จัดระเบียบผับใหม่ เปิดถึงตี4 รับนักเที่ยว"เออีซี"

เล็งเลิกระบบโซนนิ่ง แต่ห้ามใกล้ร.ร.-ชุมชน คุมเข้มใบอนุญาตร้าน บช.น.เตรียมเสนอ"มท."



บช.น.เตรียมถกจัดโซนนิ่งสถานบริการใหม่ บังคับทุกร้านต้องมีใบอนุญาต หลังพบ 1,500 ร้านลักไก่เปิด พร้อมเล็งเพิ่มโทษ จำคุก 7-10 ปีกับพวกมั่วเปิด มั่นใจจดทะเบียนถูกต้อง รัฐบาลได้ประโยชน์จากเงินภาษีเต็มที่ มอบทุกบก.น.จัดโซนนิ่ง ขยายเวลาเปิดร้านในโซนนิ่งถึง 03.00 น. ส่วนร้านนอกพื้นที่ให้ไปทำประชาพิจารณ์กับชุมชน ชาวบ้านยอมก็เปิดได้ ถ้าไม่ต้องปิดสถานเดียว



เมื่อวันที่ 6 เม.ย. พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผบช.น. ในฐานะหัวหน้าชุดตรวจสอบการดำเนินการกิจการสถานบริการและสถานประกอบการ (ชตส.บช.น.) เปิดเผยกรณี พล.ต.ต.วรวิทย์ ลิปิพันธ์ รองผบช.สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ มีบันทึกข้อความเรื่อง การปรับปรุงโซนนิ่งของสถานบริการ ตามพ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. เพื่อแก้กฎหมายโซนนิ่งสถานบริการ ว่า ในส่วนของข้อกฎหมาย ข้อปฏิบัติต่างๆ คาดว่าภายในวันที่ 10 หรือ 11 เม.ย.นี้ จะประชุมที่กองบัญชาการตำรวจ นครบาล (บช.น.) โดยให้แต่ละกองบังคับการ (บก.) 1-9 เสนอโซนนิ่งในพื้นที่ เพื่อให้ทาง บช.น.พิจารณาว่ามีผลกระทบหรือไม่



"โดยต่อไปต้องทำให้อยู่ในโซนทั้งหมด การเปิดสถานบริการหรือสถานประกอบการ ถึงเวลา 03.00 น. สามารถทำได้ แต่ทุกร้านต้องมีใบอนุญาต อยู่ในโซน และอยู่ภายใต้การควบคุมของตำรวจในกรอบของกฎหมาย เพราะตอนนี้พวกที่ไปเปิดนอกโซนและไม่มีใบอนุญาตมีเกือบ 1,500 ร้านแล้ว ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีและอื่นๆ ปีละกว่าพันล้านบาท" พล.ต.ต.อดุลย์กล่าว



พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ที่อยู่นอกโซน เช่น ย่านทองหล่อ ก็มีการขออนุญาตเปิดให้ถูกต้องมาแล้ว โดยสถานบริการที่ขออนุญาตเจ้าหน้าที่จะดูความพร้อมทั้งหมดว่า ได้มาตรฐานมีความปลอดภัยและกระทบกับชุมชนหรือไม่ หากสถานบริการรายใดถูกร้องเรียนเข้ามา ทางสถานบริการนั้นต้องไปพูดคุยกับทางชุมชน และต้องทำประชาพิจารณ์จากคนในชุมชนว่าเปิดได้หรือไม่ อาจมีการตกลงกัน เช่น การดูแลเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง ป้ายบอกทาง หรือกล้องซีซีทีวี และต้องดูแลด้วยไม่ให้ไฟดับ หรือกล้องเสีย หากคนในชุมชนละแวกนั้นได้ประโยชน์ ทำประชาพิจารณ์ผ่านการยอมรับ เมื่อขอใบอนุญาตก็จะนำส่วนนี้มาประกอบในการพิจารณาด้วย แต่หากทำประชาพิจารณ์ในชุมชนแล้วไม่ผ่านก็ต้องปิดไป



รองผบช.น.กล่าวด้วยว่า ในต่างประเทศมีกฎหมายเรื่องสถานบริการค่อนข้างหนัก จับกุมดำเนินคดีจริงจัง แต่กฎหมายของเรายังถือว่าอ่อนจึงต้องปรับปรุง หากเปิดให้บริการแล้วไม่มีใบอนุญาตมีความผิดจำคุก 7-10 ปี ก็คงไม่มีใครกล้าเปิด ต่อไปจะวิ่งเข้ามาขอใบอนุญาต ต้องทำให้ถูกกฎหมาย รัฐบาลก็จะได้เงินจากค่าภาษีเพิ่มเติมด้วย ไม่ใช่เหมือนกับที่ผ่านมา หากประชุมเสร็จสิ้นเรียบร้อยมีความเห็นชอบได้ข้อสรุปชัดเจน จะทำเรื่องเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อเข้าคณะกรรมการกระทรวงมหาดไทยพิจารณา" รองผบช.น.กล่าว



พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีแนวคิดในการปรับโซนนิ่ง 2 แนวทาง คือ 1.ยกเลิกโซนนิ่งทั้งหมด คือ ฟรีโซน และกำหนดว่าจุดใดตั้งสถานบริการได้ หรือบางจุดใกล้โรงเรียน หรือชุมชนก็เปิดไม่ได้ เป็นต้น ส่วนนี้กฎหมายกำหนดอยู่แล้วแต่จะทำให้ครอบ คลุมมากขึ้น 2.การกำหนดโซนนิ่งใหม่ เพราะที่มี 3 โซน คือ รัชดาภิเษก เพชรบุรีตัดใหม่ (อาร์ซีเอ) และพัฒน์พงษ์ขณะนี้ใช้ไม่ได้แล้ว พวกในโซนมีไม่มาก



