ศาลชี้พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงตายจากกระสุนปืนความเร็วสูงของทหารขณะตั้งด่านสกัดม็อบ นปช.หน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ช่วงเสื้อแดงชุมนุมปี 2553
ที่ห้องพิจารณาคดี 811 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษกเมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 30 เม.ย. ศาลได้อ่านฟังคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีดำ อช.4/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ยื่นคำร้องให้ไต่สวนสาเหตุการตาย ของพลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาละ สังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กองพลทหารราบที่ 9 จ.กาญจนบุรี เพื่อให้ศาลทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด รวมถึงสาเหตุและพฤติการณ์การตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2553 ผู้ตายถูกยิงเสียชีวิต ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็ว เพื่อระงับเหตุการณ์การปะทะกันของเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจกับกลุ่มคนเสื้อแดง ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ (ดอนเมือง)
ศาลพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและผู้ตายเป็นอย่างไรและใครเป็นผู้กระทำร้ายผู้ตาย โดยผู้ร้องมีนายธวัชชัย สาละ บิดาผู้ตายเบิกความ สอดคล้องกับพยานปากอื่น คือ ร.อ.ธนรัชน์ มณีวงศ์ ,จ.ส.อ.นพดล ตนเตชะ , จ.ส.อ.โกศล นิลบุตร ,ส.อ.อนุภัทร์ ขอมปรางค์ และนายพงษ์ระวี ชนะชัย (อดีตพลทหาร) ทำนองว่า ร.อ.ธนรัชต์ มณีวงศ์ หัวหน้าชุดเคลื่อนที่เร็ว ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำกำลังชุดเคลื่อนที่เร็วด้วยรถจยย. เดินทางไปที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เพื่อเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่ง มีพลทหารพงษ์ระวี ชนะชัย ขับขี่รถ จยย. ส่วนผู้ตายนั่งซ้อนท้าย เมื่อมาถึงแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต ขาออกช่องทางหลักและแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นแนวเดียวกันทางช่องทางคู่ขนาน กลุ่มรถ จยย. เป็นกลุ่มแรกที่มาถึงใกล้แนวสกัดของทหารและตำรวจ โดยขับขี่เรียงตามกันมา รถจยย.ผู้ตายนั่งซ้อนท้ายตามมาเป็นคันที่ 5 และได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 5 นัด พยานทั้งหมดจึงล้มรถ จยย.ลงและวิ่งเข้าหาที่กำบัง ส่วนผู้ตายถูกยิงที่ศรีษะตกลงจากรถ และเสียชีวิตเวลาต่อมา
นอกจากนี้ ส.ต.ท.สุกิจ หวานไกล ส.ต.อ.วินัย กองแก้ว และ ส.ต.อ.ณรงค์ ทองพูล เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งแนวสกัดในขณะเกิดเหตุเบิกความสอดคล้องกัน ว่า ในวันเกิดเหตุได้ปฏิบัติหน้าที่และหันหน้าไปทางกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. เมื่อเวลา 15.00 น. เห็นทหารวางกำลังบริเวณตอม้อทางขึ้นทางด่วนโทล์เวล์เป็นระยะทั้งฝั่งซ้ายและขวา แต่ละจุดมีทหารถืออาวุธปืนยาว 2 นาย ต่อมามีรถจักรยานยนต์ 5-6 คัน เปิดไฟหน้าขับขี่เข้ามาตามถนนวิภาวดี-รังสิต เข้าใกล้แนวสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจห่างประมาณ 50 เมตร พยานกับพวกเข้าใจว่าเป็นรถ จยย.ของกลุ่มนปช. มีคนตะโกนให้หยุดและเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารยิงปืนไปที่กลุ่มรถ จยย.หลายนัด จนรถล้มลงมีคนตะโกนว่ามีทหารถูกยิง
ขณะที่ พ.ท.นพ.เสกสรร ชายทวีป เบิกความว่า ได้ชันสูตรพลิกศพผู้ตาย พบว่าที่ศีรษะผู้ตายมีบาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบระหว่างหน้าขมับหางคิ้วขวา ขนาดกว้าง 3 ซม.ยาว 6 ซม. บาดแผลบริเวณหัวตาซ้ายกว้าง 0.7 ซม. ยาว 1.5 ซม.จากการผ่าศีรษะผู้ตายปรากฏว่าใต้หนังศีรษะพบรอยกระสุนและรอยฟกช้ำเป็นบริเวณกว้าง กะโหลกศีรษะแตก บริเวณหางคิ้วซ้ายเนื้อสมองซีกซ้ายถูกทำลายอย่างรุนแรง และพบเศษโลหะ 6-7 ชิ้น ฝังอยู่ภายในกะโหลกศีรษะและเนื้อสมอง และพบว่าวิถีกระสุน เข้าจากทิศทางซ้ายไปขวา ระหว่างหน้าขมับซ้ายและหางคิ้วซ้าย และสาเหตุที่ตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมอง
พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ตรวจพิสูจน์รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กยษ กจ 683 ที่ผู้ตายนั่งซ้อนท้ายขณะเกิดเหตุและตรวจพิสูจน์เศษกระสุนปืนที่ผ่าออกจากศีรษะผู้ตายรวมทั้งตรวจหมวกทหารที่ผู้ตายสวมขณะเกิดเหตุ ผลการตรวจรถจักรยานยนต์ดังกล่าว พบว่าบริเวณเบาะนั่นด้านซ้ายที่คนขับมีรอยกระสุนปืนทะลุไปทางด้านขวา และผลการตรวจพิสูจน์เศษกระสุนปืนที่ผ่าออกจากศีรษะผู้ตาย พบว่า เป็นกระสุนขนาด .223 นิ้วหรือขนาด 5.56มม. ซึ่งเป็นกระสุนปืนความเร็วสูงที่ใช้กับอาวุธปืนเล็กยาวแบบ เอ็ม 16 หรือ เอชเค 33 เชื่อว่าพยานเบิกความไปตามความจริง นอกจากนี้ยังมีเอกสารการตรวจวิถีกระสุนที่ยิงมาที่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายนั่งอยู่ พบว่ามาจากคนยืนยิง ไม่ใช่ยิงมาจากที่สูง
ดังนั้นพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมานั้น ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังเป็นประการอื่นได้คือ ผู้ตายถูกยิงเข้าที่ศีรษะ ด้วยกระสุนปืนขนาด.223 นิ้วหรือขนาด 5.56 มม. ซึ่งยิงจากจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ทำให้ผู้ตายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
จึงมีคำสั่งว่าผู้ตาย คือ พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ตายที่บริเวณ ถนนวิภาวดีรังสิต-ขาออก เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2553 เวลา 15.00น. โดยถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง จากอาวุธปืนเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้น ซึ่งกระสุนเข้าที่ศีรษะด้านซ้ายบริเวณหางคิ้ว ผ่านทะลุกะโหลกและทำลายเนื้อเยื่อสมอง เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย
ผู้สื่อข่าวรายงาน การฟังคำสั่งในวันนี้ ปรากฏว่า ไม่มีพนักงานอัยการฝ่ายผู้ร้อง หรือญาติของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ มาร่วมฟังคำสั่งแต่อย่างใด ขณะที่คดีนี้ถือเป็นสำนวนที่ 8 ที่ศาลมีคำสั่งชี้สาเหตุการเสียชีวิตโดยก่อนหน้านี้ศาลอาญา และศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งมาแล้ว 7 ราย ประกอบด้วยนายพัน คำกอง ชาว จ.ยโสธร , นายชาญณรงค์ พลศรีลา , นายชาติชาย ชาเหลา ชาวสุรินทร์ และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี ที่ระบุเสียชีวิตจากกระสุนขนาด.223 ที่มาจากฝ่ายเจ้าพนักงาน
ขณะที่มีเพียงกรณีของนายบุญมี เริ่มสุข ผู้ร่วมชุมนุม นปช. อายุ 70 ปี ชาว กทม. ศพรายที่ 5 ถูกยิงบริเวณ ถ.พระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม.และนายมานะ อาจราญ ลูกจ้างสวนสัตว์ดุสิต ศพรายที่ 6 ที่ถูกยิงตายภายในสวนสัตว์ดุสิต ที่ศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งใกล้เคียงกันว่า ทั้งสองเสียชีวิตด้วยกระสุนปืนขนาด .223 แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ
ส่วนศพนายนายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง อายุ 50 ปี หรือลุงคิม รายที่ 7 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งว่านายฐานุทัศน์เสียชีวิตที่ รพ.มเหสักข์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กทม. เมื่อวันที่ 23 ก.พ.55 เวลา 22.35 น. เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตาย สืบเนื่องจากปอดอักเสบ ระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลวจากโรคมะเร็งระยะลุกลาม โดยไม่ใช่ผลโดยตรงจากการถูกยิง
ขณะที่ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ จะมีคำสั่งการเสียชีวิตของนายฟาบิโอ โปเลงกี (FABIO POLENGHI) ช่างภาพชาวอิตาลี ศพรายที่ 9 ที่ถูกยิงเสียชีวิต ช่วงเวลา 10.00 - 13.00 น. เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ช่วงระหว่าง ถนนจากศาลาแดง – ราชประสงค์