วิวัฒนาการรถถังของกองทัพบกไทย

 

รถถังเป็นยานพาหนะต่อสู้หุ้มเกราะ ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการรบในแนวหน้า ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างอำนาจการยิง ความคล่องตัว และการป้องกัน โดยปกติแล้วจะแบ่งตามน้ำหนักและประเภทการใช้งานเช่น 

เกณฑ์ขององค์กรสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ"Southeast Asia Treaty Organization: SEATO" (องค์กรถูกยกเลิกไปนานแล้ว) ซึ่งเกณฑ์นี้ในปัจจุบันยังมีหลายประเทศที่ใช้อยู่ โดยจะแบ่งได้ดังนี้

1.รถถังที่ใช้ในการรบโดยตรง แบ่งตามน้ำหนัก
- รถถังเบา หนักระหว่าง 10-25 ตัน
- รถถังกลาง น้ำหนักระหว่าง 26-56 ตัน
- รถถังหนัก น้ำหนัก 56 ตัน ขึ้นไป

2.รถถังใช้ในจุดประสงค์พิเศษ (Special purpose tank ) เช่น
- รถถังพ่นไฟ (Flame-thrower tank )
- รถถังติดจรวด หรือขีปนาวุธ (Rocket or Missile tank )
- รถถังทับทุ่นระเบิด (Mine exploder tank/ Mine roller tank)
- รถถังทอดสะพาน (Bridge layer tank)
- รถถังติดใบมีดถากถาง (Tank Dozer)

เกณฑ์ของกลุ่มสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติคเหนือ(NATO )
แบ่งยานเกราะออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามลักษณะภารกิจ หรือการใช้งาน เช่น
• รถถังหลัก (Main Battle Tank: MBT) หรือ รถถังที่หลักที่เป็นหัวหอกในการรบ องค์ประกอบที่สำคัญคือ อำนาจการยิง(ความแม่นยำ อำนาจการทำลาย ความรวดเร็วในการใช้อาวุธ) ความคล่องตัว และการป้องกันตนเอง(เกราะ)

• รถถังลาดตระเวน หรือ รถถังเบา (Reconnaissance Vehicle(Track)/Light tank) ได้แก่ รถถังที่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ออกแบบมาเพื่อใช้ในภารกิจลาดตระเวนเป็นหลัก

• รถหุ้มเกราะลำเลียงพลและรถหุ้มเกราะโจมตี (Armored Personnel Carrier/Armored
Cavalry Assault Vehicle:APC/ACAV)

• รถถังช่วยรบ (Combat Support tank) ได้แก่ รถถังที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในภารกิจพิเศษต่าง
ๆ เช่น
- รถถังบังคับการ (Command tank)
- รถถังกู้ซ่อม (Armoured recovery vehicle: ARV))
- รถถังวางสะพาน (Bridge layer tank)
- รถถังกวาดทุ่นระเบิด (Mine sweeper tank)
- รถถังพยาบาล (Ambulance tank)
- รถถังที่ใช้ในภารกิจทหารช่าง (Engineer tank)

 

1.รถถังแบบ 73 (Light Tank, Carden Loyd Mark VI)

 

ปี 2473 (ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 2 ปี )ซื้อรถถังเบา "Carden Loyd Mark VI" จากอังกฤษ จำนวน 10 คัน เป็นรถถังเบาขนาดจิ๋ว หนักเพียง 1.5 ตัน ติดปืนกล .30 นิ้ว 1 กระบอก พลประจำรถ 2 นาย มีชื่อเล่นว่า"ไอ้แอ๊ด"

 

****************************************

2.รถถังลอยน้ำแบบ 76 (Light Amphibious Tank,A4 E12)


ปี 2476 ซื้อรถถังประเภทสะเทินน้ำสะเทินบกขนาดเบา "Carden Loyd (M 1931) A4 E12" จำนวน 2 คัน จากอังกฤษ หนักเพียง 2.8 ตัน ติดปืนกลขนาด .30 นิ้ว จำนวน 1 กระบอก พลประจำรถ 2 นาย

 

