ภญ.วรีวรรณ รัตรสาร แพทย์แผนไทยด้านเวชกรรมไทย กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อน ร่างกายจะสูญเสียเหงื่อมากกว่าปกติ สิ่งสำคัญควรดื่มน้ำมากๆ ประมาณวันละ 1.5-2 ลิตร แต่ไม่ควรดื่มแบบรวดเดียว ควรดื่มแบบค่อยๆ จิบไปเรื่อยๆ ที่สำคัญไม่ควรดื่มน้ำเย็นดับกระหาย แต่ควรดื่มน้ำที่อยู่ในอุณหภูมิห้อง เพราะมนุษย์เป็นสัตว์เลือดอุ่น หากดื่มน้ำเย็นเข้าไป ร่างกายจะปรับอุณหภูมิความร้อนขึ้นมา ยิ่งดื่มน้ำเย็นมาก ร่างกายก็จะปรับอุณหภูมิขึ้นจนอาจมีอาการร้อนใน อย่างไรก็ตาม มีสมุนไพรซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ร่างกายได้ โดยใช้น้ำต้มฝางหรือจันทน์แดง ซึ่งมีสรรพคุณบำรุงเลือด ระบายไข้ แก้ร้อนใน แต่หากไม่ชอบกลิ่นก็สามารถต้มน้ำใบเตยแทนได้ และให้ดื่มแบบไม่ต้องแช่เย็น เพราะจะยิ่งทำให้อุณหภูมิในร่างกายร้อนขึ้น
"ผู้หญิงไม่ควรดื่มน้ำเย็น เพราะจะทำให้รอบเดือนมักเป็นลิ่ม รอบเดือนหายบ่อย เกิดฝ้าง่าย ปวดหัวง่าย ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์เลือดอุ่นมีอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส แต่ไม่เหมือนชาวต่างประเทศที่อยู่ในพื้นที่เย็นจัด กลุ่มนั้นกินน้ำเย็นไปก็ไม่เย็นไปกว่าอุณหภูมิภายนอก ที่พวกเราป่วยก็เพราะดื่มน้ำเย็นกันมาก แต่ไม่รู้" แพทย์แผนไทยกล่าว และว่า การรับประทานอาหารคลายร้อน ประเภทผักและผลไม้ควรกินตามฤดูกาล เพราะจะมีลักษณะชุ่มน้ำและมีฤทธิ์เย็น แต่หากจะกินในช่วงเวลาบ่ายหรือเย็นควรเลือกที่มีฤทธิ์ขับลมปนอยู่ด้วยเพื่อแก้อาการท้องอืด เช่น น้ำตะไคร้ ใบแมงลัก โหระพา ขมิ้น และว่านหางจระเข้ เป็นต้น ส่วนไอศกรีมที่มักชอบกินในหน้าร้อน หากจะกินในมื้อเย็นควรกินน้ำอุ่นตาม เพื่อให้ร่างกายไม่สร้างความร้อนขึ้นมาจนเป็นร้อนใน และไม่ควรกินหลังมื้ออาหาร เพราะกระเพาะต้องการความร้อนในการย่อย ส่วนผลไม้ที่ช่วยย่อยหลังอาหารได้ดีคือ มะละกอ หรือสับปะรด
ที่มานสพ.มติชน