมด 4 ราย น.ส.เกศิณี ชบาสีห์ อายุ 54 ปี นายสามารถ ญาณปัญญา อายุ 33 ปี นายณัฐวุฒิ ใจจง อายุ 24 ปี ด.ญ.ปิริยาพร เสือสมิง อายุ 10 ขวบ
ส่วนผู้บาดเจ็บช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลต่างๆ ในจ.พระนครศรีอยุธยา และจ.สระบุรี 8 แห่ง จำนวน 12 ราย ประกอบด้วย น.ส. กรติยา สมอาจ อายุ 20 ปี นายนเรศ นิรันดร์สุข อายุ 43 ปี น.ส.รุ่งนภา แก้วสิทธิ์ อายุ 31 ปี นายจักรกฤษ์ แก่นวงษ์ อายุ 36 ปี ด.ญ.กุสุมา นากุล อายุ 9 ขวบ น.ส.สุวนัน พวงทอง อายุ 17 ปี ด.ญ.สุชิด ลัดดาอ่อน อายุ 11 ขวบ น.ส. สุกานดา ชุนช่าง อายุ 32 ปี นางดวงแข นิรันด์สุข อายุ 39 ปี นายสมภพ ศรีสุวรรณ อายุ 61 ปี น.ส.สุธิดา อินทรกำแหง อายุ 30 ปี ด.ช.ญาธิชัย ญาณัปญาณ 1 ปี
เล่านาทีสะพานถล่ม
นายสมพงศ์ บุญเลิศ อายุ 50 ปี ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ เล่าว่า ก่อนที่สะพานจะถล่ม ตนพร้อมภรรยาขี่รถจยย.ข้ามสะพาน โดยมีชาวบ้านขี่รถจยย.สวนกันไปมาประมาณ 4-5 คัน ก็พบว่าสะพานเอียงมาก จึงเร่งเครื่องเพื่อข้ามสะพาน จากนั้นได้ยินเสียงดังสนั่น จังหวะนั้นตนไม่กล้าหันกลับไปมอง จึงไปตั้งหลักที่บ้าน แล้วกลับมาที่เกิดเหตุใหม่ เห็นสะพานพังเสียหายมีคนเจ็บร้องครวญครางและพยายามที่จะขึ้นมาจากน้ำ
ระบุมีรถกระบะขับผ่าน
ด้านนางปราณี คงวิชัย อายุ 47 ปี ชาวบ้านที่สัญจรสะพาน เล่าว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 เดือน มีคนขับรถกระบะข้ามสะพานไปแล้วทำให้สะพานเอียง และยังมีขบวนแห่นาคจำนวนมากแห่ข้ามสะพาน ทำให้สะพานแตกลั่น ต่างคนต่างหนีข้ามสะพาน และสะพานเอียงประมาณ 30 ซ.ม. จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็สั่งปิดซ่อม จนกระทั่งวันที่ 26 เม.ย. สะพานก็ทรุดตัวอีกครั้ง จนกระทั่งถล่มลงมา
นางสุวัน สายสมุทร ผู้ใหญ่บ้าน ม.5 ต. ท่าหลวง กล่าวว่า เดิมสะพานมีตอม่อ ปูนด้วยแผ่นเหล็กมาระยะหลัง ตอม่อเกิดชำรุด จากเรือที่ลอดใต้สะพานชนเข้าบ่อยครั้ง ประกอบกับเหล็กที่เป็นพื้นสะพานผุ จึงปรับปรุงใหม่ เป็นสะพานแขวนเสร็จเมื่อปีที่แล้ว ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 สัปดาห์ เคยแจ้งเทศบาลว่าสะพานเอียง ซึ่งทราบว่าเตรียมจะปิดสะพานสัญจร แต่กลับเกิดเหตุเสียก่อน ซึ่งสะพานแห่งนี้มีคนสัญจรประมาณวันละ 5 พันคน
มท.มอบเงินช่วยเหลือ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 เม.ย. บริเวณสะพานที่เกิดเหตุ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุโดยมีนายวิทยา ผิวผ่อง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา บรรยายสรุป โดยสะพานดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลท่าหลวง อ.ท่าเรือ ซึ่งเป็นสะพานที่ก่อสร้างในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ให้ประชาชนได้ใช้สัญจรด้วยการเดินและจยย. มีขนาดกว้าง 2.2 เมตร ความยาว 110 เมตร ตามแบบแปลนของกรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2555 ใช้งบประมาณ 8,290,000 บาท ผู้รับจ้างบริษัท ดีไนซ์ (2009) จำกัด
