ชีวิตของคนทำงานไม่ว่าจะเป็นนั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์นานๆ สะพายกระเป๋า โหนรถไฟฟ้า ขับรถในสภาวะรถติดนานๆ หรือแม้แต่การเล่นกีฬาที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวของหัวไหล่ เช่น แบดมินตัน หรือเทนนิส กิจกรรมเหล่านี้ ถ้าสะสมนานวันอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่เรียกว่า “ภาวะหัวไหล่ติด” ได้ !!
มณีรัตน์ พิมมาศ แพทย์อายุรเวท ศูนย์รักษาไมเกรนและโรคปวดกล้ามเนื้อ ดอกเตอร์ แคร์ คลินิก อธิบายว่า ภาวะหัวไหล่ติด เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อหุ้มข้อไหล่ ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณหัวไหล่ ซึ่งอาจมีอาการเจ็บอยู่หลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน แม้อาการปวดจะทุเลาลงแต่แขนข้างที่ปวดจะไม่สามารถยกได้เหมือนเดิม เมื่อข้อไหล่ไม่เคลื่อนไหวในช่วงระยะหนึ่งก็จะเกิดเยื่อพังผืดและหินปูนแทรกในข้อและเนื้อเยื่อรอบหัวไหล่ ถ้าเคลื่อนไหวข้อไหล่จะปวดมากขึ้นทำให้กล้ามเนื้อบริเวณไหล่อ่อนแรงและลีบลง ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงได้อย่างชัดเจน
“ภาวะไหล่ติด แบ่งเป็น 3 ระยะ ในระยะแรกจะปวด 1-4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยจะมีปวดข้อไหล่โดยเฉพาะเวลากลางคืน บางคนปวดมากจนสะดุ้งตื่นกลางดึกจากการนอนกดทับข้างที่ปวดเป็นเวลานาน ระยะที่2 เป็นระยะข้อไหล่ติด เมื่อผ่านไปประมาณ 16 เดือน อาการเจ็บจะลดลง โดยจะมีอาการปวดแบบเฉียบพลัน เช่น เวลาเหยียดแขนขึ้นไปหยิบของเหนือศีรษะ เอื้อมมือไปหยิบของที่เบาะหลังรถ หมุนพวงมาลัยรถ สระผมหรือถูหลังตัวเองเวลาอาบน้ำ ระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่สามารถขยับหัวไหล่ได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยบางคนกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ลีบผิดรูปได้ สุดท้าย คือ ระยะฟื้นตัว ใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี อาการเจ็บจะค่อยลดลงเรื่อยๆ แขนข้างที่เจ็บสามารถเคลื่อนไหวได้มากขึ้นอย่างช้าๆ แต่ไม่เป็นปกติ”
กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวไหล่ติด คือ กลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน อย่าง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน พบว่า มีโอกาสเกิดภาวะไหล่ติดสูงกว่าคนปกติ 2-4 เท่า
สำหรับวิธีรักษาภาวะไหล่ติดมีหลายวิธี ได้แก่ การทำกายภาพบำบัด นักกายภาพจะพยายามยืดไหล่และหมุนขยับส่วนที่ติดซึ่งกระบวนการบำบัดจะเจ็บมาก 90 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยจะเลิกรักษาเนื่องจากไม่สามารถทนต่ออาการเจ็บระหว่างบำบัดได้
การบริหารบริเวณหัวไหล่ เช่น ท่าไต่กำแพง แต่มักไม่ค่อยได้ผลเนื่องจากเมื่อผู้ป่วยทำด้วยตัวเองจนถึงตำแหน่งที่หัวไหล่ติด ผู้ป่วยจะไม่ทำต่อ เนื่องจากเจ็บมาก การฉีดยาสเตียรอยด์ ที่ข้อไหล่และการรับประทานยาเป็นการบรรเทาปวดรวมทั้ง การผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งมีค่ารักษาค่อนข้างสูง