**************************************

3.รถถังแบบ 76 (Light Tank,Carden Loyd Mark E)

 

ปี 2476 (ปีเดียวกับที่สั่งซื้อรถถังลอยน้ำ) ซื้อรถถังเบา“Carden Loyd Mark E" จำนวน 10 คัน จากอังกฤษ มีน้ำหนัก 6.7 ตัน ติดปืนใหญ่ขนาด 47 มม. 1 กระบอก, ปืนกลขนาด 7.7 มม. 1 กระบอก, พลประจำรถ 3 นาย

 

***************************************

4.รถถังแบบ 77

(Light Tank, Carden Loyd Mark VI, Modifird)


ปี 2477 ซื้อรถถังเบา"Carden Loyd Mark Vl, Modified" จำนวน 30 คัน จากอังกฤษ เป็นรุ่นปรับปรุงจากแบบ 73 ใช้เครื่องยนต์เดียวกัน แต่ดัดแปลงส่วนประกอบบางชิ้น มองภายนอกแทบแยกไม่ออกว่าคันไหนเป็นคันไหน

 

**************************************

5.รถถังแบบ 81 (Light Tank, Vickers 6 tons, Type B)


เว้นไปอีก 4 ปี ในปี 2481 ซื้อรถถังเบา"Vickers type B" จำนวน 12 คัน แต่ได้มาเพียง 8 คัน จากอังกฤษ มีน้ำหนัก 7.4 ตัน ติดปืนใหญ่ขนาด 47 มม. รถถังรุ่นนี้จะคล้ายกับ"รถถังแบบ 76" แต่มีน้ำหนักมากกว่า ใช้เครื่องยนต์เดียวกัน แต่ถูกปรับปรุงให้มีกำลังสูงขึ้น

 

****************************************

6.รถถังแบบ 83 (Light Tank, Type 95, HA -GO)


ปี 2483 (สงครามอินโดจีน) ซื้อรถถังเบา"Type 95" เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า "ฮาโก้" (HA-GO) จำนวน 50 คัน จากญี่ปุ่น มีน้ำหนัก 7.5 ตัน ติดปืนใหญ่ 37 มม., ปืนกลขนาด 8 มม. 2 กระบอก

 

****************************************

7.รถถังเบาแบบ M-24 (Light Tank, M-24 , Chaffee)

 

ปี 2488-2495 (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง 7 ปี) ได้รับรถถังเบาแบบ"M 24, Chaffee" จากโครงการช่วยเหลือทางการทหาร (Military Assistance Program) จากสหรัฐฯ จำนวนไม่ทราบแน่ชัด มีน้ำหนัก 20 ตัน ติดปืนใหญ่ขนาด 75 มม., ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด .50นิ้ว 1 กระบอก, ปืนกลร่วมแกน .30 นิ้ว 1 กระบอก, ปืนกลหน้า .30 นิ้ว 1 กระบอก, พลประจำรถ 5 นาย

 

***************************************

8.รถถังเบาแบบ M-41

(Light Tank, M-41, Walker Bulldog)


ปีพ.ศ. 2505 ได้รับรถถังเบาแบบ"M-41 Walker Bulldog" จากโครงการช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐฯ M-41 นี้อยู่คู่กับกองทัพบกไทยมาเกือบ 50 ปีสร้างชื่อในสงครามเกาหลี M-41 ได้รับการจัดหาจากกองทัพบกไทยจำนวนรวม 200 คนในช่วงสงครามเย็นที่เรามีปัญหากับเวียดนาม เนื่องจากมันมีขนาดเล็กพอดี แต่มีประสิทธิภาพในการรบที่สูง รถถัง M-41มีการดัดแปลงเพิ่มเติมทำให้แตกออกเป็นหลายรุ่น ตั้งแต่ M-41 A1 ถึง A3 โดยรุ่น M-41 A3 นั้น มีน้ำหนัก 25.5 ตัน, ปืนใหญ่ขนาด 76 mm., ปตอ. .50นิ้ว 1 กระบอก, ปืนรวมแกน .30 นิ้ว 1 กระบอก แต่ข้อเสียของ M-41 คือมันเป็นเครื่องยนต์เบนซินกินน้ำมันและเสียงดังมาก