นายจารุพงศ์เปิดเผยว่า ทางราชการจะช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย โดยช่วยเหลือผู้เสียชีวิต 25,000 บาท และมอบเงินส่วนตัวให้อีกรายละ 2,000 บาท ผู้บาดเจ็บเบื้องต้น รายละ 3,000 บาทก่อน โดยมอบให้ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ตรวจสอบรายละเอียด เกี่ยวกับประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับให้มากที่สุด
สั่งทุกจว.เร่งตรวจสอบ
นายจารุพงศ์กล่าวว่า จะนำปัญหาเรื่องสะพานแขวนไปประชุมผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ให้สำรวจตรวจสอบสะพานแขวนต่างๆ ที่มีอยู่ ให้มีความมั่นคงปลอดภัย ถือว่าเป็นบทเรียนที่ทุกจังหวัดต้องนำไปคิดแก้ไขภายใน 2-3 วัน ส่วนสะพานแห่งนี้อาจจะต้องรื้อทิ้ง แล้วสร้างใหม่ ส่วนสาเหตุของอุบัติเหตุ ทราบว่าทางจังหวัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเกิดเหตุ มีอัยการจังหวัดเป็นประธาน ผู้บังคับการตำรวจ ปลัดจังหวัด ผอ.โครงการชลประทาน ผอ.แขวงการทางอยุธยา ผอ. ทางหลวงชนบท ผอ.สำนักงาน เจ้าท่าภูมิภาค เป็นกรรมการ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้เสร็จภายใน 15 วัน
ต่อมาเวลา 13.45 น. ที่กระทรวงมหาดไทย นายจารุพงศ์เป็นประธานการประชุมกระ ทรวงมหาดไทย โดยสั่งการถึงผู้ว่าฯ ทั่วประ เทศผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม ว่า มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ทำหนังสือเวียนถึงโยธาฯ จังหวัด ทั่วประเทศ ตรวจสอบสะพานแขวนในพื้นที่ว่ามีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน หากพบชำรุดให้เร่งซ่อมแซมโดยเร็ว
คมนาคมสั่งป้องกันด่วน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า แม้ว่าสะพานที่ถล่มไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม แต่ก็สั่งให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ประสานงานกับแขวงการทาง สำนักทางหลวงชนบท ทุกพื้นที่ที่รับผิดชอบให้ลงไปตรวจสอบสภาพการใช้งานของสะพานทั้งหมดเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุสะพานพังซ้ำ
"สะพานแขวนต้องบำรุงรักษามากกว่าปกติ ไม่เหมือนสะพานคอนกรีตทั่วไป ดังนั้นกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทจะต้องเข้าไปช่วยตรวจสอบสะพานร่วมกับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า สะพานใดมีปัญหาอะไร อย่างไร หากมีปัญหาต้องหยุดใช้ และให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลแก้ไขโดยทันที และแจ้งให้ประชาชนหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น จนกว่าจะตรวจสอบและแก้ไขแล้วเสร็จ จึงจะให้ประชาชนกลับมาใช้สะพานเหล่านั้นได้ตามปกติ? นายชัชชาติกล่าว
จรัมพร"ลงพื้นที่เก็บหลักฐาน
