(19 เม.ย.) ขณะที่ เวลา 20.00 น.ตามเวลาประเทศไทย หรือ เวลา 15.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงเฮก) คณะตัวแทนฝ่ายไทย ได้ขึ้นให้การด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นวันสุดท้ายของการชี้แจงของฝ่ายไทย และเป็นวันสุดท้ายที่ศาลโลกรับฟังการชี้แจงของคู่ความทั้งสองฝ่าย
นายอแลง แปลเล่ต์ ทนายความชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า ผู้เรียกร้องฝ่ายกัมพูชาไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดในคำร้องอย่างเพียงพอ ว่า ต้องการอะไรกันแน่ และมีความหมายแฝงมาคืออะไร โดยจากคำแถลงของกัมพูชานั้น เมื่อฟังดูแล้วทำให้ลำบากใจ โดยในเรื่องของบทปฏิบัติการ นอกจากนี้ เมื่อดูถึงคำตัดสินปี 2505 ไทยได้ถอนทหารออกจากตัวปราสาท และบริเวณใกล้เคียง ออกพ้นจากซากหักพังของปราสาทพระวิหารไปอยู่ในพื้นที่ของไทย และกัมพูชาไม่ได้ประท้วงหรือสงวนสิทธิ์ในการประท้วงตรงนี้ และยังเป็นถอนทหารออกไปไม่ว่าจะเคยอยู่ที่ใดในดินแดนของกัมพูชา อีกทั้งศาลได้พิพากษาแล้วว่าตัวปราสาทอยู่ในความครอบครองของกัมพูชา จึงไม่สมเหตุผลที่ต้องมาตีความใหม่
นอกจากนี้ ศาลไม่ควรนำแผนที่ภาคผนวก 1 (แผนที่ 1:200,000) เพื่อตีความหรือดูว่าเส้นเขตแดนอยู่ที่ใดกันแน่ เพราะศาลได้ปฏิเสธที่จะชี้เรื่องบูรณภาพ สถานะภาพของแผนที่ 1:200,000 และเส้นแบ่งเขตแดน จึงไม่ควรถูกนำมาขอตีความใหม่ อีกทั้งกัมพูชาได้ยอมรับสิ่งที่เป็นอยู่ แต่หากศาลจะรับตีความใหม่ จะต้องทิ้งคำพิพากษานั้นออกไป แต่กัมพูชามีความพยายามระบุว่า ไทยต้องถอนกำลังทหาร โดยพยายามบอกว่า มีผลต่ออธิปไตยของกัมพูชา ขณะที่ไทยยืนยันว่าได้ถอนกำลังออกไปแล้ว จึงไม่สามารถถอนได้อีกครั้ง และไม่ได้นำกำลังกลับเข้าไปอีก จึงไม่ใช่เป็นเรื่องข้อพิพาทในการตีความ แต่เป็นเรื่องการทำตามคำพิพากษามากกว่า
นายแปลเล่ต์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กัมพูชายอมรับด้วยวาจาแล้วว่า ไทยทำตามคำพิพากษาปี 2505 และในปี 2509 กัมพูชาไม่เคยมีการประท้วง จึงไม่มีอะไรเหลือให้ต้องสงสัยหรือต้องตีความคำพิพากษาอีกครั้ง รวมทั้งสิ่งที่เห็นต่างกันนั้น คิดว่ามาจากการยอมรับเขตแดน ซึ่งกัมพูชาพูดถึงการตัดสินของผู้พิพากษาว่าอยู่ในฝั่งเขตแดน จึงไม่มีข้อพิพาทในเรื่องการตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 และการที่กัมพูชามาร้องครั้งนี้ ถือเป็นนำความคิดที่บิดเบือนมาเป็นความพยายามยื่นร้อง เป็นครั้งที่ 4 ทั้งที่ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาเรื่องของดินแดน