หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Prestige ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการห้ำหั่นกันของนักมายากลสองคนเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง โดยรู้ไหมว่าในภาพยนตร์เรื่องนี้มีตัวละครที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ด้วยนั่นก็คือ "นิโคลา เทสลา" ชายที่เป็นผู้ที่สร้างเครื่อง "ย้ายร่าง" ให้กับโรเบิร์ต แองเจียร์ ที่นำแสดงโดย ฮิวจ์ แจ็คแมน นั่นเอง และวันนี้หากใครเปิดเข้าเว็บเสิร์จเอ็นจิ้นท์ยอดฮิตอย่าง google จะเห็นว่า โลโก้วันนี้ถูกทำขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเกิดของนักประดิษฐ์ผู้นี้...
ในโลกแห่งความเป็นจริง นิโคลา เทสลา คือนักประดิษฐ์ชาวโครเอเชียผู้คิดค้นระบบไฟฟ้ากระแสสลับ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเขาเป็นบิดาของอุปกรณ์ไฟฟ้าและการสื่อสารไร้สายก็ว่าได้ เพราะเขาเป็นผู้ประดิษฐ์ขดลวดเทสลา หรือ Tesla coil และยังค้นพบวิธีการเปลี่ยนสนามแม่เหล็กเป็นสนามไฟฟ้า จึงเป็นที่มาของหน่วยวัดสนามแม่เหล็กเทสลา อีกทั้งยังเป็นผู้ค้นพบวิธีการสื่อสารแบบไร้สายอีกด้วย แต่เรื่องที่คนส่วนใหญ่พูดถึงเขานั้นจะเกี่ยวกับความเพี้ยนของเขามากกว่า
นิโคลา เทสลา นั้นเกิดในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อ สมิลจาน ในประเทศโครเอเชีย ในเวลาเที่ยงคืนของระหว่างวันที่ 9 กับวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1856 ซึ่งการที่เขาตกฟากตอนเที่ยงคืนตรง ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่น่าพิศวงของนักประดิษฐ์คนนี้ ทางด้าน มิลูติน พ่อของเขาหวังจะให้เขาเป็นนักบวชเหมือนกับตนเอง แต่ นิโคลา กลับเหมือนดจูกาแม่ของเขา ที่ชอบประดิษฐ์เครื่องทุ่นแรงต่างๆ ไว้ใช้เองในบ้านมากกว่า โดยเขาได้ฉายแววของการเป็นนักประดิษฐ์ตั้งแต่เด็ก สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกของเขาคือเครื่องมือจับกบที่ทำมาจากเชือกกับตะขอ และใช้ได้ผลดีมากถึงขนาดที่ว่าแทบจะไม่มีกบเหลืออยู่ในหมู่บ้านของเขาเลย
นอกจากนี้เขายังได้สร้างระหัดวิดน้ำชนิดไม่มีใบพัด ซึ่งเจ้าสิ่งนี้เองที่เป็นแรงจูงใจให้เขาสร้างเครื่องกังหันน้ำที่ไม่มีใบพัดในเวลาต่อมา นอกจากนี้เขายังได้สร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้พลังงานจากแมลงจูน (June Bugs) ที่เขาได้จับเอาแมลงจูนแบบเป็นๆ ถึง 16 ตัว มาติดกาวลงบนใบพัดกังหันอันเล็กๆ โดยเมื่อแมลงจูนกระพือปีก นั่นก็คือกลไกที่ทำให้กังหันนั้นหมุนได้นั่นเอง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เด็กคนหนึ่งมากินแมลงจูนจากสิ่งประดิษฐ์ของเขา นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เขาไม่แตะต้องแมลงใดๆ อีกเลย
นอกจากเขาจะเกิดมาพร้อมสมองอันชาญฉลาดแล้ว เขายังมีพลังจิตอีกด้วย โดยตั้งแต่เด็กเขามักจะเห็นแสงไฟแวบเข้าตาตามด้วยภาพหลอน และหลายครั้งที่เพียงแค่เขาได้ยินชื่อของสิ่งของ เขาก็จะเกิดภาพรายละเอียดของสิ่งของชิ้นนั้นๆ ขึ้นในใจ และนั่นคือสิ่งที่สร้างความรำคาญใจให้เขาเป็นอย่างมาก
ครั้งหนึ่งเขาเคยล้มป่วยเป็นโรคประหลาดที่หาสาเหตุไม่ได้ โรคนั้นทำให้ประสาทรับรู้ต่างๆ ของเขาไวต่อสิ่งเร้ามากกว่าปกติ แค่เพียงได้ยินเสียงเข็มนาฬิกาเดินก็ทำให้เขาทรมานเป็นอย่างมาก จนเขาต้องนำแผ่นยางมาวางรองไว้ที่ขาเตียงเพื่อลดแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ อีกทั้งการอยู่ในสถานที่ที่มีแสงจ้า นอกจากจะทำให้เขาปวดตาแล้ว มันยังแผดเผาผิวหนังของเขาจนเป็นแผลพุุพองอีกด้วย แต่หลังจากที่อาการประหลาดของเขาทุเลาลง เขาก็ได้รู้แจ้งถึงกรรมวิธีสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับอันโด่งดัง