เมื่อเวลา 11.00 น. พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผช.ผบ.ตร. นำคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุที่สะพานถล่ม พร้อมให้เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างรอยรถยนต์ ที่สัญจรไปมา เพื่อนำไปปรึกษาร่วมกับวิศว กรรมสถานหาสาเหตุต่อไป โดยพล.ต.ท. จรัมพร กล่าวว่า สั่งให้เจ้าหน้าที่เก็บรอยล้อรถในแผ่นปูนที่หักพังลงมาว่ามีรถยนต์ลักลอบขึ้นมาใช้สะพานดังกล่าวหรือไม่ และเก็บข้อมูลการซ่อมบำรุงสะพาน เพื่อนำไปประกอบสำนวนว่าสาเหตุที่สะพานถล่มเกิดจากความประมาทของผู้ใช้ หรือการออกแบบผิดพลาด ซึ่งต้องตรวจสอบร่วมกับคณะวิศวกรจากวิศวกรรมสถาน ทั้งนี้เบื้องต้นเชื่อว่าสาเหตุน่าจะเป็นกรณีที่ผู้ลักลอบขับรถยนต์ข้ามสะพานมากกว่าปัญหาโครงสร้าง ทั้งนี้ถือเป็นบทเรียนเพราะในประเทศไทยมีสะพานแบบนี้มาก จึงต้องหามาตรการแก้ไขป้องกันต่อไป
วิศวกรรมสถานชี้สะลิงขาด
ด้านนายธเนศ วีระศิริ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมเจ้าหน้าที่วิศวกรรมเดินทางตรวจสอบที่เกิดเหตุที่สะพาน 200 ปี ก่อนร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทศบาล ต.ท่าหลวง ตำรวจบก.ภ.จว.พระนคร ศรีอยุธยา ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน และวิศว กรรมโยธาจากกรมทางหลวง จากนั้นให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าสาเหตุของสะพานขาดเกิดจากสะลิงเส้นบนด้านขวาของสะพานขาด ซึ่งจากประวัติของสะพานดังกล่าวพบว่ามีลักษณะเอนเอียงไปทางด้านขวา เบื้องต้นดูแล้วไม่ใช่เกิดจากโครงสร้าง เพราะต่อม่อและพื้นดินไม่มีการทรุดตัว ยังแข็งแรงรองรับน้ำหนักได้ดี
อย่างไรก็ตามต้องรอตรวจสอบรายละเอียด อีกครั้งว่าขาดบริเวณไหน ซึ่งวันที่ 30 เม.ย. เจ้าหน้าที่จะปลดสะลิงยึดตัวสะพานออกมาตรวจสอบ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าสาเหตุของการขาดอยู่ตรงจุดไหน มาจากการบรรทุกน้ำหนักเกินไปหรือไม่ เป็นการขาดในลักษณะใด เส้น สะลิงที่ขาดขาดจากเส้นไหนก่อน และต้อง ดูในรายงานประกอบด้วยว่าการก่อสร้างสะพานดังกล่าวเป็นไปตามหลักวิศวกรรมหรือไม่ เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุในครั้งนี้อีกครั้ง
เทศบาลของบฯทำสะพานใหม่
นายเชษฐา ปทุมรังสี นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าหลวง อ.ท่าเรือ กล่าวว่า สะพานดังกล่าวก่อสร้างตามแบบของวิศวกรรม ซึ่งสามารถให้จยย.ผ่านได้ ทั้งนี้สะพานดังกล่าวซ่อมแซมครั้งล่าสุดเมื่อปีพ.ศ.2554 ก่อนน้ำท่วมครั้งใหญ่ จากนั้นก็ซ่อมบำรุง 4 ครั้ง ทุกครั้งที่ชาวบ้านร้องเรียน ก็สั่งการให้บริษัทที่รับผิดชอบเข้ามาซ่อมแซมทุกครั้ง ล่าสุดทางเทศบาล ส่งหนังสือให้บริษัทที่รับผิดชอบเข้ามาซ่อมแซมแก้ไขสะพานดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา เนื่องจากมีชาวบ้านร้องเรียนมาว่าสะพานเอนเอียง แต่ก็มาเกิดเหตุดังกล่าวก่อน
