ความลับใน "โทรศัพท์" "ลบ" อย่างไรก็ไม่หาย

โทรศัพท์มือถือในเวลานี้คุณภาพสูงขึ้น ในขณะที่ราคาถูกลง แถมรุ่นใหม่ๆ ที่ออกมายังมี "ลูกเล่น" ยั่วตายวนใจมากมายอีกด้วย ผลก็คือ หลายๆ คนเปลี่ยนโทรศัพท์เป็นว่าเล่น คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เราทำอะไรกับโทรศัพท์ที่เรานำไปเปลี่ยนเป็นเครื่องใหม่มา


หรือจะให้ตรงเป้ามากกว่านั้นก็คือ เราทำอะไรกับ "ข้อมูล" มากมายมหาศาลทั้งที่เป็นรูป เป็นไฟล์ เป็นโฟลเดอร์ และข้อมูลส่วนตัวอีกเป็นกระตั้กที่อยู่ในโทรศัพท์เครื่องเก่าของเรา

โทรศัพท์ในเวลานี้เป็นหลายๆ อย่างของเรา นอกเหนือจากโทรศัพท์ประจำตัว มันไม่เพียงเก็บข้อมูลว่าเราโทร.ติดต่อกับใครบ้าง มีใครอยู่ในรายชื่อติดต่อบ้างเท่านั้น มันยังเป็น กล้องถ่ายรูป กล้องวิดีโอ เป็นอุปกรณ์ทำธุรกรรมทางการเงิน เป็น "ผู้ช่วยส่วนตัว" ที่เราบันทึกอะไรต่อมิอะไรเอาไว้มากมาย เช่นเดียวกันกับการทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์หลักในการรับ-ส่งและอ่านเมล์ส่วนใหญ่ของเรา

เราเลิกใช้มันแล้วเราจะทำอะไรกับข้อมูลเหล่านี้? คำตอบโดยทั่วๆ ไปก็คือ ลบข้อมูลเหล่านั้นทิ้งให้หมด ทำให้โทรศัพท์อยู่ในสภาพเหมือนออกมาจากโรงงานใหม่ๆ อย่างที่เรียกกันทั่วไปว่า "แฟคตอรี่ รีเซต" แล้วเราก็วางใจว่าทุกอย่างสูญหายไปจากโลกนี้ไปแล้ว

ปัญหาก็คือ แม้จะทำทุกอย่างถูกต้องอย่างที่ว่านั้นแล้ว ข้อมูลส่วนตัวของเรายังหลงเหลืออยู่ในเครื่องมากมายไม่น้อยเลยทีเดียว

ลี รีเบอร์ ผู้บริหารของ "แอคเซสส์ เดตา" บริษัทผู้เชี่ยวชาญในด้าน "ชันสูตรมือถือ-โมบาย ฟอเรนสิคส์" ที่ให้บริการกู้คืนข้อมูลและขายซอฟต์แวร์สำหรับการกู้คืนข้อมูล เคยทดลองสุ่มเลือกโทรศัพท์หลายๆ เครื่อง หลายแบบมาทดสอบให้ดูกันว่า สุดท้ายแล้วเขายังมีข้อมูลมากมายแค่ไหนเกี่ยวกับเจ้าของเครื่อง

เพื่อพิสูจน์ครั้งนี้ รีเบอร์ได้ไอโฟน 3จีเอส มา 2 เครื่อง, โมโตโรลลาดรอยด์ 2 เครื่อง, แอลจี แดร์กับ แอลจี ออพติมัสอีกอย่างละเครื่อง ขอให้เจ้าของเครื่องทำ"แฟคตอรี่ รีเซต" ให้เสร็จสรรพแล้วค่อยส่งมาถึงมือรีเบอร์

หลังผ่านกระบวนการกู้คืนข้อมูลตามแบบฉบับ ซึ่งไม่ว่าผู้ประสงค์ดีหรือประสงค์ร้ายก็สามารถทำได้ ผลลัพธ์ที่ได้น่าสนใจอย่างยิ่ง

