เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ผู้สื่อข่าว ข่าวสด รายงานว่า นายไพบูลย์ มหิพันธุ์ รองนายกอบต.โพนงาม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ น.ส.สุภาพร ชัยชาญวัฒนา ปลัดอบต.โพนงาม นายประยูร พานสง่า ผู้ใหญ่บ้านโนนไฮ ม.6 ต.โพนงาม น.ส.พิมพ์นารา กิจโชติประเสริฐ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 10 ร้อยเอ็ด กรมศิลปากร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อำเภอกมลาไสยและผู้นำท้องถิ่น ร่วมกันเข้าสำรวจโครงกระดูกมนุษย์ในสวนยางพารา บริเวณดงเมืองยาง ใกล้กับศาลเจ้าปู่เมืองยาง บ้านโนนไฮ ม.6 ต.โพนงาม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ หลังมีชาวบ้านขุดพบโครงกระดูก และเชื่อว่าเป็นโครงกระดูกมนุษย์โบราณ
โดยบริเวณดังกล่าวเป็นสวนยางพาราของนายทองอินทร์ มะระคบ อายุ 67 ปี ชาวบ้านโนนไฮ พบชาวบ้านหลายร้อยคน กำลังมุงดูโครงกระดูกมนุษย์ และตลอดทั้งวันยังมีชาวบ้านใกล้เคียงทยอยเข้ามาดู และกราบไหว้บูชาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งโครงกระดูกดังกล่าวมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ยาวประมาณ 180-200 ซม. กะโหลกศีรษะมองเห็นเป็นบางส่วน ฟันด้านล่างสมบูรณ์หลายซี่ กระดูกแขนมีลักษณะวางพาดบนหน้าอก กระดูกส่วนขามองเห็นชัดเจนเหยียดขนาดอย่างเป็นระเบียบ โครงกระดูกหันหัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหลือ แตกต่างจากการฝังศพทั่วไป ซึ่งจะต้องหันหัวไปทางทิศตะวันตก ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าโครงกระดูกนี้เป็นมนุษย์โบราณที่มีอายุหลายพันปี และน่าจะเป็นบุคคลสำคัญ เช่น พระภิกษุ ผู้นำ หัวหน้าเผ่า หรือนักรบโบราณ นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับ เช่นกำไรข้อมืออีก 1 ชิ้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีประชาชนเข้ามาดูจำนวนมาก บางคนก็หยิบจับจนทำให้โครงกระดูกหักและเสียหาย เจ้าหน้าที่และชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างกรงเหล็กกั้นเพื่อป้องกันการเสียหาย
จากการสอบถามนายพรมมา มะระคบ อายุ 45 ปี ผู้ที่พบกระดูกเป็นคนแรก เล่าว่า เมื่อประมาณต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ตนและภรรยาได้ไปกราบไหว้พระธาตุพนม กระทั่งวันที่ 12 เม.ย. หลังกลับจากไหว้พระก็ฝันเห็นเด็ก ซึ่งแต่งตัวเหมือนกุมาร มานอนทับร่าง และบอกว่ามีของดี ซึ่งถูกฝั่งอยู่ในสวนยางพารานายทองอินทร์ มะระคบ ซึ่งเป็นตา จากนั้นตนจึงไปดูก็พบเห็นเศษกระเบื้องจำนวนมาก จึงลองขุดดูก็พบว่าเป็นกระดูของมนุษย์ จึงแจ้งผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ
ทั้งนี้หลังการทราบข่าวก็มีประชาชนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลเข้ามากราบไหว้บูชาจำนวนมาก บางคนก็มากราบของเลขเด็ด เพราะมีชาวบ้านที่เข้ามากราบไหว้แล้วถูกหวยงวดวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมาหลายราย
ด้านนางสาวพิมพ์นารา กิจโชติประเสริฐ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 10 ร้อยเอ็ด กรมศิลปากร กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าเป็นโครงการกระดูมนุษย์ แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นเพศหญิงหรือชาย และพบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมาก คาดว่าน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยและที่ฝังศพของคนโบราณ ซึ่งอยู่ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ หรือยุคเหล็ก ซึ่งเป็นยุคสมัยเดียวกันกับสมัยทวารวดี ของเมืองฟ้าแดดสงยาง อายุประมาณ 2,000 ปี คาดว่าน่ามีศพที่ถูกฝังอีกอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้ทางกรมศิลปากรได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะผลักดันเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ก็จะให้ความร่วมมือช่วยเหลือต่อไป