"จะเร่งหาทางช่วยเหลือประชาชนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งชุมชนที่ต้องใช้สะพานสัญจรไปมา ซึ่งจะเรียกประชุมสภาเทศบาลทำเรื่องถึงจังหวัดให้พิจารณางบฯ ทำสะพานใหม่ ทั้งนี้สะพานนี้รับน้ำหนักได้ 4 ตัน โดยตัวสะลิงดึงข้างละ 2 ตัน ส่วนสาเหตุต้องรอให้คณะกรรมการที่จังหวัดแต่งตั้งตรวจสอบให้ชัดเจน? นายเชษฐากล่าว
หวั่นสะพานพังอีกแห่ง
ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบสะพานแขวนที่ก่อสร้างในลักษณะเดียวกัน ตั้งอยู่ที่ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ห่างจากสะพานที่ชำรุดประมาณ 500 เมตร ซึ่งข้ามระหว่างวัดสะตือ-วัดไก่จ้น เป็นสะพานขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 129 เมตร พบว่ามีสภาพที่ชำรุดหลายจุด บางช่วงของสะพานมีรอยแตกร้าว เห็นเหล็กในที่เชื่อมตัวสะพาน ขณะที่ตัวลวดสะลิงที่ยึดสะพานนั้นใช้เชื่อมติดตัวสะพานแทนการใช้เหล็กยึด ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมาก หากตัวเชื่อมชำรุด จะส่งผลให้สะพานพังได้ ทั้งนี้ช่วงคอสะพานฝั่งหน้าวัดสะตือ มีการนำแผงเหล็กปิดกั้นไม่ให้รถจยย.สัญจรผ่านได้ ส่วนที่คอสะพานวัด ไก่จ้นติดป้ายแจ้งเตือนว่าอันตรายสะพานชำรุด อยู่ระหว่างการซ่อมแซม โปรดหลีกเลี่ยงการใช้งาน อย่างไรก็ตามยังมีประชาชนใช้สะพานดังกล่าวสัญจรอยู่ แม้ว่าจะสะพานจะส่ายเอนไปมาเล็กน้อยก็ตาม
อบต.สั่งปิดใช้ทันที
นายพิมาน พุ่มพันธุ์ม่วง นายกอบต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากการตรวจสอบจากวิศวกรรม กรมทาง หลวงชนบท ยืนยันว่าสะพานดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ต้องรื้อทิ้งสถานเดียว ไม่สามารถซ่อมแซมได้แล้ว เนื่องจากโครงสร้างแตกร้าว จนอาจจะเสียหายได้ ซึ่งทางอบต.สั่งปิดสะพานตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. เพราะกลัวซ้ำรอยสะพาน 200 ปี
นายพิมานกล่าวต่อว่า แม้สะพานดังกล่าวจะเป็นเส้นทางลัดของประชาชนในพื้นที่ แต่ เมื่อดูจากความปลอดภัยแล้วทางอบต. จะปิดสะพานดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. ทันที เนื่องจากเกรงว่าอาจจะเกิดอุบัติเหตุซ้ำรอยสะพาน 200 ปี และต้องรอของบประมาณจากส่วนกลางเพื่อก่อสร้างสะพานดังกล่าวต่อไป
นายณรงค์เดช ฉิมเล็ก หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ โยธาธิการและผังเมือง จ.พระนครศรี อยุธยา กล่าวว่า สะพานลักษณะนี้ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีมากกว่า 10 แห่ง ซึ่งทางสำนักงานโยธาจังหวัดกำลังตรวจสอบ พบว่าสะพานข้ามแม่น้ำป่าสักระหว่างวัดไก่จ้น กับวัดสะตือ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ชำรุดบางส่วนจนถึงขณะนี้ได้ห้ามรถจยย.วิ่งผ่านแล้ว ใช้เพียงให้สัญจรเดินเท้าได้
ญาติคนตายจี้สรุปสาเหตุ
สำหรับความเคลื่อนไหวของญาติผู้เสียชีวิต นายเสถียร นาคสุทธิ์ อายุ 66 ปี ตาของ ด.ญ.พิริยาภรณ์ ที่เสียชีวิต เปิดเผยว่า วันเกิดเหตุหลานซ้อนท้ายรถจยย.ของลุงไปซื้อสมุดเตรียมตัวไปโรงเรียนที่กำลังจะเปิดเทอม โดยหลานกำลังจะขึ้นป.5 ซึ่งจุดที่น้องเสียชีวิตเหลืออีกเพียง 1 ม.ก็จะพ้นสะพานแล้ว อยากให้ทุกฝ่ายเข้ามาช่วยเหลือดูแลและหาสาเหตุที่แท้จริงเพราะสะพานเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปีที่แล้ว