จากโมโตโรลลา 2 เครื่อง ข้อมูลเป็นจำนวนมากยังสามารถกู้คืนมาได้จาก "บิลท์ อิน เม็มโมรี่" เครื่องหนึ่งมีเอสดีการ์ด ลืมทิ้งเอาไว้ด้วย ข้อมูลถูกลบ แต่ยังไม่มีการฟอร์แมต รีเบอร์สามารถค้นพบทั้งข้อมูลอีเมล์ รูปภาพ และข้อมูลเอกสาร ภาพถ่ายนั้นมีข้อมูลที่เรียกว่า "เมตา เดตา" ที่รวมถึงวัน, เวลา และสถานที่ที่ถ่ายภาพดังกล่าวอยู่ด้วย รีเบอร์บอกว่า ข้อมูลทั้งหมดมีมากพอที่จะช่วยบ่งชี้ตัวผู้เป็นเจ้าของโทรศัพท์ได้อย่างง่ายดาย เช่นเดียวกันกับถ้าหากมีอีเมล์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ อาทิ ไฟล์พีดีเอฟที่เป็นสเตตเมนต์ของธนาคารก็สามารถกู้คืนมาได้เช่นเดียวกัน

สภาพของไอโฟน 3จี ที่ใช้ไอโอเอส ทั้ง 2 เครื่องก็แทบไม่ต่างกัน ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เป็นเจ้าของจำนวนมาก ถูกกู้คืนมาได้เพราะมันยังไม่ได้ถูกเขียนทับ หมายเลขโทรศัพท์หลายร้อยหมายเลขยังคงพบเห็นได้ในคอนแทค ดาตาเบส ระบบ "โลเคชั่น ดาตา แทรคกิ้ง" (ที่เคยมีปัญหาจนต้องเปลี่ยนไปในที่สุด) ของไอโฟน ทำให้รีเบอร์ พบข้อมูลของ ไว-ไฟ ฮอตสปอต 68,390 จุดยังเก็บอยู่ในเครื่อง เช่นเดียวกับเซลไซต์อีก 61,202 จุด เมื่อนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียดจะสามารถบอกได้เลยว่า โทรศัพท์เครื่องนี้ไปไหนมาบ้าง รีเบอร์บอกว่า เขาพบว่ามีการใช้งานในท่าอากาศยานหลายแห่ง และโทรศัพท์เครื่องหนึ่ง "เดินทาง" มาสหรัฐอเมริกา เพราะมีหลายเซลไซต์ อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

เมื่อข้อเท็จจริง ผู้เป็นเจ้าของไม่เคยไปในย่านนั้นมาก่อน รีเบอร์สรุปชัดเจนว่า ไอโฟนเครื่องนั้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็เม็มโมรี่ของมันเคยถูกใช้อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน แล้วได้ถูก "ยกเครื่อง" ใหม่มาขายในสหรัฐอเมริกา

แอลจี แดร์ ที่เป็น "ฟังก์ชั่น โฟน" และไม่น่าจะมีอะไรหลงเหลืออยู่มากมาย กลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด เพราะรีเบอร์ได้ทั้ง เท็กซ์ แมสเสจ, อีเมล์ และเว็บไซต์ที่เคยเข้า เช่นเดียวกับข้อมูลบางส่วนที่อธิบายถึงรูปภาพที่ใช้กล้องถ่าย บวกด้วยข้อมูลส่วนตัวที่มากพอที่จะบอกได้ว่า ชื่อนามสกุลของผู้เป็นเจ้าของคือใคร

แต่ แอลจี ออพติมัส กลับเป็นสมาร์ทโฟน ที่หลงเหลือข้อมูลน้อยที่สุด หลังการ "แฟคตอรี่ รีเซต" แล้ว

กระนั้นเมื่อถามว่า มีวิธีไหนรักษาความลับของข้อมูลได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ลี รีเบอร์บอกว่า การเขียนข้อมูลทับ พอช่วยได้ แต่ไม่มากมายอย่างที่คิดกัน

ถ้าจะเอาแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็คือ เก็บมันไว้กับตัว หรือไม่ก็เอาค้อนทุบเท่านั้นเอง!

 


 

7 เม.ย. 56 เวลา 17:23 3,202 1 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...