อย.เล็งออกกฎห้ามใช้"สีย้อมผม" หลังยุโรปพบมีผลอาจก่อเนื้อร้าย

 

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เตรียมออกประกาศห้ามใช้สีย้อมผมในผลิตภัณฑ์ 126 รายการ หลังพบสหภาพยุโรปออกกฎหมายห้าม เหตุมีงานวิจัยชี้ชัดอาจก่อเนื้อร้ายในกระเพาะปัสสาวะ รองเลขาฯ อย. ปรามเวชสำอาง อย่าโฆษณาเกินจริง 

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญ โดย อย.ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตเครื่องสำอางได้คุณภาพ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนอย่างรอบด้าน ทั้งการพัฒนากฎหมาย ยกระดับสถานประกอบการ เช่น การประกาศห้ามใช้สีย้อมผมในผลิตภัณฑ์ย้อมผม ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล ยกตัวอย่าง สหภาพยุโรปได้ออกประกาศห้ามใช้สีย้อมผมเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางหลายรายการ เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดเนื้อร้ายในกระเพาะปัสสาวะ อย.จึงมีการทบทวนการใช้สารใหม่ทั้งหมด เพื่อป้องกันทั้งการนำเข้าและการขออนุญาตผลิต และเตรียมออกประกาศห้ามใช้สีย้อมผมในผลิตภัณฑ์ย้อมผมเพิ่มเติมอีกจำนวน 126 รายการ โดยจัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง (ฉบับที่ 7) เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการมาตรฐานเครื่องสำอางและผ่านความเห็นชอบแล้ว โดยจะได้นำเสนอคณะกรรมการเครื่องสำอางเพื่อออกประกาศคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ภายในปีนี้ 

นพ.ไพศาลกล่าวว่า มาตรการที่ อย.ดำเนินการถือว่าสอดคล้องกับการปรับกฎระเบียบเกี่ยวกับเครื่องสำอาง และการจัดทำบทบัญญัติเครื่องสำอางอาเซียน ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องควบคุมกำกับดูแลให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายในท้องตลาดต้องเป็นไปตามข้อตกลง ทั้งในเรื่องรายการสารที่ใช้เป็นส่วนผสม ฉลากผลิตภัณฑ์ การจัดทำข้อมูลผลิตภัณฑ์ และการประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเมื่อวางจำหน่ายในประเทศ ส่งออก และการนำเข้าจากต่างประเทศด้วย

นพ.ไพศาลกล่าวอีกว่า อย.ยังให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยในแง่ของกฎหมายทั้งไทยหรือต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ฯลฯ ล้วนไม่มีข้อกำหนดหรือกฎหมายเกี่ยวกับเวชสำอางออกมารองรับ เพราะเวชสำอางเป็นนิยามศัพท์ที่ผู้ประกอบการเรียกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่แสดงคุณสมบัติหรือสรรพคุณในด้านบำบัด บรรเทา และรักษา ส่วนมากจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินกว่าเรื่องความสะอาดและความสวยงาม อย่างไรก็ตาม ในการรับจดแจ้งเครื่องสำอางจะต้องมีการกลั่นกรองว่าต้องใช้รายการสารตามที่กฎหมายกำหนด เพราะเครื่องสำอางมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาดและความสวยงาม หากมีส่วนผสมของยาจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นยาเท่านั้น

 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...