"สำหรับในโซนเหมือนเป็นเด็กดี ถูกจับก็ปิด 60 วัน จึงมีพวกไปเปิดนอกโซนมากขึ้นหรือมีใบอนุญาต แต่ก็ไม่ยอมมาต่ออีก บางครั้งมีการจับถูกปรับ 8,000, 6,000 หรือ 3,000 บาท ส่วนโทษจำคุกรอลงอาญา 1 เดือน วันนี้จับ นาย ก. เป็นผู้จัดการ พรุ่งนี้เปลี่ยนเป็นนาย ข. แทนแล้ว ไม่กลัวเพราะขายได้วันละเป็นแสนบาท"



พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวอีกว่า จึงเป็นปัญหาที่ไล่เรียงมาจากชุดปฏิบัติการ หัวหน้าสถานี และผู้ประกอบการ ต้องเอามาให้อยู่ในกรอบเพื่อควบคุมได้ทั้งหมด บางรายไม่มาต่อใบอนุญาต ในร่างกฎหมายใหม่นี้พวกไม่ต่อใบอนุญาตและไม่มีใบอนุญาต จะมีโทษจำคุก 7-10 ปี ตอนนี้มีการร่างกฎหมายขึ้นมาแล้ว เบื้องต้นทางกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบ หากเห็นชอบตามขั้นตอนหรือเป็นทางการ ต่อไปจะผลักดันเข้า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อเสนอให้มีการดำเนินการเป็นกฎหมาย หลังจากนี้พวกที่จะมาเป็นตัวแทนต้องติดคุกจริง 7 ปี ต่อไปก็ไม่มีใครกล้าเปิด คาดว่าปี 2557 ก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะออกกฎหมายได้ ขณะนี้พร้อมแล้ว เพราะแก้ไม่กี่มาตรา" รองผบช.น.กล่าว



"สำหรับเรื่องเวลาเป็นประเด็นที่มีการพูดคุย เพราะผู้มาใช้บริการอาจมา 23.00-24.00 น. แต่พอเวลา 01.00 น. ก็ปิดแล้ว ทำให้เที่ยวไม่เต็มที่ เลยมีแนวคิดว่าหากอยู่นอกโซน ไม่กระทบชาวบ้านอาจเปิดได้ถึงเวลา 03.00-04.00 น. เพื่อรองรับอาเซียน และชาวต่างชาติก็มาเที่ยวได้ แต่ต้องกวดขันเรื่องยาเสพติด อาวุธปืน และเยาวชนให้ชัดเจน เพราะปัจจุบันปิดเวลาประมาณ 02.00 น." รอง ผบช.น.กล่าว



รองผบช.น.กล่าวด้วยว่า อีกประเด็นคือ สถานบริการที่มี 5 วงเล็บ บางประเภทเปิดได้ถึงเวลา 24.00 หรือ 01.00 น. หรือ 02.00 น. แต่บางประเภทเปิดได้ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ก็ควรต้องปรับให้เหมือนกัน ต้องนำเสนอให้มีเหตุผลเพื่อให้เกิดความชัดเจน ขั้นตอนหลังจากนี้คงใช้เวลาไม่นานมาก ทำงานร่วมกันมาตลอด ต่อไปจำคุก 7-10 ปี ในข้อหาเปิดสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ไม่มีใครกล้า แต่หากปรับไม่กี่พันบาทก็ยังเปิดเหมือนเดิม จำต้องแก้ไขในส่วนนี้ ต่อไปผู้จัดการ เจ้าของ หรือกรรมการผู้จัดการก็จะโดนด้วย ในส่วนนี้ต้องแก้ปัญหา



พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวอีกว่า หลังจากขั้นตอนแรกสำรวจแล้ว ขั้นตอนที่ 2 คือ ปรับโซนนิ่ง แก้กฎหมาย และขั้นต่อไปในปีหน้าจะให้เป็นสถานบริการสีขาว กำหนดดาวให้ ปลอดยาเสพติด อาวุธปืน นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาเที่ยวจะได้สบายใจ



เมื่อถามว่า การเพิ่มเวลาในการให้บริการมากขึ้น อาจมีคนต่อต้านว่าทำให้คนดื่มแอลกอฮอล์กันมากขึ้น พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวว่า ส่วนนี้หากกฎหมายผ่านแล้ว ก็ถือว่าเป็นไปตามประชาธิปไตย เพราะทำถูกต้องตามขั้นตอนหากมีการอนุมัติ อย่างไรก็ตามตำรวจก็ยังคงกวดขันในเรื่องเมาไม่ขับ ยังคงแนะนำว่าผู้จะมาใช้สถานบริการต่างๆ แล้วดื่มแอลกอฮอล์ก็แนะนำว่าไม่สมควรขับรถอยู่แล้ว เพราะผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะขยายเวลาให้บริการเพิ่มเติมหรือไม่ก็ตาม



ผู้สื่อข่าวถามว่า อาจมีตำรวจบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการทำสถานบริการให้ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด เพราะเสียประโยชน์ พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องยอมรับ เหมือนกับหวยใต้ดินที่เอามาอยู่บนดิน เงินภาษีที่ได้นอกจากเข้ารัฐแล้วก็ถือว่านำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ อาจได้น้อยลงก็ต้องยอมรับ เพราะการทำให้ถูกต้องตามกฎหมายถือว่าดีที่สุดแล้ว

 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...