น.ส.พัชรินทร์ ใจจง อายุ 40 ปี น้าสาวของนายณัฐวุฒิ ใจจง อายุ 25 ปี ผู้เสียชีวิต เปิดเผยว่า หลานชายกำลังจะเดินทางไปทำงานที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ไม่คิดว่าจะมาเสียชีวิตในลักษณะนี้ เงินที่ได้รับจากการช่วยเหลือคงไม่เพียงพอ อยากให้ทางราชการช่วยเหลือให้มากกว่านี้ และให้สรุปโดยเร็วว่าสาเหตุของสะพานพังมันเกิดขึ้นได้อย่างไร
สองแคว-สุโขทัยปิดสะพาน
ที่จ.พิษณุโลก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกอบจ.พิษณุโลก พร้อมคณะอบจ.พิษณุโลก สำรวจสะพานสะลิงในความรับผิดชอบทั้ง 5 แห่ง โดยที่สะพานข้ามหมู่ที่ 7- หมู่ที่ 9 ต.จอมทอง อ.เมือง พบว่าพื้นเริ่มผุพัง ตะปูโผล่ออกมา ขณะเดินผ่านเกิดเสียงดังและพื้นไม้กระดกเป็นระยะ ชาวบ้านต้องสัญจรด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ จ.พิษณุโลกรับผิดชอบสะพานสะลิง 5 แห่ง
ส่วนที่สะพานสะลิงข้ามแม่น้ำน่าน หมู่ที่ 5 หน้าวัดหล่ม-หมู่ที่ 6 ต.วัดพริก เชื่อมต่อ ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง มีสภาพทรุดโทรม แผ่นไม้เริ่ม ผุพังแตกหักแล้ว สะลิงที่ใช้ดึงโครงสะพานขาด 2 เส้น สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านที่สัญจรไปมา โดยทางอบจ.พิษณุโลกสั่งปิดปรับปรุง เนื่องจากประชา ชนลักลอบขับรถยนต์ และรถเพื่อการเกษตรข้ามผ่าน
ที่จ.สุโขทัย นางสุมิตร ศรีสมบัติ ผวจ.สุโขทัย สั่งปิดสะพานสะลิง 2 แห่ง ได้แก่ สะพานสะลิงข้ามแม่น้ำยมใน ต.คลองกระจง และต.ย่านยาว อ.สวรรคโลก นอกจากนี้พบสะพานชำรุดอีก 4 จุด ได้แก่ สะพานสะลิงในเขต อ.เมือง 2 แห่ง อ.สวรรคโลก 1 แห่ง และ อ.ศรีสัชนาลัย 1 แห่ง จึงสั่งปิดป้ายเตือนประชาชน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าซ่อมแซมและปรับปรุง
ที่จ.ลพบุรี นายพิเชษฐ ไพบูลย์ศิริ ผวจ.ลพบุรี สั่งให้เร่งสำรวจความเสียหายของสะพานในพื้นที่ โดยเป็นห่วงสะพานที่สวนรุกขชาติน้ำตกวังก้านเหลือง หมู่ 4 ต.ท่าดินดำ อ.ชัยบาบาล จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นสะพานแขวนที่ยาวที่สุดของจังหวัด และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจำนวนมาก ใช้เป็นทางเดินข้ามน้ำตกระหว่าง อ.ชัยบาดาล กับ อ.ท่าหลวง จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ
มท.1รายงานนายกฯ
เมื่อเวลา 18.15 น. ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทันทีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เดินทางกลับจากการเยือนประเทศมองโกเลียอย่างเป็นทางการ นายจารุพงศ์ และพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. มารอรับ โดยนายจารุพงศ์รายงานถึงเหตุสะพานแขวน 200 ปี ถล่ม พร้อมรายงานความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่บาดเจ็บและเสียชีวิต