หมายเหตุ: M-41 เดิมใช้ชื่อเล่นว่า Little Bulldog ต่อมานายพลของสหรัฐฯท่านหนึ่งคือ General Walton Harris Walker ซึ่งไปทำการรบในสงครามเกาหลีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จึงเปลี่ยนมาเป็น Walker bulldog

 

*****************************************

9.รถถังเบาแบบ 21 (Light Tank, FV 101, Scorpion)


ปีพ.ศ. 2521 รถถังเบาในตระกูล“Scorpion”ของอังกฤษนั้นมีทั้งหมด 7 แบบ แต่ที่สั่งซื้อมีเพียง 3 แบบ คือ "Scorpion (FV 101), Sultan (FV 105), และ Samson (FV 106)" โดยทั้ง 3 แบบ คล้ายคลึงกันมาก ใช้ตัวถัง (Hull) ใช้แคร่รถ (Chassis) และเครื่องยนต์ เหมือนกัน และได้มีการอนุมัติให้เรียกชื่อดังนี้

FV 101 เรียกว่า “รถถังเบา ๒๑" (Light Tank Scorpion, FV 101) คำย่อ “ ถ.เบา ๒๑”
มีน้ำหนัก 7.9 ตัน, ปืนใหญ่ 76 มม., ปืนกลขนาด 7.62มม. 1 กระบอก, พลประจำรถ 3 นาย

FV 105 เรียกว่า “รถถังเบา ๒๑ (บังคับการ)" (Command tank sultan, FV 105) คำย่อ “ ถ.เบา

๒๑(บก.) มีน้ำหนัก 8.6 ตัน, ปืนใหญ่ 76 มม., ปืนกลขนาด 7.62มม. 1 กระบอก, พลประจำรถ 5-6 นาย


FV 106 เรียกว่า “รถถังเบา ๒๑ (กู้ซ่อม)” (Recovery tank, Samson FV 106) คำย่อ “ถ.เบา

๒๑ (กู้ซ่อม)” มีน้ำหนัก 8.7 ตัน, ปืนกลขนาด 7.62มม. 1 กระบอก, พลประจำรถ 3 นาย

ที่จริงแล้วเค้าจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของรถประเภท "รถรบลาดตระเวนสายพาน" หรือ Combat Vihicle Reconnaissance (Tracked) : (CVR (T)) ไทยมีประจำการประมาณ 150 คัน

 

*****************************************

10.รถถังหลักแบบ M-48 A5 (Main Battle Tank)

 

ปีพ.ศ. 2522 เนื่องด้วยมีภัยคุกคามจาก T-54 และ T-55 จากทางชายแดนทางตะวันออก ซึ่งผลิตโดยสหภาพโซเวียต ซึ่งรถถังทั้งสองแบบนี้ใช้ปืนขนาด 100 มม. ทำให้ต้องจัดหา"M-48 A5" โดยกองทัพบกจัดซื้อเข้าประจำการ โดยงวดแรกจัดหามา 50 คัน มีความแม่นยำสูง โดยมีอัตราการยิงถูกในนัดแรกสูงที่สุดในสมัยนั้น ติดปืนใหญ่ขนาด 105 มม., ปืนกลขนาด 7.62มม. 2 กระบอก พลประจำรถ 4 นาย โดยเป็นรถถังที่ดัดแปลงมาจากรถถัง 2 แบบคือ ใช้ตัวรถหรือแค่รถ(Chassis)ของ M-48 A3 แต่ใช้ป้อมปืนของ M-60 เมื่อรวมสองอย่างเข้าด้วยกันแล้วจึงกลายเป็น"M-48 A5" ไทยมีประจำการ 105 คัน

 

****************************************

11.รถถังหลักแบบ 30 (Main Batlle Tank , T 69-II)

 

