ค่าแรง 300 บาทไม่พอยาไส้ ลูกจ้างยังมีหนี้เพิ่ม เหตุสินค้าแพง บวกกู้เงินนอกระบบมากขึ้น วอนรัฐขึ้นค่าจ้างทุกปี ชี้อัตราเหมาะสมควรอยู่ที่ 385 บาท ขณะที่ภาคธุรกิจปรับตัวด้วยการขึ้นราคาสินค้า หันใช้เครื่องจักรแทนคน
นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงสถานภาพแรงงานไทยหลังจากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศว่า รายได้ของลูกจ้างส่วนใหญ่ 35% ระบุว่าได้รับเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่มี 26% ระบุว่าได้ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นลูกจ้างรายวันภาคการเกษตร ซึ่งพบว่าลูกจ้าง 90% ระบุว่ามีภาระหนี้ โดยปัจจุบันมีหนี้เฉลี่ย 98,428 บาทต่อครัวเรือน สูงกว่าปีก่อนที่มีหนี้เฉลี่ย 91,710 บาท
ทั้งนี้ ในส่วนของหนี้ที่เพิ่มขึ้น พบว่าเป็นการกู้ในระบบ 48.1% ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่มีสัดส่วน 52.3% ขณะที่การกู้เงินนอกระบบมีเพิ่มขึ้นเป็น 51.9% จากปีก่อนที่มีสัดส่วน 47.7% ซึ่งการผ่อนชำระหนี้ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือนมีการผ่อนชำระหนี้ตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท มีสัดส่วนสูงถึง 56.8% ซึ่งพบว่ากลุ่มนี้ประสบปัญหาในการชำระหนี้ค่อนข้างเยอะ
เมื่อถามว่ามีปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายหรือไม่ 62.8% ตอบว่ามีปัญหา โดย 74% ระบุว่าเป็นเพราะราคาสินค้าแพงขึ้น ขณะที่ 13% ระบุว่าเป็นเพราะดอกเบี้ยสูง และ 10.4% ระบุว่าเป็นเพราะรายได้ลดลง
“ลูกจ้างมีความเห็นว่า หลังการปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศแล้ว รัฐบาลควรจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างทุกปี โดยอัตราที่เหมาะสมในปัจจุบันอย่างน้อยควรอยู่ที่ 385 บาทต่อวัน ขณะที่ในอีก 3 ปีข้างหน้าควรอยู่ที่ 456 บาทต่อวัน และอีก 5 ปีข้างหน้าควรอยู่ที่ 574 บาทต่อวัน”
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่พบว่าแรงงานส่วนใหญ่ยังคงเป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เป็นเพราะว่าค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น และการกู้ในระบบไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้เต็มที่ จึงต้องหันไปกู้นอกระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเป็นห่วงว่าอาจจะเกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคแรงงานก็เป็นได้ เพราะรายได้ที่ได้มาไม่พอกับรายจ่ายทำให้ต้องก่อหนี้เพิ่ม