ประท้วงรัฐ! แพทย์ชนบทลาออกรายวัน ค้านลดเบี้ยทุรกันดาร

หมอ แห่ไขก๊อกต้าน P4P! (ไทยโพสต์)

          สธ. เดินหน้าปรับลดเบี้ยทุรกันดาร ทำแพทย์ชนบททยอยลาออกรายวันไปอยู่ รพ.เอกชน เพียบ อีกไม่นานประชาชนเดือดร้อนแน่ เพราะไม่มีหมอ ด้านแพทย์ดีเด่น อัด รมต. ดูถูกวิชาชีพ ซัดหมอไม่ใช่พนักงานขายทำยอดรักษา

          ความเคลื่อนไหวคัดค้านการจ่ายเงินค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือพีฟอร์พี ล่าสุดกลุ่มแพทย์ชนบทได้ทยอยลาออกรายวันเพื่อประท้วงกฎเกณฑ์ใหม่ดังกล่าว 

          โดยเมื่อวันที่ 5 เมษายน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่าขณะ นี้มีแพทย์ลาออกระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-ต้นเมษายน 2556 รวมทั้งหมด 151 รายแล้ว ล่าสุดคือแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูก 1 คน แพทย์แผนก หู คอ จมูก 1 คน รพ.บางบัวทอง ลาออกเพื่อไปอยู่ที่ รพ.เอกชน และแพทย์จบใหม่จากทุนของ รพ.บางบัวทองตัดสินใจลาออกเพื่อไปศึกษาเพิ่มเติม และเมื่อจบกลับมาจะได้อยู่ รพ.เอกชนต่อไป แต่ตัวเลขทั้งหมดนี้ยังไม่ถึงสธ. (สธ.) ส่วนตัวเลขที่ รมว.สธ.แถลงนั้น เป็นตัวเลขของการลาออกเมื่อถึงเดือน ธ.ค.2555 ก่อนการจัดสรรแพทย์ปี 2556
 
          นพ.อารักษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากการสอบถามแพทย์ที่ลาออก ส่วน ใหญ่มีสาเหตุมาจากการปรับระเบียบค่าตอบแทนจากแบบเหมาจ่ายมาเป็นจ่ายแบบพี ฟอร์พีเกือบทั้งหมด แต่เนื่องจากแพทย์บางคนไม่อยากจะเปิดเผยตัวให้มีปัญหา แต่บางคนก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าลาออกไปอยู่ที่ รพ.เอกชน เนื่องจากการปรับระเบียบดังกล่าว และ เชื่อว่าต่อจากนี้จะมีแพทย์ทยอยลาออกเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดความปั่นป่วน เนื่องจากตอนนี้ สธ.จัดสรรแพทย์ปี 1 ไปหมดแล้ว โดยใช้ตัวเลขแพทย์ที่ลาออก ย้ายไปศึกษาต่อเมื่อเดือน ธ.ค.2555 เพราะฉะนั้นคิดว่าวันนี้ประชาชนเดือดร้อนแน่นอน

          "คิดว่าวันนี้ประชาชนเดือดร้อนแน่นอน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้ว่าจะมีหมอ 3 คน เหลือ 2 หมอ 4 คน เหลือ 2 เป็นต้น จึงกลายเป็นว่าคนไข้เดือดร้อนแน่นอน และจะออกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อออกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ไม่รู้จะเอาหมอที่ไหนมาแทนแล้ว หมอที่มีอยู่ก็รับภาระเพิ่มๆ แต่เพิ่มขึ้น แล้วทำไม่ไหว ก็ต้องหยุด สภาพตอนนี้โกลาหลมาก มีการขึ้นป้ายกันทั่วประเทศ ออกแถลงการณ์เป็นรายวันเลย" นพ.อารักษ์ กล่าว และว่า ตามระเบียบขั้นตอนแล้ว คาดว่าการลาออกของแพทย์เหล่านี้น่าจะมีผลในอีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้า
    
          นพ.อารักษ์ กล่าวว่า เราพยายามบอกว่าใน รพ.ชุมชนไม่เหมาะกับการใช้พีฟอร์พี ล่าสุดพยาบาลที่ทำงานใน รพ.ชุมชนเริ่มรู้ตัวว่าถูก สธ.โกหกว่าจะได้เงินเพิ่มจากระเบียบพีฟอร์พี เพราะเงินที่จะได้เพิ่มจากการทำตามระเบียบดังกล่าวจะได้เพิ่มเพียงแค่ 50-100 บาท เช่นที่ รพ.ของตนมีพยาบาลประมาณ 70 คน เงินเดือนรวมประมาณ 4 แสนบาท อัตราเดิมจ่ายตามเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแล้วเอา 1% ของค่าแรงมาทำพีฟอร์พี 4 แสนของเงินเดือน 1% เท่ากับ 4,000 บาท ในจำนวน 4,000 บาทนี้ พยาบาล 70 คนมาแข่งกันทำพีฟอร์พี
    
          ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากที่เกิดข่าวเรื่องที่กระทรวง สธ.จะลดทอนแรงจูงใจและสื่อให้เห็นว่า โรงพยาบาลในเขตเมืองเช่นบางบัวทองเป็นเหมือนจำเลยสังคม จนต้องนำเหตุผลนี้มาปรับลด ตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ที่เคยเป็นเครื่องมือที่ดูดให้บุคลากรในสาขาขาดแคลนให้อยากมาทำงานมากขึ้น
    
          "น่าสงสารประชาชน ที่จะขาดแพทย์เฉพาะทางดูแลในพื้นที่ใกล้บ้าน เช่น คนพิการที่ยากจนแถบบริเวณอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ที่อาจต้องเสียชีวิต หรือพิการมากขึ้นเพราะ ไม่อาจเดินทางไปรักษาที่ รพ.เอกชนในเมืองได้ ท่านนายกฯ ไม่ห่วงและสงสารประชาชนในชนบทที่เป็นฐานเสียง เลือกตั้งท่านมาจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่จะต้องทนทุกข์ทรมานหรือเสียชีวิตเลยหรืออย่างไร ยิ่งตัดสินใจช้าชาวบ้านจะพิการและล้มตายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน" นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว 
    
          นพ.ธวัชชัย ยิ่งเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง จังหวัดตาก แพทย์ดีเด่นกองทุนกนกศักดิ์ พูนเกสร 2550 ให้สัมภาษณ์ผ่านเฟซบุ๊กชมรมแพทย์ชนบท มีข้อความช่วงหนึ่งระบุว่า ในเมื่อ สุขภาพมันต่างจากบริการและสินค้าปกติ ทำไมใช้วิธีการปกติแบบขายมากได้มากมาใช้กับบริการสาธารณะอย่างนี้ มันถูกต้องและเหมาะสมแล้วหรือ วิธีคิดอย่างนี้เหมือนพนักงานขายของเลย
    
          "ผมให้เงินเดือนประจำคุณแต่ไม่มากนะ คุณต้องทำยอดขายให้ได้เท่านี้คุณจะได้คอมมิชชั่นเท่านี้ ถ้าคุณทำยอดได้ไม่เข้าเป้า 6 เดือนติดต่อกันคงต้องให้คุณไปหางานใหม่ ไม่ว่าทางผู้ใหญ่คิดอย่างไร ผมถือว่าเป็นการดูถูกวิชาชีพทางสุขภาพเราอย่างรุนแรง ผมไม่คิดว่าจะถูกดูถูกขนาดนี้ ผมยอมรับได้ว่าถ้าบอกว่าไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ แต่ผมรับไม่ได้ถ้าบอกว่าขี้เกียจไม่รับผิดชอบ ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีน้ำใจ หมอชนบทลาออก เอกชนก็ไม่รับ คนเป็น รมต.ดูถูกดูแคลนอย่างมาก" นพ.ธวัชชัย กล่าว 
    
          นพ.ธวัช ชัย ระบุว่า เราอยากมีหมอที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ หรือหมอที่มีหัวใจทุนนิยม เราอยากได้ความภาคภูมิใจจากงานที่ทำ หรืออยากได้เงินจากทุกกิจกรรมที่มีคะแนน ระบบนี้จะแก้ไขความขาดแคลนหรือทำให้ยิ่งขาดแคลนบุคลากรในชนบท ในเมื่อขวัญและกำลังใจเราถูกบั่นทอน 
    
          "วิชาชีพจะกลายเป็นอาชีพ การดูแลผู้ป่วยก็เหมือนการทำยอดขาย ความเป็นธรรมคงห่างไกลออกไปทุกที ผมรู้สึกแย่นะที่ต้องมาเขียนเรื่องเหล่านี้ แต่ผมถือว่าเป็นสิ่งที่ผมต้องมาทบทวนตัวเองและทบทวนการทำงานของกระทรวง สาธารณสุข ว่าคิดอย่างไรกับผู้ปฏิบัติงานในชนบท" นพ.ธวัชชัย ระบุ 
    
          ด้าน น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ในต่างประเทศ การแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ใช้วิธีการกำหนดเพดานค่าตอบแทน และจำนวน รพ.เอกชน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสมองไหลอย่างเช่นที่ไทยกำลังประสบ แต่ นโยบายรัฐบาลชุดนี้กลับสนับสนุนการเติบโตของ รพ.เอกชน ให้มีการนำเรื่องสุขภาพมาซื้อขายในตลาดหุ้นได้ และส่งเสริมนโยบายเมดิคัลฮับ ให้เป็นโครงการที่นำรายได้เข้าประเทศ แต่ก็เป็นประโยชน์กับเฉพาะกับแพทย์พาณิชย์และธุรกิจ รพ.เอกชน ย่อมส่งผลต่อทำให้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่ห่างไกลรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับนโยบายพีฟอร์พี ซึ่งน่าจะเป็นตัวเร่งให้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่ห่างไกล เข้าสู่จุดวิกฤติเร็วขึ้นอีก
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Credit: http://health.kapook.com/view60064.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...