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเทคนิคการรักษากันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงเทคนิคการรักษาภาวะไหล่ติดที่เรียกว่า SAM ซึ่งประกอบด้วยการรักษา 3 ขั้นตอน คือ การยืดกล้ามเนื้อ (Stretching) เพื่อเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของข้อต่อหัวไหล่ จะใช้เวลาประมาณ 15 นาที ขั้นตอนต่อมา คือ การกดจุดไปที่จุดกดเจ็บ (Acupresssure) ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที เพื่อสลายพังพืดยืดหยุ่นเส้นเอ็นบริเวณหัวไหล่ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการรักษาในขั้นตอนที่ 3 ต่อไป คือ การปรับองศาข้อไหล่ (Manipulation) ตรงนี้ใช้เวลาประมาณ 15 นาที โดยหลังจากผ่านขั้นตอนที่ 1 และ 2 แล้ว แพทย์อายุรเวทจะเริ่มการปรับองศาการยกหัวไหล่ทั้งแนวระนาบและแนวดิ่ง เพื่อทำให้การทำงานของหัวไหล่เป็นไปได้ตามปกติ
“เริ่มต้นจะเป็นการค่อยๆ ยืดหัวไหล่ช้าๆ เพื่อดูองศาหัวไหล่ของผู้ป่วยว่าสามารถยกได้กี่องศาเปรียบเทียบจากการวัดขององศาปกติที่ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ หรือใช้เครื่องมือที่เรียกว่า โกนิโอมิเตอร์ในการวัดองศา หลังจากนั้นค่อยๆ กดจุดและยืดเพื่อปรับองศาการเคลื่อนไหวของข้อต่อ โดยขั้นตอนนี้จะทำให้เลือดไหลเวียนมาเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อที่อักเสบพังผืดที่ยึดหัวไหล่และหินปูนที่เกาะรอบๆ บริเวณข้อต่อหัวไหล่ ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อไหล่ดีขึ้น”
สำหรับขั้นตอนที่ 2 และ 3 สามารถทำควบคู่กันไปได้ เนื่องจากการกดจุดและการค่อยๆ ยืดและขยับข้อไหล่ไปด้วยนั้นจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บน้อยมาก หลังจากเสร็จสิ้นการรักษาทั้ง 3 ขั้นตอนแล้ว แพทย์จะทำการตรวจดูการเคลื่อนไหวของข้อไหล่อีกครั้ง โดยให้ผู้ป่วยยกหัวไหล่ขึ้นและวัดองศาเปรียบเทียบความแตกต่างก่อนและหลังการรักษา เมื่อเข้ามารับการรักษาต่อเนื่องสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลาประมาณ 5 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะรู้สึกได้ว่าอาการดีขึ้นและสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติภายใน 2 สัปดาห์ แต่กรณีผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วยจะต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่าคนปกติทั่วไป รวมถึงผู้ป่วยที่เพิ่งประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับกระดูกที่รุนแรง
หลังการรักษาเพื่อไม่ให้เกิดภาวะหัวไหล่ติดอีก แพทย์อายุรเวท แนะนำว่า ควรบริหารหัวไหล่ด้วยการขยับและหมุนหัวไหล่บ่อยๆ โดยใช้ท่าบริหารหัวไหล่ง่ายๆ เช่น ยกแขนขึ้นตรงไปด้านหน้าขนานกับลำตัว ดันแขนข้างซ้ายไปทางขวามือขนานกับลำตัวใช้แขนขวาดึงบริเวณข้อมือซ้ายเข้าหาลำตัวค้างไว้ 10 วินาที ทำ 3 ครั้ง แล้วทำสลับข้าง
หรือจะเป็นท่ายกมือขวาขึ้นเหนือศีรษะพับข้อศอกลงแตะบริเวณท้ายทอย ใช้มือซ้ายจับบริเวณข้อศอกด้านขวาดึงข้อศอกไปทางด้านซ้ายมือ ค้างไว้ 10 วินาที แล้วทำสลับข้างกัน และท่านิ้วไต่ฝาผนัง ให้ยืนตรงหันหน้าเข้าผนัง ใช้นิ้วไต่ผนังขึ้น-ลงโดยไม่ยกไหล่ตาม ค่อยๆ เพิ่มความสูงขึ้นตามลำดับ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะไหล่ติดเกิดขึ้นอีก
