DRIFT GURU
>> “กว่าจะมาขับดริฟต์ได้อย่างนี้ผมเคยขี่วินมอเตอร์ไซค์มาก่อนนะครับ”
>> ถ้าประโยคนี้เป็นคนอื่นพูดก็คงไม่แปลกประหลาด แต่กับชายหนุ่มที่นามสกุลคุ้นหู
อย่าง กี้-ศักดิ์ นานาผมหลับตาแล้วก็ยังนึกไม่ออกว่าหนุ่มนักเรียนนอกที่มีรถสปอร์ตเต็มบ้านอย่างเขาจะเอาเวลาช่วงไหนไปขี่จักรยานยนต์รับจ้าง
“จริงๆ ครับไม่ได้โกหก สมัยขึ้นมัธยมปีที่ 2 ผมชอบมอเตอร์ไซค์เอามากๆ แต่คุณพ่อไม่ยอมซื้อให้ขี่เพราะกลัวอันตราย ผมก็ยอมอดทนรอจนท่านไปเมืองนอก 2-3 เดือน จึงเริ่มดำเนินการตามแผนด้วยการนั่งรถบัสไปพัทยา แล้วไปเช่ามอเตอร์ไซค์ริมหาดคันละ 100 บาทต่อวัน ขี่กลับมาทำเป็นวินมอเตอร์ไซค์ที่ซอยทองหล่อ
“ขับเฉพาะช่วงเลิกเรียนจนถึงค่ำได้เงินวันละ 400-500 บาทพอครบอาทิตย์ก็เอาค่าเช่าไปจ่ายเขาทีหนึ่ง ทำแบบนี้อยู่เดือนหนึ่งก็เก็บเงินได้หมื่นกว่าบาท กว่าพ่อกับแม่จะกลับมาเมืองไทยผมก็ไปถอยมอเตอร์ไซค์ฮอนด้า โนวา ออกมาขี่แล้ว แต่ความลับมาแตกก็ตอนที่น้าสาวบังเอิญไปเห็นเข้าแล้วมารายงานที่บ้าน” สุดท้ายพ่อขอให้เขาเลิกซิ่ง แล้วมอบทุนมา 2 แสนบาทพร้อมกับพากี้ไปสอนการลงทุนในตลาดหุ้นแทนการแข่งมอเตอร์ไซค์
“ผมก็เล่นหุ้นได้เงินทีละหมื่นสองหมื่น เพราะช่วงนั้นตลาดหุ้นกำลังบูมก่อนเกิดวิกฤติฟองสบู่”
พอมีเงินจากหุ้น แทนที่จะฝากธนาคาร แต่เด็กหนุ่มอย่าง ศักดิ์ นานา ก็เอาไปลงทุนกับโฟล์ค กอล์ฟ สนิมเขรอะของที่บ้านซึ่งถูกจอดทิ้งไว้ด้วยการโมดิฟายใหม่หมด แล้วนำลงไปแข่งกับเพื่อนบนถนนวิภาวดีรังสิต
“ผมสั่งเครื่องโฟล์ค จีทีไอ เทอร์โบ ราคา6 หมื่นมาวาง แล้วทำสี ทำช่วงล่างใหม่หมดใส่แม็กเอ็นไก วิ่งไปวิ่งมาอยู่แถวนั้น”
ความที่สนใจอย่างอื่นมากกว่าการเรียนจนที่บ้านเห็นว่าขืนปล่อยไว้แบบนี้คงไม่ดีแน่ คุณพ่อของกี้จึงตัดสินใจส่งไปเรียนที่อังกฤษแบบกะทันหันในขณะที่เขากำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมฯ 5 โดยที่เขาต้องไปตั้งหน้าตั้งตาเรียนไฮสคูลใหม่
ตัดฉับข้ามไปที่เกาะอังกฤษ หนุ่มน้อยจากเมืองไทยต้องมาผจญภัยตามลำพัง แม้หัวใจจะยังรักความเร็วอยู่เหมือนเดิม แต่การศึกษาและปากท้องต้องมาก่อนความสนุก การแต่งรถของกี้จึงต้องถูกพับเก็บไว้ชั่วคราว
“อยู่ที่อังกฤษพ่อให้เงินผม 140 ปอนด์ต่อเดือน ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่นั่น ผมก็ยังทำอะไรไม่ได้มากจนกระทั่งเริ่มย้ายออกมาอยู่นอกหอพัก และเริ่มไปสมัครทำงานพิเศษในร้านอาหาร ก็ไต่เต้าจนขยับขึ้นมาเป็นผู้จัดการคาเฟ่ แล้วสุดท้ายก็ย้ายไปเป็นแมเนเจอร์ของบริษัทขนส่งสินค้า