ปีพ.ศ. 2530 จัดหา Type-69 II จากประเทศจีนในช่วงที่ภัยคุกคามจากเวียดนามพุ่งขึ้นสูง ช่วงนั้นเราเปิดสัมพันธทางการฑูตกับจีน และขอให้หยุดสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(เวียดนามตอนนั้นเป็นสายให้โซเวียต) ประกอบกับเราต้องการจัดซื้อรถถังอย่างเร่งด่วนที่สุดเราจึงขอซื้อรถถัง Type-69 II มาจากจีน จีนก็ขายให้ในราคาแสนถูก (ประมาณ 5% - 10% ของราครจริง) แต่เป็นรถถังที่เคยประจำการในจีนมาบ้างแล้ว ซึ่งการที่เราได้รับสุดยอดรถถังในกองทัพปลดปล่อยในขณะนั้นก็ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในการเป็นพันธมิตรระหว่างไทยและจีน โดยงวดแรกจัดหามาจำนวน 30 คัน ติดปืนใหญ่ 100 มม., ปืนกลร่วมแกนขนาด 7.62 มม. 1 กระบอก, ปตอ.ขนาด 12.7 มม. 1 กระบอก

 

****************************************

12.รถถังเบาแบบ 32 หรือ

รถถังเบาแบบ Commando Stimgray (Light Tank)


ปีพ.ศ. 2532 ได้จัดหารถถังเบาแบบ Commando stimgray (กระเบนธงโจมตี) รถถังชนิดนี้มีประจำการที่ประเทศไทยประเทศเดียว (แม้แต่อเมริกาผู้ผลิตก็ไม่ได้ประจำการ) เพราะบริษัทผู้ผลิตประสบความสำเร็จในการขายให้เราแค่ประเทศเดียว 100 กว่าคัน ซึ่งนับว่าเป็นรถถังใหม่ที่มีระบบควบคุมการยิงที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น ผลิตโดยสหรัฐฯ มีน้ำหนัก 21 ตัน, ติดปืนใหญ่ 105 มม., ปืนร่วมแกน 7.62 มม. 1 กระบอก, ปตอ.ขนาด 12.7 มม. 1 กระบอก, พลประจำรถ 4 นาย

 

*****************************************

13.รถถังหลักแบบ M-61 A1 (Main Batlle Tank)


ปีพ.ศ. 2534 ได้จัดหา M-60 A1 จากสหรัฐฯ เป็นรถถังขนาดกลาง หรือรถถังหลัก ที่มีเกราะหนา ตัวรถและป้อมปืนสร้างด้วยเหล็กกล้า ให้มีทรวดทรงและมุมที่ลาดเอียงเพื่อป้องกันกระสุนปืนได้ี มีน้ำหนัก 51.4 ตัน, ติดปืนใหญ่ 105 มม., ปืนร่วมแกนขนาด 7.62มม. 1 กระบอก, ปตอ.ขนาด 12.7 มม. 1 กระบอก, เครื่องยิงระเบิดควันขนาด 66 มม. 2 ชุด, มีเครื่องรักษาการทรงตัวของปืนแบบ 2 แกน, มีเครื่องช่วยการมองกลางคืน, กล้องเล็งและตรวจการณ์แบบ PASSIVE, มีระบบป้องกันนิวเคลียร์ชีวะเคมี, พลประจำรถ 4 นาย

 

****************************************

14.รถถังหลักแบบ M-60 A3 (Main Battle Tank)

 

ปีพ.ศ. 2539 จัดหารถถังหลักแบบ M-60 A3 เป็นมือสองจากสหรัฐฯ ผู้รู้หลายท่านทั้งในและต่างประเทศให้ความเห็นว่า M-60 เหมาะสมที่สุดในภูมิประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีดินค่อนข้างอ่อน ถ้าใช้รถถังหนักๆและมีแรงกดต่อพื้นที่มากๆมีหวังติดหล่มแน่ๆ ทำให้ขาดความคล่องตังไปเยอะ โดย M-60 A3จะพิเศษกว่าตัว A1 ก็ตรงที่มันมี Tank Thermal Sight (TTS) น้ำหนัก 52.6 ตัน, ติดปืนใหญ่ 105 มม., ปืนร่วมแกนขนาด 7.62 มม. 1 กระบอก, ปตอ. .50 นิ้ว 1 กระบอก, ติดเครื่องควบคุมการยิงที่ทันสมัย เช่น ปลอกรักษาอุณหภูมิ ของลำกล้องปืนใหญ่, เครื่องวัดความเร็วของลมทางข้าง,เครื่องวัดอุณหภูมิ และความกดอากาศ, เครื่องวัดระยะด้วยแสงเลเซอร์, เครื่องคำนวณขีปนวิถี เป็นแบบ SOLID STATE ANALOG เอ็ม 21, กล้องเล็งของพลยิงเป็นชุดกล้องเล็งที่สามารถใช้ได้ทั้งกลางวันและกลางคืนแบบตรวจจับภาพรังสีความร้อน (TTS)Tank Thermal Sight