อย่างไรก็ตามควรระวังการถูกกระชากของกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่อย่างรุนแรง เช่น การโหนรถเมล์ ไม่ควรยกของหนัก และหลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งที่ต้องใช้กล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ที่ต้องยกขึ้นสูงเหนือบริเวณศีรษะเป็นเวลานานๆ เช่น การทาสี การเขียนกระดาน ก็จะทำให้ห่างไกลจากภาวะหัวไหล่ติดได้
เคล็ดลับสุขภาพดี - 7 ข้อควรรู้สังเกตอาการครรภ์เป็นพิษ
ถึงแม้ว่าภาวะ “ครรภ์เป็นพิษ” หรือ “พิษแห่งครรภ์” จะเป็นภาวะที่พบได้น้อยเพียงร้อยละ 5-10 แต่ก็เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของสตรีตั้งครรภ์ ดังนั้นการทำความรู้จักเข้าใจถึงสาเหตุการเกิด ลักษณะอาการของภาวะครรภ์เป็นพิษให้ละเอียดถี่ถ้วนจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อจะได้ช่วยเหลือตัวเองและลูกน้อยในครรภ์ หรือบุคคลใกล้ชิดที่ตั้งครรภ์ได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้สรุปความรู้ 7 ข้อควรศึกษาเกี่ยวกับภาวะครรภ์เป็นพิษไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ 1.ครรภ์เป็นพิษมีสาเหตุการเกิดที่ไม่แน่ชัด ในอดีตมีการบันทึกถึงภาวะครรภ์เป็นพิษว่าเกิดจากความไม่สมดุลธาตุในร่างกายทำให้มีน้ำคั่ง ปัจจุบันมีเพียงสมมติฐานต่างๆ เช่น เชื่อว่ารกทำงานผิดปกติ 2.ครรภ์เป็นพิษที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ ความรุนแรงมีตั้งแต่เล็กน้อยจนรุนแรงกระทั่งหมดสติ มีภาวะซีดจากการที่เม็ดเลือดแดงแตกสลาย เกร็ดเลือดต่ำทำให้มีเลือดออกผิดปกติ การทำงานของตับผิดปกติ ส่งผลให้เสียชีวิตทั้งแม่และเด็กในครรภ์
3.ครรภ์เป็นพิษส่วนใหญ่เป็นมหันตภัยเงียบ เพราะสตรีตั้งครรภ์มักไม่ค่อยรู้ตัวว่าตนเองป่วย จนกระทั่งโรคเกิดรุนแรง จึงต้องทราบถึงสัญญาณเตือนภัยว่าภาวะครรภ์เป็นพิษกำลังมาเยือน ได้แก่ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว คลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มรวมถึงสมองบวมหรือเลือดออกในสมอง เจ็บจุกแน่นที่ลิ้นปี่หรือบริเวณชายโครงขวา เนื่องจากตับโตขึ้นหรือมีเลือดออกในตับ เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก นานราบไม่ได้ เนื่องจากน้ำท่วมปอด บวม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วในเวลาไม่กี่วัน ปัสสาวะออกน้อยลง เนื่องจากไตทำงานผิดปกติ มีการรั่วของโปรตีนออกมาในปัสสาวะ ในส่วนของทารกก็ได้รับผลกระทบด้วยคือเจริญเติบโตช้า น้ำคร่ำน้อยและเสียชีวิตได้ในกรณีครรภ์เป็นพิษรุนแรง
4.ครรภ์เป็นพิษมักพบในครรภ์แรกมากกว่าครรภ์หลัง โดยเฉพาะในสตรีที่อายุ 40 ปีขึ้นไป สตรีที่อ้วนมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร มีประวัติครอบครัวเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษ ตั้งครรภ์แฝด มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง 5.ครรภ์เป็นพิษรักษาโดยการคลอด เป้าหมายในการรักษามี 3 สิ่งคือ ต้องให้คลอด ให้ยาป้องกันชัก และให้ยาลดความดันโลหิต ซึ่งการคลอดอาจต้องพิจารณาถึงอายุครรภ์ด้วย หรือกรณีที่ครรภ์เป็นพิษรุนแรงไม่ว่าอายุครรภ์จะมากหรือน้อยต้องพิจารณาให้คลอดเพื่อรักษาชีวิตมารดาไว้ สำหรับทารกที่อายุครรภ์ไม่ครบกำหนดอาจต้องมีการให้ยาช่วยในการพัฒนาปอดเพื่อให้สามารถหายใจได้เอง อย่างไรก็ตามภาวะชักเป็นภาวะที่รุนแรงสามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ จึงต้องมีการให้ยากันชักในผู้ป่วยครรภ์เป็นพิษรุนแรง สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงต้องพิจารณาให้ยาลดความดันแก่ผู้ป่วยซึ่งมีทั้งทางหลอดเลือดหรือการรับประทาน