“ชีวิตช่วงนี้เริ่มมีเงินมากขึ้น ได้เงินเดือนละ 2,000 ปอนด์ แต่ก็ยังต้องใช้สอยอย่างประหยัดผมนำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อ
ฮอนด้า แอคคอร์ด ปี 1986 เป็นรถเก่ามาก ซื้อมาในราคา 1,800 ปอนด์
“อาศัยที่พอซ่อมเองได้ ก็เอามาเปลี่ยนบูช บ่าวาล์ว ทำสีใหม่ ใส่แม็กขอบ 17 แต่งจนสวยถึงขนาดที่มีเพื่อนยุให้ขายต่อ ผมก็ขายไปในราคา 3,600 ปอนด์ได้กำไร 1,000 ปอนด์มาเหนาะๆ”
จากจุดนี้เองที่ทำให้ชายหนุ่มเริ่มเห็นช่องทางหารายได้ เขาเลยตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาเปิดอู่ซ่อมรถเพื่อขายต่อ
อย่างเป็นเรื่องเป็นราว
“เริ่มจากซื้อ อาร์เอ็กซ์-7 มาแต่งขาย จนหลังๆ รับทำแต่ปอร์เช่ อู่ผมมีปอร์เช่ 944 10 กว่าคัน ซื้อมาคันละ 8,000-9,000 ปอนด์ ทำเสร็จแล้วขายคันละหมื่นกว่าปอนด์ ถือว่าเป็นธุรกิจที่ไม่เลวทีเดียว”
ด้วยความที่ต้องซื้ออะไหล่มาซ่อมบำรุงรถ ทำให้กี้ได้รู้จักกับเพื่อนชาวสกอต- แลนด์ซึ่งเปิดกิจการขายท่อถักท่อแรงดัน
สูงอยู่ในสนามซิลเวอร์สโตน
“เขาชวนให้ผมย้ายเข้ามาเปิดอู่ในบริเวณสนามแข่ง ทำให้ความอยากจะแข่งรถกลับมาอีกครั้ง ผมเริ่มลงแข่งในรายการ ฟอร์ด ฟอร์มูล่า ซึ่งใช้รถ 1,300 ซีซี คล้ายๆ วันเมคเรซในบ้านเรา และเคยทำได้สูงสุดถึงอันดับ 3 และระหว่างที่แต่งรถไป พอมีเวลาว่างผมก็เริ่มเอารถไปลองวิ่งในสนามในแบบที่เขาเรียกว่า ดริฟต์”
ต้องเท้าความถึงต้นตำนานของการขับดริฟต์นั้นเริ่มต้นจากประเทศญี่ปุ่นในช่วงปี 1993 แต่สำหรับในทวีปยุโรปแล้วน้อยคนนักที่จะรู้จักเทคนิคการขับแบบนี้
“ผมกล้าพูดว่าเป็นคนแรกที่ทำให้ยุโรปรู้จักคำว่าดริฟต์ แรกๆ ผมก็ฝึกเองด้วยการเอารถมาลองวิ่งไปสัก 180 แล้วลองดึงเบรกมือดู รถมันก็หมุนหลายรอบควบคุมไม่ได้ ก็ฝึกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเริ่มเข้าใจกับหลักการของมันมากขึ้น
“ดริฟต์เป็นศิลปะแบบหนึ่งเหมือนกับบังคับรถให้เต้นรำ คนขับต้องประสาทไวมาก บางครั้งผมต้องใช้สองเท้าเหยียบทั้งคลัชต์ เบรก คันเร่ง พร้อมๆ กัน บางโค้งถ้าเข้าเกียร์แบบธรรมดาไม่ทัน ก็ใช้วิธีเอากำปั้นชกเกียร์เข้าไปเลยก็มี
“ช่วงหัดใหม่ๆ ผมใช้นิสสัน 200 เอสเอ็กซ์ สีขาว เอามาโมฯเป็น 300 แรงม้า จริงๆ แล้วเคยโมดิฟายจนแรงกว่านี้ แต่รถดริฟต์แรงมากไปก็ไม่มีประโยชน์ ความแรงมันต้องพอดีกับฟีลลิ่งคนขับ”
ลองผิดลองถูกอยู่เป็นปี จนกระทั่งในปี 1999 เขาก็เริ่มจัดอีเวนท์โชว์การดริฟต์เป็นครั้งแรกกับน้องๆ นักเรียนไทย