 

*****************************************

15.รถถังหลักแบบ T-84 Oplot-M (Main Batlle Tank)

 

ปีพ.ศ. 2554 จัดซื้อ T-84 Oplot-M จำนวน 49 คัน เพื่อแทนรถถังเก่า M-41 A3, วงเงิน 7,155ล้านบาท (230.8ล้าน$ หรือ 4.71ล้าน$/คัน) ติดปืนใหญ่ขนาด 125 มม., ปืนร่วมแกนขนาด 7.62มม. 1 กระบอก, ปตอ. 12.7 มม. 1 กระบอก, น้ำหนัก 46 ตัน, พลประจำรถ 3 นาย

 

อ้างอิง: 
1. ย่อความมาจาก วิวัฒนาการ “รถถัง” ของ ทบ.ไทย พ.อ.อภิชาต สีสมมน
2. http://www.thaindc.org/index.php?option=com_content&view=article&id=749:2010-01-06-03-43-12&catid=44:2008-10-25-11-14-11&Itemid=58
3. http://en.wikipedia.org
4. http://www.militaryimages.net

 

 

รถถังไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่ใครๆคิดเสมอไป เมื่อเข้าประจำสถานีรบในลักษณะปิดป้อมแล้วนั้น การตรวจการณ์ของพลประจำรถก็จะกระทำได้อย่างจำกัด ซึ่ง ผบ.รถจะสำรวจความเป็นไปของสถาการณ์ภายนอกจากป้อม Cupola ที่หมุนได้รอบตัวเท่านั้น ทัศนวิสัยของพลขับก็จำกัดด้วยเช่นกัน การพึ่ง Sensor ตรวจจับต่างๆอย่างระบบสร้างภาพด้วยความร้อน ระบบตรวจจับการถูกเล็งด้วย Laser เป็นต้น ซึ่งจุดอ่อนหลักของรถถังก็มี 3จุดใหญ่ด้วยกันคือ สายพาน ถ้าขาดก็เคลื่อนที่ไม่ได้ ข้อต่อระหว่างป้อมปืนและตัวถัง และเครื่องยนตร์ ซึ่งมักจะอยู่ที่ด้านหลังและมีเกราะบางที่สุด ในการรบที่อิรักปัจจุบันนั้นมี ถ.M1A2 ABRAMS หลายคันถูกทำลายโดยวิถีง่ายจากกลุ่มต่อต้านที่สามารถใช้กำลังขนาดเล็กเล็ดลอดเข้าไปโจมตีได้ เช่น วางระเบิดดักรถถัง ถูก RPG ยิงอัดเครื่องยนตร์ด้านหลัง ไปจนถึงระเบิดเพลิงขวดประดิษฐ์เอง Molotov cocktail รุมเผาด้วย ซึ่งถ้าเกิดไฟไหม้รถแล้วระบบดับเพลิงภายในตัวเกิดพึ่งไม่ก็ต้องหนีก่อนที่ไฟจะลามไปโดนกระสุนระเบิด ไม่งั้นก็เตรียมถูกฌาปนกิจหมู่

 

นี่เป็นส่วนหนึ่งยังมีรถถังอีกหลายแบบที่ยังไม่ได้นำมาให้ชมค่ะ

 

****************************************

Credit: http://www.bloggang.com/
6 เม.ย. 56 เวลา 16:31 10,692 1 80
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...