ชายไทยทำร้าย"เมีย"สูงเป็นอันดับ7ของโลก! "เมา"เหตุหลักรุนแรงในบ้าน หญิงไทย"ทนได้" รักจึงยอม

นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา"รายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว" จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และสำนัก งานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค  เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา  

นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เปิดเผยว่า จากการสำรวจใน หัวข้อการ ทำร้ายคู่สมรส พบว่า ประเทศไทยมีการทำร้ายกันของคู่สมรสอยู่ประมาณอันดับที่ 30 ของโลกผู้ชายเป็นฝ่ายทำร้ายผู้หญิงสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ที่สำคัญพบว่าผู้หญิงยอมรับการถูกทำร้ายสูงอันดับ 2 ของโลก จากทั้งหมด 49 ประเทศ ทั้งนี้ความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากปัญหาเชิงทัศนคติ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ได้รับการปลูกฝังให้เป็นฝ่ายอดทนเพื่อครอบครัว

"ดังนั้นต้องปรับค่านิยม ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการมีหลักสูตรเจนเดอร์ในโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล เพื่อปลูกฝังการเคารพสิทธิความเท่าเทียมระหว่างเพศให้อยู่ในใจตั้งแต่เด็ก ขณะเดียวกันกระทรวงพม. พยายามจัดระบบหน่วยบริการช่วยเหลือ OSCC ศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ผู้ถูกกระทำมีทางเลือกเพิ่มขึ้น" นายสมชายกล่าว


ด้าน นายวิเชียรกล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัวมีมากขึ้นและจำนวนเพิ่มขึ้น หลายคนอาจมองว่าสังคมสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วจึงดูว่ามีความ รุนแรงเพิ่มขึ้น แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นสองอย่างประกอบกัน คือในอดีตคนที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวไม่กล้าเปิดเผยตัว แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวแล้วจะต้องปกปิด เราพยายามรณรงค์ให้ทุกครอบครัวอบอุ่นไม่ก่อความรุนแรง สิ่งสำคัญอยากให้ผู้ที่ถูกกระทำก้าวข้ามความกลัวออกมาเผชิญร่วมแก้ปัญหา

เมื่อ ถามว่าสัดส่วนของผู้ถูกกระทำรุนแรงแล้วกลับเข้าสู่สังคมได้มีเท่าใด นายชวลิตกล่าวว่า หากผ่านกระบวนการแล้วทุกคนสามารถกลับสู่ครอบครัวได้ทั้งหมด ไม่มีใครต้องอยู่ในการดูแลของเราตลอดชีวิต แต่ใช้เวลามากน้อยแตกต่างกัน ขณะเดียวกันพบว่ามีผู้ถูกกระทำซ้ำมาขอความช่วยเหลือ ซึ่งเราใช้กระบวนการทางสังคมเข้าไปแก้ปัญหา ดูว่าแต่ละรายมีปัญหาตรงไหน พยายามลดการกระทำซ้ำ แต่สิ่งที่เป็นปัญหามากตอนนี้และเป็นปัญหาใหม่ คือผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงไม่ออกมาแสดงตน เราจึงรณรงค์ว่าการกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลจึงตั้งศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม (OSCC) เป็นช่องทางใหม่ให้ทุกคนที่ประสบปัญหาเข้าถึงเจ้าหน้าที่ได้สะดวก และได้รับการแก้ไขทุกกรณี

น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่าข่าวความรุนแรงในครอบครัว มีปัจจัยกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 29.13 ประเภทข่าวความรุนแรงในครอบครัวแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1.ฆ่ากันร้อยละ 59.16, 2.ฆ่าตัวตายร้อยละ 24.02, 3.ทำร้ายกันร้อยละ 8.71, 4.ความรุนแรงอื่นๆ 3.10, 5.ตั้งครรภ์ไม่พร้อมร้อยละ 2.7 และ6.ล่วงละเมิดทางเพศร้อยละ 2.4



"หากเปรียบเทียบการใช้ความ รุนแรงในครอบครัว เมื่อปี 2554 เราจะพบข่าวการฆ่ากัน ร้อยละ 49.70 ขณะที่ปี 2555 พุ่งสูงถึงร้อยละ 59.16 และหากจำแนกประเภทตามความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ คือ ระหว่างสามีภรรยาร้อยละ 64.97 รองลงมา คือคู่รักแบบแฟนร้อยละ 15.74 สำหรับจังหวัดที่มีการก่อเหตุฆ่ากันของสามีภรรยา พบว่าเกิดเหตุที่กรุงเทพฯ มากที่สุด จังหวัดรองลงมาคือ สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี และชลบุรี การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นให้มีการก่อเหตุมาก ที่สุด" น.ส.จรีย์กล่าว

Credit: http://tnews.teenee.com/crime/94038.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...