ทว่าด้วยอาการประหลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเขา ทำให้เขากลัวการสัมผัสทางร่างกายกับบุคคลอื่น เขาจึงปฏิเสธความสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม และการแตะเนื้อต้องตัวหรือการจับมือกับใคร ได้แต่โกหกว่ามือของเขาได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในห้องทดลอง อีกทั้งเขายังมีพฤติกรรมแปลกๆ อย่างการทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันซ้ำกันหลายๆ ครั้ง จนกว่าจะได้จำนวนที่หารด้วย 3 ลงตัว ถ้าไม่อย่างนั้นเขาก็จะทำใหม่จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งจำนวนครั้งที่เขาชอบเป็นพิเศษ คือ 27 เพราะมันเท่ากับเอา 3 มายกกำลัง 3 นอกจากนั้นเขายังกำหนดปริมาณอาหารที่เขากินในแต่ละมื้อ ด้วยการนำไม้บรรทัดมาวัดดูว่าภาชนะที่ใช้บรรจุอาหารของเขานั้นมีความจุเท่าใด
โดยในปี ค.ศ. 1884 เขาได้เดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ไม่มีเงินติดกระเป๋าแม้แต่สตางค์แดงเดียว จะมีก็เพียงสมองอันชาญฉลาดของเขาเท่านั้น ต่อมาเขาได้ค้นพบมอเตอร์เหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าที่สามารถใช้งานได้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1888 และเขาก็ได้พยายามขายสิทธิบัตรมอเตอร์ไฟฟ้านี้ แต่ก็ถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าจนต้องไปเป็นกรรมกรในนิวยอร์กอยู่หลายเดือน ซึ่งเขาต้องย่ำต๊อกอยู่กว่า 10 ปี กว่าจะสามารถทำให้มอเตอร์เหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าได้รับการยอมรับ จึงทำให้ชื่อของเขาถูกนำมาใช้เป็นหน่วยหลักของแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อเป็นเกียรติในเวลาต่อมา
แต่เมื่อนึกถึงนักประดิษฐ์ ผู้คนมักจะนึกถึง โทมัส เอดิสัน เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ นิโคลา เทสลา นั้นดูเหมือนว่าทั้งสองจะมีแนวคิดที่ต่างกันคนละขั้วเลยทีเดียว เทสลานั้นเป็นเจ้าของแนวความคิดเรื่องไฟฟ้ากระแสสลับ ที่สามารถให้พลังไฟฟ้าในขอบเขตที่กว้างกว่าไฟฟ้ากระแสตรง ที่เป็นแนวคิดของเอดิสัน โดยเอดิสันได้คิดค้นเก้าอี้ไฟฟ้าที่ใช้ในการประหารนักโทษขึ้นมา เพียงเพื่อแสดงให้เห็นอันตรายจากการใช้ไฟฟ้ากระแสสลับเท่านั้น ซึ่งว่ากันว่าอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เอดิสันนั้นไม่เข้าใจหลักการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับตามที่เทสลาอธิบาย นี่จึงเป็นการประกาศว่าเอดิสันไม่ยอมรับสิ่งประดิษฐ์ของเทสลานั่นเอง
ที่น่าเศร้าก็คือนักประดิษฐ์อย่างเขา กลับต้องมาเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองนิวยอร์ค ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ในขณะที่เขามีอายุได้ 86 ปี ซึ่งไม่สามารถระบุวันเวลาที่แน่นอนของการเสียชีวิตได้ แต่มีการคาดว่าน่าจะอยู่ระหว่างช่วงบ่ายของวันที่ 5 มกราคม ถึงช่วงเช้าของวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1943 โดยตลอดชีวิตของเขานั้นถูกคนในวงการวิทยาศาสตร์ดูถูกในความคิดของเขาที่ดูจะเพี้ยนๆ อีกทั้งประชาชนทั่วไปก็แทบจะไม่มีใครรู้จักชื่อของเขาเลยด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้นในการ์ตูนยอดฮิตเรื่องซูเปอร์แมนยังนำชื่อของเขาและสิ่งประดิษฐ์ของเขามาแต่งเป็นเรื่องราว เกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ชื่อ"เทสลา" ที่พยายามทำลายล้างโลกด้วยเครื่องยิงลำแสงมหาประลัย หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า Death Ray
หลังจากที่เขาเสียชีวิตลง เอฟบีไอได้สั่งการให้สำนักงานทรัพย์สินคนต่างชาติ หรือ The Office of Alien Property เข้ายึดทรัพย์สินทุกชิ้นของเขา ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเนื่องจากเขาได้รับสัญชาติอเมริกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1891 แล้ว โดยว่ากันว่าจุดประสงค์ที่กระทำการเช่นนี้ก็เพื่อค้นหาข้อมูลสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่เขาได้เคยคิดค้นขึ้นมานั่นเอง
บั้นปลายชีวิตของเขาจึงแตกต่างจาก โทมัส เอดิสัน มาก ในขณะที่ เอดิสัน กลายเป็นบุคคลสำคัญของโลกที่ได้รับการเชิดชูว่าเป็นสุดยอดนักประดิษฐ์ แต่เขากลับเป็นเพียงนักวิทยาศาสตร์สติเพี้ยนในสายตาของคนทั่วไป เขาจึงได้ชื่อว่าเป็น "นักประดิษฐ์ที่โลกลืม"