“ระหว่างที่ซ้อมนั้นก็เริ่มมีฝรั่งมาเกาะรั้วดูว่าไอ้นี่มันกำลังทำอะไรของมันคนเริ่มบอกกันปากต่อปาก จนวันที่เราจัดโชว์ที่สนาม Turweston ซึ่งเป็นสนามบินเล็ก ใกล้ๆ กับสนามซิลเวอร์สโตนมีรถมาร่วม 27 คัน
“หลังจากนั้นก็มีงานที่เรียกว่า MAX POWER LIVE DRIFT จัดขึ้น 12 รอบในหนึ่งสัปดาห์ ขายบัตร 5,000 ที่นั่งใบละ 10 ปอนด์ ปรากฏว่าคนดูจองเต็มหมด ดริฟต์กันควันตลบ สาวๆ กรี๊ดกันอย่างกับดารา”
ฉายา ‘กีกี้ ดริฟต์กูรู’ จึงเริ่มตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คนที่นั่นตั้งใจเรียกขึ้นมาแข่งกับดริฟต์คิงของญี่ปุ่น
“คนญี่ปุ่นเขามักถือตัวว่าเป็นเจ้าตำนานดริฟต์ พอบอกว่ามาจากเมืองไทยเขาก็จะทำเป็นงงๆ ว่าอยู่ตรงไหนเหรอ ก็เกทับกันไปมาจนในที่สุดทีมยุโรปกับญี่ปุ่นก็ได้มาเจอกันในการแข่งขัน UK D1 DRIFT CHAMPIONSHIP 2005 “UK D1 DRIFT CHAMPIONSHIP ถือว่าเป็นการแข่งดริฟต์ที่ดังมากของอังกฤษซึ่งหลังจากปี 2001 ผมก็เริ่มเปิดบริษัท Option-Motorsport รับทำรถดริฟต์โดยเฉพาะ และเริ่มทำสตั๊นต์โชว์ใน งาน Iris Motor Show และ London Motor Show และทีมจากเยอรมันกับฝรั่งเศสก็เริ่มส่งคนมาดูงานกันมากขึ้น”
นอกจากงานสตั๊นต์โชว์ที่สร้างชื่อให้กับกีกี้ ดริฟต์กูรูแล้ว ชายหนุ่มคนนี้ยังเคยรับหน้าที่เป็น Drifter ให้กับนิตยสาร Top Gear, Fifth Gear และ Evo Magazineที่โด่งดังในอังกฤษอีกด้วย
“เขาจ้างผมวันละ 500 ปอนด์ ให้ผมเอารถสปอร์ตมาขับดริฟต์หรือสาดโค้งแรงๆ เพื่อให้ช่างภาพได้ภาพตามต้องการ”
แต่ถึงแม้จะสร้างชื่อและรายได้จากการเป็นดริฟต์กูรูอยู่หลายปีจนเป็นที่ยอมในอังกฤษ แต่นั่นก็ไม่ใช่บ้าน ที่สุดแล้วกี้จึงตัดใจยอมขายธุรกิจทุกอย่างกลับเมืองไทยเพื่อมาดูแลคุณแม่ที่มีปัญหาทางสุขภาพ
“ผมคิดว่าคุ้มแล้วสำหรับชีวิตที่นั่น ครั้งหนึ่งเรามีโอกาสสร้างชื่อเสียงให้คนต่างชาติ ได้รู้จักเราในฐานะคนไทย และมีน้องหลายคนที่ได้เอาความรู้นี้กลับมาพัฒนาวงการ ดริฟต์บ้านเราด้วย”
OPT DRIFT CLUB คืองานแรกที่กี้เริ่มทำหลังจากกลับมาบ้านเกิด เขารวบรวมสมัครพรรคพวกที่มีใจรักดริฟต์ มาร่วมสนุกกันพร้อมกับวางกฎ กติกา การแข่งขัน ดริฟต์ใหม่ให้เป็นมาตรฐานสากล
“ทุกวันนี้ผมมาเปิดโรงเรียน TOYO Drift ที่สนาม BRC หลังซีคอนสแควร์ให้คนที่อยากขับดริฟต์ได้เรียนรู้ประสบการณ์ 10 กว่าปีของผมในเวลาแค่วันเดียว เขาจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลางมผิดงมถูก และผมก็หวังว่าในอนาคตเราจะมีแชมป์ดริฟต์ในระดับโลกที่เติบโตไปจากเมืองไทยอีกหลายคน”