ทำบุญวันสงกรานต์
วันสงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญของคนไทย คือ วันขึ้นปีใหม่ดังนั้น จึงต้องตระเตรียมงานกันเป็นการใหญ่ จนมีคนที่พูดกันติดปากว่า "ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่" สิ่งที่ตระเตรียมกันนั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำกันเป็นพิเศษตามลำดับ ดังนี้
1. เครื่องนุ่งห่มเพื่อใส่ในโอกาสไปทำบุญที่วัด ตลอดจนเครื่องประดับตกแต่งร่างกายอย่างค่อนข้างจะพิถีพิถัน
2. ของทำบุญ เมื่อใกล้จะถึงวันงานก็เตรียมของทำบุญเลี้ยงพระ และที่เป็นพิเศษของที่จะทำขนมพิเศษ ๒ อย่างได้แก่ ข้าวเหนียวแดงในวันตรุษ และขนมกวน หรือ กะละแมในวันสงกรานต์ นอกจากจะทำขึ้นเพื่อทำบุญแล้ว ยังแลกเปลี่ยนแจกกันในหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรีในวันสำคัญ
3. การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัยตลอดจนบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ดูเรียบร้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บูชาพระและที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษ แม้เสื้อผ้าที่ใช้สอยก็ต้องซักฟอก ให้สะอาดหมดจดโดยถือว่า กำจัดสิ่งสกปรกให้สิ้นไปพร้อมกับปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ด้วยความบริสุทธ์ผุดผ่อง
4. สถานที่ทำบุญ วัดเป็นสถานที่ทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระ และทำต่อเนื่องกันหลายวัน นอกจากจะทำความสะอาดกุฎิที่อาศัยแล้ว ยังต้องทำความสะอาดหอสวดมนต์ โบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ ตลอดจนลานวัด เพราะต้องใช้ทำกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา สรงน้ำพระ ก่อพระเจดีย์ทราย และงานรื่นเริงต่างๆ ด้วย
5. ไหว้พระขอพรเก้าพระอารามหลวง
• วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) มีคติว่า "แก้วแหวนเงินทองไหลมาเทมา" หรือ "เพื่อจิตใจสะอาด ดุจรัตนตรัย"
• วัดกัลยาณมิตร มีคติว่า "เดินทางปลอดภัย มีมิตรไมตรีที่ดี"
• วัดชนะสงคราม มีคติว่า "มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง"
• วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) มีคติว่า "ร่มเย็นเป็นสุข"
• วัดระฆังโฆสิตาราม มีคติว่า "มีคนนิยมชมชื่น"
• วัดสุทัศนเทพวราราม มีคติว่า "มีวิสัยทัศนกว้างไกลมีเสน่ห์แก่บุคคลทั่วไป"
• วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) มีคติว่า "ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน"
• ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร มีคติว่า "ตัดเคราะห์ต่อชะตาเสริมวาสนาบารมี"
• ศาลเจ้าพ่อเสือ มีคติว่า "เสริมอำนาจบารมี"
• วัดบวรนิเวศวิหาร มีคติว่า "พบแต่สิ่งที่ดีงามในชีวิต"
• วัดสระเกศ มีคติว่า "เสริมสร้างความคิดอันเป็นสิริมงคล"