จักรวรรดิเปอร์เซียและนครรัฐต่างๆ ของกรีกได้เป็นศัตรูกันมาเป็นเวลานาน นับแต่สมัยของพระเจ้าดาริอุสที่หนึ่ง โดยในครั้งนั้น กองทัพกรีกจากเมืองเอเธนส์ได้เอาชนะกองทัพเปอร์เซียได้ที่ทุ่งมาราธอน จนทำให้การรุกรานของฝ่ายเปอร์เซียในครั้งนั้นต้องล้มเหลว ต่อมาในปีที่ 481 ก่อน ค.ศ. พระเจ้าเซอร์เซสที่ 1 โอรสของพระเจ้าดาริอุส ทรงหมายพระทัยจะครอบครองดินแดนกรีกให้ได้ พระองค์จึงระดมไพร่พลกว่าสี่แสนคนจัดเป็นทัพบกและทัพเรือโดยทรงนำทัพมาด้วยพระองค์เอง กองทัพของพระเจ้าเซอร์เซสได้ยาตรามาถึงเอเชียไมเนอร์และสร้างสะพานข้ามช่องแคบเฮลเลสปอนท์ที่เมืองอไบดอสเพื่อใช้สำหรับยกทัพข้ามฟากมา
(ทหารเปอร์เซีย)
หลังทราบข่าว นครรัฐสำคัญของกรีกได้รวมตัวกันเป็นพันธมิตรเพื่อตั้งรับทัพเปอร์เซีย โดยกษัตริย์ลีโอนีดาสแห่งสปาตาร์ได้วางแผนจะสกัดกองทัพเปอร์เซียไว้ที่ช่องแคบเทอร์โมฟีเลีย (Thermopylae) ทางภาคเหนือของดินแดนกรีก พระองค์ได้นำไพร่พลชาวสปาตาร์ 6,000 นาย เคลื่อนทัพไปตั้งมั่นอยู่ที่นั่นใน เดือนสิงหาคม ปีที่ 480 ก่อนคริสตกาล
(นักรบสปาตาร์)
ทั้งนี้ลีโอนีดาสทรงมีเป้าหมายที่จะยันทัพเปอร์เซียให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้จนกว่าบรรดาพันธมิตรของพระองค์จะเตรียมกองทัพบกและทัพเรือเสร็จสิ้น เซอร์เซสไม่เชื่อว่ากองทัพเล็กๆของสปาตาร์จะสามารถหยุดยั้งทัพมหึมาของพระองค์ได้พระองค์ทรงส่งทูตไปแจ้งแก่ลีโอนีดาสว่า พระองค์จะให้เวลากองทัพสปาตาร์ห้าวันเพื่อให้พวกนั้นยอมจำนนหรือไม่ก็ถอยทัพ ทว่าลีโอนีดาสปฏิเสธอย่างอหังการ์ พระเจ้าเซอร์เซสจึงทรงส่งกองทัพบุกเข้าไปในช่องเขาเทอร์โมฟีเลีย
แต่การเข้าตีแต่ละครั้งล้วนพ่ายแพ้ เนื่องจากกำลังมหาศาลของชาวเปอร์เซียไม่สามารถทำลายปราการหอกยาวของฝ่ายกรีกที่เรียกว่า ฮอพไลท์ฟาแลง หรือขบวนรบพลหอกเบาได้
เฮโรโดตัส นักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า เมื่อ ไดนีคัส นักรบชาวสปาตาร์ผู้หนึ่ง เห็นลูกศรของเปอร์เซียปลิวว่อนเต็มท้องฟ้าจนแทบจะบดบังแสงอาทิตย์,เขาได้กล่าวว่า ”ดีแล้ว คราวนี้ พวกเราจะได้รบกันในที่ร่ม”
ทหารกรีก 6,000 นายสามารถป้องกันช่องเขาเอาไว้ได้จนถึงวันที่สอง โดยหลังจากวันนั้น ได้มีชาวกรีกผู้หนึ่งนามว่า เอฟิอัลตีส ไปติดต่อกับชาวเปอร์เซียและเข้าเฝ้ากราบทูลพระเจ้าเซอร์เซสว่า ยังมีช่องทางที่จะผ่านเทอร์โมฟีเลียได้อีกทางหนึ่ง.ซึ่งช่องเขาที่ว่านั้นถูกปกป้องโดยทหารกรีกจำนวน 1,000 นาย จากนครโฟซีส โดยกองกำลังส่วนนี้ถูกส่งไปอยู่ที่นั่นเนื่องจากพวกกรีกต่างก็รู้จักช่องทางนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามพวกนักรบโฟเชี่ยนไม่คาดคิดว่าพวกตนจะต้องมาต่อสู้กับทหารเปอร์เซีย ดังนั้นเมื่อกองทหารของเปอร์เซียบุกไปที่นั่น พวกเขาจึงต่อต้านเพียงเล็กน้อยก่อนจะแตกหนีไป และชาวเปอร์เซียก็สามารถเคลื่อนกำลังข้ามเข้าไปได้