6.ครรภ์เป็นพิษแม้งดอาหารที่มีเกลือก็ไม่อาจลดความดันโลหิตสูงลงได้ ภาวะครรภ์เป็นพิษรับประทานอาหารที่มีเกลือได้ตามปกติ เนื่องจากเกลือไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อความดันโลหิตในสตรีที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ นอกจากนี้การรับประทานอาหารเสริมพวกกรดโฟลิก แมกนีเซียม สารต้านอนุมูลอิสระ (วิตามินซี,อี) น้ำมันปลาก็ไม่มีผลในการช่วยรักษาภาวะความดันโลหิตสูงในสตรีครรภ์เป็นพิษ และ 7.ครรภ์เป็นพิษสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ถ้ามาฝากครรภ์สม่ำเสมอ เพราะแพทย์จะช่วยคัดกรองค้นหาความเสี่ยงได้ เช่น ซักประวัติ ตรวจครรภ์อัลตราซาวน์เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของทารก ตรวจการหดรัดตัวของมดลูก เมื่อพบความผิดปกติจะได้รีบรักษาโดยเร็วเพื่อช่วยลดความสูญเสีย
เมื่อทราบ 7 ข้อควรรู้ของภาวะครรภ์เป็นพิษนี้แล้วก็อย่าลืมนำไปสังเกตอาการเพื่อดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ลูกน้อยในครรภ์ หรือบุคคลใกล้ชิดที่ตั้งครรภ์ให้มีสุขภาพดีและปลอดภัยกันนะคะ
สรรหามาบอก
-โรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาบาลบีเอ็นเอช ร่วมกับทรูมูฟ เปิดแอพพลิเคชั่น "Samitivej Connect by TrueMove H” และ “BNH Connect by TrueMove H” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Connected Heath” ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับแอพพลิเคชั่นเชื่อมโยงสุขภาพ เพื่อดูแลผู้ป่วยผ่านเทคโนโลยี 3G+ ได้แก่ เป็นผู้ช่วยส่วนตัว Personalized Health Secretary มีทีมเจ้าหน้าที่รู้ใจตอบทุกคำถามเรื่องสุขภาพตลอด 24 ชั่วโมงตลอด 7วัน, โทรหาเพื่อนรู้ใจของคุณหรือคนที่คอยดูแลคุณ เช่น สามี ภรรยา หรือ ลูก,เตือนนัดหมายแพทย์และเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน รู้ตำแหน่งของคุณอย่างอัจฉริยะ ซึ่งจะเป็นสื่อกลางระหว่างคนไข้และแพทย์พยาบาล ใช้งานง่ายเพียงคลิกเดียว โดยออกแบบมาให้ใช้งานได้กับทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android สนใจสอบถาม 0-2711-8181
-ศูนย์เบาหวาน โรงพยาบาลหัวเฉียว ขอเชิญผู้ป่วยเบาหวาน ครอบครัว และผู้สนใจ เข้าร่วมฟังบรรยายให้ความรู้ เรื่อง “ยาช่วยจัดการเบาหวานได้อย่างไร” โดยทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคเบาหวาน ในวันอังคารที่ 9 เมษายน 2556 เวลา 8.30 - 10.30 น. ณ ศูนย์เบาหวาน โรงพยาบาลหัวเฉียว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2223-1351 ต่อ 3403
-เครือโรงพยาบาลพญาไท จัดกิจกรรม "เปิดใจ...สู่การเป็นผู้ให้" โดยการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรับบริจาคอุปกรณ์พยาบาลและเงินสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์และประสานข้อมูลส่งมอบให้ตรงกับความต้องการของผู้ที่มีความประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ ผู้ใจบุญแสดงความจำนงในการบริจาคได้ที่ โทร.1772