เมื่อรู้ว่า ทางเข้าที่พวกโฟเชี่ยนรักษาอยู่ ได้เสียให้แก่ทัพเปอร์เซียแล้ว ลีโอนีดาสก็ตระหนักว่าการปักหลักสู้รบที่เทอร์โมฟีเลียต่อไปนั้นไร้ผล ดังนั้น ในวันที่ 11 สิงหาคม พระองค์จึงสั่งเลิกทัพทั้งหมด ยกเว้นแต่นักรบสปาร์ตาจำนวน 300 นาย ที่นำโดยเดโมฟิลุส ยังคงประจำอยู่ที่ช่องเขาและสู้อย่างยอมถวายชีวิต เพื่อที่จะถ่วงเวลาการเคลื่อนทัพของข้าศึกให้ช้าลง
ลีโอนีดาสได้ประทับอยู่กับเหล่าผู้กล้าทั้งสามร้อยและพร้อมที่จะสู้ตายเช่นกัน จากนั้นไม่นาน กองทัพใหญ่ของเปอร์เซียก็ระดมกำลังเข้าตีกองทหารสปาตาร์ทั้งสามร้อยนายที่ช่องเขาเทอร์โมฟีเลียอย่างดุเดือด แม้ว่าในการรบครั้งนี้ ชาวกรีกจะสังหารทหารเปอร์เซียได้มากมาย รวมทั้งพระอนุชาสองพระองค์ของพระเจ้าเซอร์เซสด้วย ทว่าน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ
ในที่สุด กษัตริย์ลีโอนีดาสก็ถูกสังหารพร้อมด้วยทหารสปาตาร์ 300 นายของพระองค์.โดยในช่วงเวลาก่อนที่การรบจะสิ้นสุดลง นักสปาร์ตาได้ถูกกองทัพเปอร์เซียผลักดันให้ถอยเข้าไปอยู่บนเนินเล็กๆ ในส่วนที่แคบที่สุดของช่องเขา ทหารชาวสปาร์ตาคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ ได้พยายามต่อสู้เพื่อแย่งชิงพระศพกษัตริย์ของพวกเขากลับคืนมา ก่อนที่ทหารผู้นั้นจะถูกสังหารด้วยคมอาวุธของชาวเปอร์เซีย
(เทอร์โมพีเลีย ในปัจจุบัน)
หลังจากทัพเปอร์เซียผ่านช่องเขาเทอร์โมฟีเลียไปได้ พระเจ้าเซอร์เซสก็ทรงให้กองทัพเข้าโจมตีนครเอเธนส์และเผาจนพินาศพร้อมกับนครอื่นๆอีกหลายนคร ซึ่งแม้ว่าในช่วงแรกของสงครามครั้งนี้ ชาวกรีกจะพ่ายแพ้แต่พวกที่เหลือก็ยังคงรวมกำลังสู้ต่อ
จนกระทั่งในภายหลัง กองทัพเรือของเอเธนส์ที่นำโดยเธมิสโตเคิล ก็เอาชนะทัพเรือเปอร์เซียได้ที่ซาลามีส (Salamis) และจมเรือข้าศึกได้มากกว่า 200 ลำ ขณะที่กำลังทางบกของฝ่ายกรีกซึ่งนำโดยกองทหารสปาตาร์ก็เอาชนะกองทัพเปอร์เซียได้ในการรบครั้งใหญ่ที่พลาเทีย (Plataea) ทำให้พระเจ้าเซอร์เซสต้องถอยทัพกลับไปพร้อมกับความปราชัยอย่างย่อยยับ ในสงครามครั้งนี้ วีรกรรมของลีโอนีดาสและเหล่าผู้กล้าทั้งสามร้อยนายที่สละชีวิตในช่องเทอร์โมฟีเลียได้กลายเป็นตำนานและยังคงเป็นที่เล่าขานกันมาจนตราบทุกวันนี้